svasdssvasds

Micro PAW System ใช้”พลาสมา” สลายสารเคมีตกค้างผักผลไม้

Micro PAW System ใช้”พลาสมา” สลายสารเคมีตกค้างผักผลไม้

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

เครื่องต้นแบบ Micro PAW System สลายสารเคมีตกค้างผักผลไม้คือ ผลงานเด่นของอุทยานวิยาศาสตร์ภาคเหนือ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์(สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ผสานความร่วมมือศูนย์วิจัยเชิงธุรกิจด้านเทคโนโลยีพลาสมาสำหรับเกษตรและชีวภาพสำหรับภาคอุตสาหกรรม (Advanced Plasma Center for Food and Agriculture Industries) ภายใต้โครงการความร่วมมือการวิจัยระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีและประเทศไทย(Thai–Korean Research Collaboration Center : TKRCC) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องต้นแบบ Micro Bubble ด้วยพลาสมาเทคโนโลยีสำหรับการผลิตน้ำล้างผักและผลไม้ในครัวเรือน สร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจนวัตกรรม พร้อมยกระดับสินค้าพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยตามแผนนโยบายประเทศไทย4.0

[gallery columns="1" link="file" size="full" ids="341183,341184,341185"]

น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.สอว.เปิดเผยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ(NSP)ภายใต้การสนับสนุนโดย สอว.ได้ปั้นสตาร์ทอัพสายพันธุ์ใหม่จากเวที Research to Marketระดับภูมิภาค (R2M 2014) คือ นายนรพนธ์ วิเชียรสาร นักศึกษาระดับปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีความสนใจในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมากับผลิตผลทางการเกษตร โดยอุทยานวิทย์ ภาคเหนือ มีส่วนช่วยจุดประกายการเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ด้วยการสนับสนุนเข้าร่วมโครงการNorthern Innovative Startup Thailand (NIST) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจสตาร์ทอัพในเชิงลึก พร้อมทั้งสนับสนุนให้เสนอโครงการเพื่อรับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม(TED fund: Technology and Innovation-based Enterprise Development Fund) โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จากโครงการ “พลาสมากำจัดยาฆ่าแมลงสำหรับอุตสาหกรรมผลไม้ส่งออก”จนสำเร็จ

ขณะที่ นายนรพนธ์ วิเชียรสาร กล่าวว่า ตนได้รับคัดเลือกเข้ารับการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ประจำปี 2561 ทำให้มีโอกาสต่อยอดแนวคิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีพลาสมาร่วมกับศูนย์วิจัยเชิงธุรกิจด้านเทคโนโลยีพลาสมาสำหรับเกษตรและชีวภาพสำหรับภาคอุตสาหกรรม พัฒนาเครื่องต้นแบบ Micro PAW Systemด้วยการประยุกต์ใช้พลาสมาเทคโนโลยีและไมโคร-นาโนบับเบิ้ล สำหรับการสลายสารเคมีตกค้างด้วยน้ำล้างผักและผลไม้ในระดับครัวเรือน ซึ่งช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างทางการเกษตรและการปนเปื้อนจุลินทรีย์ในคะน้าและมะม่วงได้ 70-90% ภายในระยะเวลาเพียง 1-2นาที ผ่านมาตรฐานปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพทางโภชนาการ คุณสมบัติทางเคมีและทางกายภาพของผักและผลไม้โดยไม่ต้องล้างน้ำสะอาดตามอีกครั้ง รวมทั้งยังสามารถช่วยยืดอายุผลผลิตทางการเกษตรได้อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการลดสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ด้วยการใช้น้ำที่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่นๆ เช่น น้ำส้มสายชู ด่างทับทิม ผงฟู Electrolyzed Water หรือแม้กระทั่งโอโซน

“เครื่องต้นแบบ Micro PAW System เหมาะสำหรับกลุ่มผู้รักสุขภาพที่ต้องการบริโภคผักและผลไม้สดโดยปราศจากข้อกังวลเรื่องสารเคมีตกค้างและการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ก่อโรคอันจะส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเปรียบเทียบกับการใช้วิธีการล้างหรือแช่ผักผลไม้ที่คนส่วนใหญ่ใช้ในปัจจุบันด้วยน้ำส้มสายชูหรือด่างทับทิมที่สามารถลดปริมาณสารพิษตกค้างได้เพียง 20-40% เท่านั้น ซึ่งไม่ผ่านมาตรฐานข้อกำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRL) หรือแม้กระทั่งการใช้เทคโนโลยีโอโซนจะสามารถล้างสารพิษตกค้างให้ผ่านมาตรฐานข้างต้นได้ แต่ก็ยังพบผลกระทบอื่นๆ ในทางอ้อม ซึ่งส่งผลร้ายต่อเซลล์เนื้อเยื่อในปอดถูกทำลายได้” นายนรพนธ์ ระบุ

นายนรพนธ์ กล่าวอีกว่า ผลงานเครื่องต้นแบบ Micro PAW System ได้รับการผลักดันสู่เวทีการแข่งขันระดับประเทศจนได้รับรางวัลมากมาย อาทิเช่น รางวัลชนะเลิศ Startup Thailand League Award 2560 และรางวัลผู้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายในโครงการ GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ปี 2560 เป็นต้น โดยปัจจุบันตนได้จัดตั้งเป็น บริษัท พลาสเทค คอร์เปอเรชัน จำกัด โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถือกรรมสิทธิ์ผู้ผลิตเครื่องและตนเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ทั้งนี้ คาดว่ากลางปี 2562 เทคโนโลยีนี้จะสามารถช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างและการปนเปื้อนจุลินทรีย์ในพืชผลทางการเกษตรได้ถึง 100% และสามารถนำออกสู่เชิงพาณิชย์เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคกว่า 20 ล้านครัวเรือนในประเทศไทย ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของผู้บริโภคและยกระดับคุณภาพชีวิต โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้วางแผนการสนับสนุนเครื่องมือเพิ่มเติมสำหรับศูนย์วิจัยเชิงธุรกิจด้านเทคโนโลยีพลาสมาสำหรับเกษตรและชีวภาพสำหรับภาคอุตสาหกรรม ในปีงบประมาณ 2562 โดยคาดว่าจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาในผลิตผลทางการเกษตรอีกหลากหลายชนิด เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ประกอบการส่งออกผักและผลไม้เพื่อให้สามารถผ่านมาตรการป้องกันการนำเข้าผักและผลไม้สดระหว่างประเทศตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) รวมถึงร้านอาหารเพื่อสุขภาพ พร้อมทั้งสามารถขยายตลาดสู่ประเทศในอาเซียน ยุโรปและทั่วโลก