svasdssvasds

Line@ d-chat แชทบำบัดที่พร้อมฟังด้วยหัวใจ และฟังโดยไม่ตัดสิน

Line@ d-chat แชทบำบัดที่พร้อมฟังด้วยหัวใจ และฟังโดยไม่ตัดสิน

Line@ d-chat บริการการให้คำปรึกษาผ่านการให้บริการทางไลน์ โดยอาสาสมัครที่ผ่านการอบรม Peer Counseling การให้คำปรึกษาแบบเพื่อนช่วยเพื่อน

Line@ d-chat (ดีแชท) โดยเสถียรธรรมสถาน เป็นบริการการให้คำปรึกษาผ่านการให้บริการทางไลน์ เป็นการรวมตัวของกลุ่มอาสาสมัคร ครึ่งหนึ่งเป็นคนที่จบปริญญาโทหลักสูตรพุทธศาสนาที่สาวิกาสิกขาลัย โดย แม่ชี ศันสนีย์ เสถียรสุต

อุ๊-ช่อผกา วิริยานนท์ ผู้ประสานงานการบริการ เล่าว่า แม่ชีศันสนีย์บอกว่า เรียนจบแล้วให้รวมตัวกันทำประโยชน์ช่วยเหลือผู้คนอย่างไรได้บ้าง หลังจากนั้นก็มีอาสาสมัครกลุ่มอื่นเข้ามาร่วมงานกัน line@ d-chat จึงเหมาะกับทุกคนที่มีความทุกข์ แล้วรู้สึกได้เลยว่าการเก็บเอาไว้คนเดียวจะทำให้เราแย่ จึงอยากให้มานัดหมายเพื่อพูดคุย ระบายออกกับเรา โดยใช้การแชทผ่านไลน์

ความทุกข์เป็นสากล ไม่มีรูปแบบ ไม่มีเส้นแบ่งทั้งศาสนาและประเทศ เราจะไม่มีความถนัดเลยถ้าหากคนๆ นั้นมีอาการทางจิตเวชขั้นรุนแรง เพราะเราเป็นอาสาสมัครที่มีแค่พื้นฐานความเข้าใจด้านจิตใจ แต่ไม่มีพื้นฐานทางด้านการรักษา

จากสถิติที่ทาง d-chat เก็บไว้ในช่วงปีครึ่งที่เราเปิดให้บริการมา ราว 60-70 เปอร์เซ็นต์ เป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ คนที่เข้ามาขอคำปรึกษาถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้หญิง ฉะนั้นปัญหาที่เจอจะเป็น อันดับหนึ่งคือเรื่อง สามีนอกใจ รองลงมา คือ ความเครียดจากการทำงาน เศรษฐกิจเงินไม่พอใช้ ที่เหลือก็ยังคงเป็นเรื่องความสัมพันธ์

การบริการให้คำปรึกษา ไม่ได้ให้คำแนะนำ สิ่งที่ดีที่สุด คือ การรับฟัง แล้วไม่ตัดสินเขา แต่คนใกล้ชิดไม่พร้อมที่จะฟังหัวใจเขา คนใกล้ชิดจะฟังแค่ 3-4 นาที แล้วคิดเลยว่าถ้าเป็นฉันจะใช้วิธีนี้ แล้วยัดเยียดวิธีการของเราให้เขา ซึ่งมันไม่ใช่

ทางทฤษฎีการให้คำปรึกษาคือ ถ้าเราฟังเขาที่หัวใจเขา ฟังเขาโดยไม่ตัดสิน เราอดทนที่จะอยู่กับเขาอย่างสงบเย็น สภาวะแบบนี้แหละที่จะค่อยๆ ฉุดเขา กุญแจสำคัญคือ ฟังด้วยหัวใจ เพื่อให้เขามีสติ เมื่อเขามีสติแล้วเขาจะพบทางออกด้วยตัวของเขาเอง

Line@ d-chat แชทบำบัดที่พร้อมฟังด้วยหัวใจ และฟังโดยไม่ตัดสิน

การอบรม Peer Counseling (การให้คำปรึกษาแบบเพื่อนช่วยเพื่อน) เราไม่ใช่มืออาชีพ ไม่ใช่คนที่มีความรู้ด้านจิตวิทยา แต่เป็นการฝึกทักษะการฟังอย่างมีสติ ฟังด้วยหัวใจ ฟังอย่างไม่ตัดสิน ไม่ได้เป็นการบริการที่ดีที่สุด แต่เป็นบริการที่มีหัวใจแห่งการให้สูงสุด ตั้งแต่เปิดมาไม่เคยจ่ายค่าบริการเลยแม้แต่บาทเดียว ทุกคนเป็นจิตอาสาหมด

“เราไม่ได้ดีกว่ากรมสุขภาพจิต เราเป็นผู้ช่วยให้กับกรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตเปิดเผยตัวเลขคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ คือประมาณ 7 ล้านคน จิตแพทย์วันนี้มีกี่คน นักจิตวิทยามีกี่คน กรมสุขภาพจิตมีกี่สาย รับไม่ไหวหรอก เราต้องช่วยกัน“

ดีแชท นิยามแบบเห็นภาพ ก็เป็นดั่งพยาบาลห้องฉุกเฉิน เวลาคนมีความทุกข์มากๆ อยากจะวิ่งหาใครสักคน ถ้ามาทางฝั่งเรา เราก็จะช่วยล้างแผล เอาเชื้อโรคออกนิดหน่อย ดูอาการ ถ้าหายเองก็ส่งกลับบ้าน ถ้าไม่ดีส่งนักจิตวิทยา จิตแพทย์

อุ๊-ช่อผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเริ่มต้นในการทำแชทแทนที่การโทรคุย เพราะ ไม่มีเวลาในการโทร ทุกคนมีหน้าที่การงานหลักของตนเอง เราจึงเลือกแชทในการช่วยเหลือแล้วนัดเวลากัน

ปีครึ่งที่ผ่านมา พบว่า แชทดีกว่าการโทรศัพท์ เพราะการแชทมีจังหวะที่ต้องพิมพ์ ช่วงเวลานั้น ทั้งคนถามและคนตอบ เป็นช่วงเวลาที่ได้ใคร่ครวญตนเอง มันทำให้การให้คำปรึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น การดีเลย์ในการพิมพ์มันทำให้เรามีสติ และปัญญาก็เข้ามา คำตอบเลยโผล่เข้ามาได้

ความสำเร็จที่มองเห็นเป็นรูปธรรมเลย ก็คือ ผู้มารับคำปรึกษาผ่าน 45 นาทีไป เขาจะพูดว่า เบาขึ้นเลย ตอนมาหา หนูแย่มาก ตอนนี้หนูรู้แล้วว่าจะไปทำอะไรต่อ คำนี้คือความสำเร็จของงานเรา และเป็นกำลังใจให้คนทำ และเป็นโอกาสที่ให้คนที่มารับคำปรึกษาได้หลุดพ้นจากความทุกข์ในเบื้องต้น