svasdssvasds

ประเมินสุขภาพจิต หลังคลายมาตรการ พบระดับความเครียดลดลง

ประเมินสุขภาพจิต หลังคลายมาตรการ พบระดับความเครียดลดลง

กรมสุขภาพจิต ประเมินสุขภาพจิต และแนะแนวทางการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์โควิด 19 ชี้การดำเนินงานเชิงรุกด้านสุขภาพจิต จะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญหลังจากนี้

ประเมินสุขภาพจิต หลังล็อกดาวน์

กรมสุขภาพจิตได้ ประเมินสุขภาพจิต คนไทยหลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ พบว่า ระดับความเครียดลดลง แต่ยังคงต้องฟื้นฟูจิตใจเชิงรุก ส่งเสริมและป้องกัน อันเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสุขให้ประชาชนบนฐาน วิถีชีวิตใหม่ ของคนในสังคม

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงผลเชิงบวกจากการเริ่มมีการผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2109 (COVID-19) เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงว่า ทำให้ระดับความเครียดของบุคลากรทางสาธารณสุขและประชาชนจะมีแนวโน้มที่ลดลงในระยะนี้

”ปัญหาด้านสุขภาพจิตจะยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาว การดำเนินงานด้านสุขภาพจิตอย่างเข้มข้น และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในงานส่งเสริมและป้องกันด้านสุขภาพจิต จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสุขให้ประชาชนบนฐาน วิถีชีวิตใหม่ ของคนในสังคม“

สถานการณ์ผลการประเมินระดับความเครียดของบุคลากรทางสาธารณสุข และประชาชนครั้งที่ 4 (27 เมษายน-3 พฤษภาคม) พบว่า มีแนวโน้มที่ลดลง เมื่อเทียบกับการสำรวจในช่วงการระบาดระยะแรก ซึ่งอาจเป็นผลจากการเริ่มมีการผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการ ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2109 (COVID-19)

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานเชิงรุกด้านสุขภาพจิตมากขึ้นในแต่ละพื้นที่ แต่ทั้งนี้ยังมีความจำเป็นในการใช้ แนวทางการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 (Combat 4th Wave of COVID-19 : C4) ที่กรมสุขภาพจิตได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

วัคซีนใจ

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบสุขภาพจิต ได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้กักกันและผู้ติดเชื้อ COVID-19, บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน COVID-19, กลุ่มเปราะบางต่อปัญหาสุขภาพจิต, ประชาชนทั่วไปและชุมชน

กลุ่มที่ต้องมีการเน้นการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตหรือผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วยบุคลากรสาธารณสุข ผู้เกี่ยวข้องกับ COVID-19 กลุ่มผู้ป่วย NCD เรื้อรัง และกลุ่มติดสุรา-ยาเสพติด

ภายใต้กรอบแนวทางการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นี้ ได้ใช้กลไกการเสริมสร้างพลังด้วยวัคซีนใจในระดับต่างๆ ได้แก่

วัคซีนใจในระดับบุคคล จะเน้นในเรื่องของ การส่งเสริม การป้องกัน การรักษาและการฟื้นฟู

วัคซีนใจในระดับครอบครัว จะเน้นในเรื่อง 3 พลัง ได้แก่

  • พลังบวก โดยการมองสถานการณ์ให้เป็นในเชิงบวก เพื่อพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น
  • พลังยืดหยุ่น เป็นบทบาทที่จะสามารถสร้างการปรับตัว และทำหน้าที่ทดแทน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
  • พลังร่วมมือ เพื่อเป็นพลังในการสร้างความปรองดอง และก้าวผ่านวิกฤตไปได้

วัคซีนใจในชุมชน โดยสร้างชุมชนที่รู้สึกปลอดภัย สร้างชุมชนทีมีความหวัง สร้างชุมชนที่รู้สึกสงบ สร้างชุมชนที่เข้าใจและโอกาส ใช้ศักยภาพของชุมชน พัฒนาเครือข่ายในการช่วยเหลือสื่อสาร และใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหา รวมถึงใช้สายสัมพันธ์ในชุมชนเพื่อกำหนดเป้าหมาย ไว้ใจ ให้กำลังใจ และส่งต่อเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันในสังคม

การเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย

ในช่วงปี พ.ศ. 2562-2563 พบว่า 5 ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทย ได้แก่ ปัจจัยด้านความสัมพันธ์ สุรา และการป่วยกายจิต ได้มีแนวโน้มลดลง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยปัญหาสุราที่มีการลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน สำหรับปัจจัยปัญหาเศรษฐกิจนั้นยังคงเป็นปัจจัยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563

ด้านของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายจากระบบรายงานการเฝ้าระวังการทำร้ายตนเองของกรมสุขภาพจิต (รง506s ) พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากฆ่าตัวตายยังคงมีค่าใกล้เคียงกับในช่วงปีที่ผ่านมา ประมาณ 2.1 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน

อธิบายได้ว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจแม้จะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันปัญหาความสัมพันธ์ และการดื่มสุราที่นำมาสู่การฆ่าตัวตาย กลับมีแนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ตาม Universal Intervention เช่น มาตรการทางสังคมเศรษฐกิจ และ Selective Intervention การป้องกันการกลับมาทำร้ายตัวเองซ้ำ ยังคงเป็นมาตรการที่สำคัญต่อการช่วยลดระดับความรุนแรงของอัตราการฆ่าตัวไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวทิ้งท้ายว่า หากประชาชนรู้สึกเครียด หมดไฟ เบื่อหน่าย ท้อแท้ หรืออยากทำร้ายตัวเอง ควรรีบปรึกษาคนใกล้ชิดหรือผู้เชี่ยวชาญ และยังสามารถใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง