svasdssvasds

วันโรคหืดโลก แนะ นวัตกรรม Asthma Care สังเกตอาการต่างจากโควิด 19 อย่างไร

วันโรคหืดโลก แนะ นวัตกรรม Asthma Care สังเกตอาการต่างจากโควิด 19 อย่างไร

วันหืดโลก ทำความรู้จักแอป Asthma Care ตัวช่วยในการดูแล และสังเกตอาหารผู้ป่วย ที่พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญชาวไทย มาดูว่ามีอาการคล้ายคลึงหรือต่างจากโควิด 19 อย่างไร

วันโรคหืดโลก หรือ World Asthma Day มีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2541 โดยองค์การอนามัยโลก และองค์การหืดโลก Global Initiative for Asthma จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันอังคารแรกของเดือนพฤษภาคม ของทุกปี และปีนี้ 2563 ตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม

วันโรคหืดโลก ปี 2563 นี้มาภายใต้แนวคิด Enough Asthma Death เพื่อลดการเสียชีวิตจากโรคหืด และเพื่อกระตุ้นให้บุคคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย รวมถึงครอบครัว ได้ตระหนักถึงความสำคัญ สร้างความตื่นตัว ทราบอาการของโรค การรักษา ป้องกัน เพื่อลดผลกระทบ และการเสียชีวิตจากโรคหืดได้

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Asthma Care ระบุว่า ผู้ที่เป็นโรคหืด จะมีอาการหอบ มักเริ่มต้นด้วย การไอในช่วงเวลากลางคืน แอป Asthma Care จะช่วยให้คนไข้สามารถสังเกตอาการ และดูแลตัวเองได้แม้ในยามฉุกเฉิน

แอปนี้มีแผนปฏิบัติการ Asthma Action Plan ซึ่งจะระบุวิธีสังเกตอาการ วิธีการพ่นยาด้วยตนเอง เบอร์โทรฉุกเฉิน ข้อแนะนำ ตั้งเวลาเตือน พร้อมมีวิดีโอประกอบให้ดูอีกด้วย โดยในแอปจะแบ่งเป็น

  • ระดับสีเขียว คือ ปกติ
  • ระดับสีเหลือง คือ เริ่มมีอาการแต่สามารถรักษาด้วยตัวเองได้
  • ระดับสีแดง คือ ฉุกเฉิน รักษาด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องมาโรงพยาบาล (ต้องพ่นยาระหว่างพามาโรงพยาบาล) พร้อมมีปุ่มโทรฉุกเฉินส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านอีกด้วย

วันโรคหืดโลก แนะ นวัตกรรม Asthma Care สังเกตอาการต่างจากโควิด 19 อย่างไร

Asthma Action Plan ในแอปพลิเคชัน Asthma Care จะช่วยให้คนไข้สามารถดูแล และสังเกตอาการตนเองที่บ้าน เป็นการลดความเสี่ยงมาโรงพยาบาล คนไข้โรคหืดมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่อ มีอาการหอบทุกวัน ซึ่งหมายถึงการรักษาตัวเองไม่ดีนั่นเอง

ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคหืดถึงราว 7,000 รายต่อปี โดยคิดเป็นเกือบ 8 รายต่อประชากร 1 แสนคน หรือราว 1.3 เปอร์เซ็นต์ ของคนที่เสียชีวิตทั้งหมด เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในคนไทยเป็นอันดับที่ 19

โรคที่คร่าชีวิตคนไทยอันดับที่ 1-3 คือ หลอดเลือดหัวใจ ไข้หวัดใหญ่/ปอดบวม และโรคหลอดเลือดสมอง ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลการเสียชีวิตจากโรคนี้ในระดับโลกแล้ว พบว่า ประเทศไทยจัดเป็นอันดับที่ 76 ของโลก และเป็นอันดับที่ 5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาการโรคหืดที่มีความคล้ายคลึงกับบางอาการของโควิด 19

  • มีอาการเหนื่อย หายใจเสียงดังหวีด แน่นหน้าอก มีอาการไอ เป็นๆ หายๆ ในช่วงเช้าหรือกลางคืน หรือเมื่อมีสิ่งกระตุ้น อาทิ ฝุ่นควัน อากาศเย็น ขนแมวหรือขนสุนัข การออกกำลังกาย หรือไม่
  • นอนไม่หลับหรือต้องตื่นขึ้นมาเนื่องจากไอ หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ที่ไม่ได้เกิดจากไข้หวัดหรือไม่
  • มีอาการหอบหืด หายใจหอบ หายใจเสียงดังวี้ดๆ หายใจไม่ทัน หายใจไม่เต็มอิ่ม ไอเป็นชุดๆ หรือไม่
  • เคยใช้ยาเพื่อระงับอาการหอบหืดหรือไม่

อาการของคนไข้โรคหืด จะมีอาการคล้ายกับโควิด 19 แต่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ในกรณีคนไข้โรคหืดมักมีอาการไออย่างเดียว มีน้ำมูกบ้างแต่ไม่มีไข้

อาการของคนไข้โรคโควิด 19 มีไข้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว และอาการบ่งชี้ที่สำคัญ คือ ไม่ได้กลิ่น และไม่สามารถสัมผัสรส

สามารถตรวจสอบว่าคนไข้โรคหืดเป็นโควิด 19 หรือไม่ โดยให้คนไข้ลองพ่นยาฉุกเฉิน ซึ่งหากเป็นเพียงโรคหืดจะต้องหายจากอาการนั้น แต่หากไม่หาย แนะนำให้ตรวจหาเชื้อโควิด 19

วันโรคหืดโลก แนะ นวัตกรรม Asthma Care สังเกตอาการต่างจากโควิด 19 อย่างไร

ศ.พญ.อรพรรณ กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตในไทยตกปีละ 7,000 คน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เพราะว่าโรคนี้สามารถรักษาได้ หายได้ ถ้ารักษาเร็ว มีโอกาสหายได้สูง ซึ่งแต่เดิมผู้ป่วยมักจะเข้าใจว่า โรคหืดเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ทำให้ขาดการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ

การรักษาอาการ คนไข้จะต้องมียาติดตัว 2 ประเภท คือ

1. ยาควบคุม ถ้าใช้ในระยะยาวสามารถรักษาอาการของโรคให้หายได้

2. ยาฉุกเฉิน ที่เป็นยาขยายหลอดลม ต้องพกติดตัวตลอดถึงแม้จะไม่มีอาการ เพราะอาจเกิดอาการหอบกำเริบเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งคนไข้ที่เสียชีวิตเป็นเพราะ ไม่ได้พกยาฉุกเฉิน ทำให้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ หรืออีกกรณีคือยาหมดอายุ ซึ่งทั่วไปมีอายุเฉลี่ย 2 ปี เป็นหนึ่งในต้นเหตุของการเสียชีวิตจากโรคนี้ ส่วนอีกหนึ่งความเสี่ยงของการเสียชีวิต คือ ปัจจัยด้านอายุ

โดยทั่วไปอัตราการเสียชีวิตในผู้ใหญ่จะมากกว่าเด็กประมาณ 5 เท่า ขณะที่ยิ่งรักษาไว ก็ยิ่งหายได้ไวโดยเฉพาะในเด็ก มีโอกาสหายเกิน 50 เปอร์เซ็นต์

แต่กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือคนไข้ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เพราะการพ่นยาทำได้ยากกว่า อาการรุนแรงกว่า และหลายคนชินกับอาการหอบโดยที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคหืด

จากการศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสม นอกจากหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหอบได้ง่าย เช่น บุหรี่ ไรฝุ่น ฝุ่นละออง มลพิษ ความเครียด ปัจจุบันได้ประยุกต์ใช้ทฤษฎี 4Es ที่คิดค้นขึ้นมา โดยให้คนไข้หันมาใส่ใจดูแลตนเอง

1. ต้องออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (Exercise)

2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์(Eating)

3. สิ่งแวดล้อม (Environment) คนไข้โรคหืดจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ

4. อารมณ์ความรู้สึก (Emotion) ในภาวะที่คนไข้เครียด ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน จะทำให้โรคกำเริบขึ้นมาได้

ผลจากการนำทฤษฎี 4Es ไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการของโรคหืดได้จริง ลดความสูญเสียที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้

ปัจจุบันทางสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ได้ออกข้อแนะนำการปฏิบัติ 5 ประการในสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 อ้างอิงตามองค์การหืดโลก ดังนี้

1. ห้ามหยุดยา-ลดยา และต้องพ่นยาอย่างสม่ำเสมอ เพราะเสี่ยงหอบกำเริบได้ โดยลดการมาโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด

2. หลีกเลี่ยงยาพ่นประเภทฝอยละออง หรือ Nebulization เนื่องจากมีโอกาสที่ผู้ป่วยโรคหืดที่ติดเชื้อโควิด 19 อาจจะแพร่กระจายเชื้อได้ แนะนำให้ใช้ยาพ่น MDI with spacers แทน

วันโรคหืดโลก แนะ นวัตกรรม Asthma Care สังเกตอาการต่างจากโควิด 19 อย่างไร

นอกจากนี้ยังริเริ่มโครงการ “หยุดหอบ ป้องกัน Covid-19 ด้วย Thai Kit Spacer” โดยแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ 500 ถึง 600 แห่ง และยังร่วมมือกับสถาบันพลาสติกฯ ทำนวัตกรรม Spacers พ่นยาขณะใส่เครื่องช่วยหายใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องพ่นยารักษาโรคหืดควบคู่ด้วย หรือสามารถทำ DIY Spacers ใช้เองด้วยงบประมาณ 30-40 บาท ดูได้ทางเพจ Asthma Talks by Dr.Ann

วันโรคหืดโลก แนะ นวัตกรรม Asthma Care สังเกตอาการต่างจากโควิด 19 อย่างไร

3. คนไข้ต้องเข้าใจ และมีแผนปฎิบัติการดูแลในยามฉุกเฉิน (Asthma Action Plan) เพื่อรู้วิธีการปฏิบัติตัว และสังเกตอาการ โดยปกติสูตรการพ่นยาฉุกเฉิน ทุก 15 นาที x 3 ครั้ง ถ้าดีขึ้นให้พ่นห่าง 6-8 ชั่วโมง จนดีขึ้นแล้วจึง 2-3 วัน ซึ่งคนไข้หลายคนจำผิด หรือจำไม่ได้ว่าจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร

4. หลีกเลี่ยงการทำหัตถการเป่าปอด ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ แม้ว่าจะพบคนไข้ติดเชื้อโควิด 19 ไม่มากก็ตาม

5. การดูแลคนไข้ผ่าน Telemedicine โรคหืดสามารถที่จะตรวจดูอาการ และรักษาผ่านทางไกลได้ โดยส่งยาไปที่บ้านหรือรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน

วันโรคหืดโลก แนะ นวัตกรรม Asthma Care สังเกตอาการต่างจากโควิด 19 อย่างไร

รศ.นพ.ธีระศักดิ์ แก้วอมตวงศ์ เลขาธิการสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวย้ำว่า การที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคหืด เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียง Enough Asthma Death แต่ต้องเป็น Zero Asthma Death เพราะโรคหืดสามารถรักษาได้ ถ้าผู้ป่วยดูแลตัวเองอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ถึงแม้ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคจะมาจากพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งคนไทยสามารถเข้าถึงยารักษาโรคหืดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีสิทธิ์การเข้าถึงยาตามระบบการรักษาโรค เช่น หลักประกันสุขภาพ ฯลฯ ความสำคัญจึงอยู่ที่การบริหารการใช้ยา และความรู้ความเข้าใจโรคหืดของคนไข้เอง

20 ปีที่ผ่านมา ไทยเราพัฒนาแนวทางรักษาโรคหอบหืดที่ไม่ได้ใช้ยาพ่น อาทิ ยาฉีด ยาอมใต้ลิ้น การผ่าตัด ฯลฯ จากที่สมัยก่อนการปรับยาขึ้นอยู่กับแพทย์ แต่ปัจจุบันขึ้นกับอาการผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการรักษา ดังนั้นการดูแลตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ข้อมูลทางระบาดวิทยา พบว่า หืดและภูมิแพ้ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด 19 แต่ลักษณะอาการของหืดกำเริบ และปอดติดเชื้อจากโควิด 19 อาจคล้ายกัน ซึ่งการจำแนกกลุ่มอาการของโรคจะอาศัยการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพในอนาคต

วันโรคหืดโลก แนะ นวัตกรรม Asthma Care สังเกตอาการต่างจากโควิด 19 อย่างไร

บุคลากรทางแพทย์ที่ดูแลรักษาคนไข้โรคหืด ได้จัดทำแคมเปญ #AdayinAlifeChallenge เพื่อส่งต่อความห่วงใยของบุคคลากรทางการแพทย์ที่มีต่อผู้ป่วยทุกคน และเป็นการ Challenge ไปยังบุคลากรทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 5 พฤษภาคมนี้ เพื่อคัดเลือก และมอบ spacer ให้กับโรงพยาบาลที่เข้าร่วม และชวนบุคคลทั่วไปรับคำท้าเพื่อส่งต่อความห่วงใยไปยังผู้ป่วยโรคหืดเนื่องในวันโรคหืดสากล (World Asthma Day)

และขอย้ำว่า โรคหืด แม้จะเรื้อรัง แต่รักษาหายได้ สิ่งที่จะทำให้หายหรือไม่ ไม่ใช่คุณหมอ แต่อยู่ที่ตัวคนไข้ และครอบครัว มาร่วมหยุดการเสียชีวิตจากโรคหืด เนื่องในวันโรคหืดสากล #WorldAsthmaDay2020 ไปด้วยกัน