svasdssvasds

7 ข้อควรระวังเกี่ยวกับอาการติดมือถือ

7 ข้อควรระวังเกี่ยวกับอาการติดมือถือ

ก่อนอื่นเลย ขอถามว่าคุณกำลังอ่านบทความนี้จากมือถือหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ บทความเหมาะสมกับคุณมาก

มีสถิติระบุว่า คนไทยจำนวนทั้งสิ้น 51 ล้านคนใช้โซเชียลมีเดีย และ49 ล้านคนในนั้นใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมีเดียโดยเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน เท่ากับว่าใน 12 เดือนหรือ 1 ปี คุณใช้เวลา 1 เดือนครึ่งไปกับโซเชียลมีเดีย หากคุณกำลังตั้งคำถามกับตัวเองทุกครั้งที่คุณไถหน้าจอว่านี่คือสัญญาณของการติดมือถือจริงๆหรือ คำตอบมีอยู่ในตัวแล้ว โดยที่คุณไม่ต้องสงสัยอีกต่อไป

มีงานวิจัยที่ระบุว่า การใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไป มีผลต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีข้อเท็จจริง 7 ประการที่จะทำให้คุณตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงมีคำแนะนำง่ายๆที่จะทำให้คุณเลิกนิสัยเลื่อนหน้าจอไปมาอย่างเลื่อนลอยเสียที

หากคุณใช้เฟซบุ๊ก คุณคงรู้ว่ามีบททดสอบออนไลน์สนุกๆให้ทำอย่างต่อเนื่อง มีบททดสอบที่เกี่ยวกับการติดโทรศัพท์มือถือให้ทำด้วยเช่นกัน เป็นบททดสอบภาษาอังกฤษง่ายๆที่พัฒนาขึ้นเพื่อตรวจสอบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับโทรศัพท์มือถือมีปัญหาหรือไม่ แต่เตรียมใจไว้หน่อย เพราะนักวิจัยก็ออกมายอมรับเองว่า วิธีเดียวที่จะผ่านบททดสอบนี้โดยไม่มีปัญหา(คือการตอบคำถามว่า “ใช่” น้อยกว่า 5 ข้อใน 15 ข้อ) คือการไม่มีสมาร์ทโฟน ใช้เลย https://virtual-addiction.com/smartphone-compulsion-test/

นิสัยน่ารำคาญของเพื่อนคุณคือการเช็คสมาร์ทโฟนบ่อยๆในขณะที่กำลังคุยกับคุณอยู่   กิริยาเช่นนี้มีคำศัพท์ว่า ฟับบิ้ง (Phubbing - phone-snubbing) หมายถึงการแสดงความไม่สนใจคนที่อยู่ตรงหน้าด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือต่อหน้าคนนั้น แต่ในขณะที่คุณรำคาญใจอยู่นั้น คุณก็ต้องยอมรับว่าคุณคือคนหนึ่งที่ฟับบิ้งด้วยเช่นกัน

แอปพลิเคชันในโซเชียลมีเดียออกแบบมาเพื่อลวงให้คุณติดกับ ถ้าคุณพบตัวเองเอื้อมไปหยิบมือถืออย่างใจลอยบ้างไหม หรือเลื่อนหน้าจอโซเชียลมีเดียครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งๆที่เพิ่งอ่านไปไม่กี่นาทีมานี้เอง แต่อย่าโทษตัวเองเลยว่าช่างไร้พลังในการต่อต้านความอยากรู้อยากเห็น ความจริงก็คือ เกือบทุกแอปพลิเคชันในมือถือของคุณได้รับการออกแบบอย่างเฉลียวฉลาด เพื่อไปกระตุ้นสารเคมีในสมองให้เกิดพฤติกรรมการเสพติด ยกตัวอย่างเช่น โซเชียลมีเดียเกือบทุกระบบมีฟังก์ชั่นที่กระตุ้นให้ผู้ใช้เห็นแอคเคาท์ใหม่ๆเพื่อให้เกิดการกดไลค์มากขึ้น เป็นต้น

สมาร์ทโฟนและสล็อตแมชชีนมีอะไรบางอย่างที่เหมือนกัน ในขณะที่คุณเอื้อมมือไปหยิบโทรศัพท์มือถือ คุณจะรู้สึกได้ว่ามีประกายของความคาดหวังแทรกอยู่ด้วยทุกครั้ง คุณอาจหวังว่าจะมีข้อความใหม่จากหนุ่มที่ได้พบในงานเลี้ยง หรือมีข้อความเกี่ยวกับโปรเจคใหม่ที่รอคอย ความรู้สึกเช่นนี้เป็นความรู้สึกของการไม่อาจคาดเดาอะไรได้ และก่อให้เกิดพฤติกรรมเสพติด เสมือนหนึ่งตกเป็นเหยื่อของความรู้สึกที่ว่าอะไรบางอย่างที่ตื่นเต้นอาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ แท้จริงแล้ว มันคือความรู้สึกเดียวกันกับที่คุณรู้สึกขณะที่กำลังเล่นสล็อตแมชชีนนั่นเอง

มือถือของเราเปลี่ยนแปลงสมองของเราด้วย ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณเสียสมาธิง่าย หรือรู้สึกว่าความจำของคุณกลับแย่ลงอย่างรวดเร็วบ้างไหม คุณไม่ได้คิดไปเองหรอก การอ่านข้อความที่เป็นดิจิทัล ที่มีทั้งลิงค์และโฆษณาอยู่รวมกัน และยังต้องทั้งเลื่อนหน้าจอและกดปุ่ม ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้คุณเสียสมาธิได้ง่าย การเสียสมาธิเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องชั่วคราว แต่จริงๆแล้ว มันมีผลในระยะยาวด้วย เพราะการเสียสมาธิบ่อยๆเช่นนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมองในระยะยาว

แอปพลิเคชันกำลังขายสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดที่เรามี โซเชียลมีเดียอาจเป็นเรื่องที่สนุกสนาน แต่นักวิจัยชี้ให้เห็นว่า แอปพลิเคชันเราใช้อยู่เป็นมากกว่าแค่การแชร์รูปเซลฟี่ของเรา คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมแอปพลิเคชันและโซเชียลมีเดียถึงให้คุณใช้ฟรีๆ แท้จริงแล้ว เราไม่ใช่ลูกค้าที่แท้จริงของเขา แพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียก็ไม่ใช่สินค้า ลูกค้าของโซเชียลมีเดียคือนักโฆษณา และความสนใจของเราคือสินค้าที่ถูกนำมาขาย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆน้อยๆ เพราะความสนใจของเราเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดที่เรามี เมื่อเราตัดสินใจที่จะมุ่งความสนใจไปที่สิ่งใด นั่นหมายถึงเรากำลังตัดสินใจในวงกว้างว่าเราต้องการจะใช้ชีวิตของเราอย่างไร

มีเหตุผลดีๆที่นักประดิษฐ์เทคโนโลยีไม่ยอมให้ลูกใช้มือถือ เมื่อคุณเป็นพ่อแม่ที่รู้ว่า พฤติกรรมเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือในเชิงลบของคุณเองทำให้คุณรู้สึกแย่ แต่การเห็นพฤติกรรมเช่นเดียวกันนั้นส่งผลต่อลูกของคุณ กลับทำให้คุณยิ่งรู้สึกแย่ขึ้นไปอีก นี่อาจจะคือเหตุผลที่นักประดิษฐ์เทคโนโลยีดิจิทัลชั้นนำหลายคนเลือกที่จะปกป้องครอบครัวของตัวเองจากมือถือให้นานที่สุด สตีฟ จอบส์ไม่อนุญาตให้ลูกใช้ไอแพด บิลและเมลินด้า เกตส์ไม่อนุญาตให้ลูกใช้โทรศัพท์มือถือจนอายุ 14 ปี

อ่านแล้วรู้สึกขยาดมือถือขึ้นมาบ้างแล้วหรือยัง แต่อย่ากลัวไปเลย เพราะยังมีข่าวดีอยู่บ้าง เรายังมีโอกาสที่จะแก้ไขพฤติกรรมการติดมือถือของเรา และหาลักษณะการใช้งานมือถือที่ทำให้เรารู้สึกว่า เป็นการใช้งานที่มีประสิทธิภาพและเป็นเชิงบวก ไม่ใช่เชิงลบ

ขั้นตอนง่ายๆที่คุณอาจเริ่มทำได้เอง ได้แก่การยกเลิกระบบเตือนทั้งหมด จากนั้น ให้ดาวน์โหลด แอปพลิเคชันที่ใช้ตรวจสอบ ว่าในความเป็นจริงแล้ว คุณใช้เวลาจ้องมือถือนานแค่ไหน เป็นการเผชิญหน้ากับความจริงที่อาจจะโหดร้าย แต่ก็จะทำให้คุณสามารถประเมินข้อเท็จจริงได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ คุณยังอาจทำให้ห้องนอนของคุณปลอดมือถือ และซื้อนาฬิกาปลุกมาใช้ แทนที่จะต้องพึ่งพามือถือเท่านั้น การค่อยๆปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นนี้จะทำให้คุณรู้สึกว่ามือถืออาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของคุณเสมอไป