svasdssvasds

โรคความดันโลหิตสูง กับปัญหาความเข้าใจผิดในผู้สูงอายุ

โรคความดันโลหิตสูง กับปัญหาความเข้าใจผิดในผู้สูงอายุ

กรมการแพทย์ ชี้ว่า มีหลายความเชื่อเกี่ยวกับ โรคความดันโลหิตสูง ที่ผู้สูงอายุยังคงเข้าใจผิดอยู่ แนะวิธีการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ

โรคความดันโลหิตสูง กับความเข้าใจผิด

โรคความดันโลหิตสูง ปัญหาที่ผู้สูงอายุมักเข้าใจผิด เช่น เมื่อไม่มีอาการผิดปกติแสดงว่าควบคุมโรคได้ดี หรือ ไม่ควรรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานานเนื่องจากจะทำให้ตับและไตเสื่อม เหล่านี้เป็นความเชื่อที่ผิดทั้งสิ้น

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า โรคนี้ในผู้สูงอายุ ร้อยละ 95 จะตรวจไม่พบสาเหตุ แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงคือ ความอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มสุรา รับประทานอาหารเค็ม ไม่ออกกำลังกาย หรือบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 5 มีสาเหตุจากโรคอื่นๆ เช่น โรคไต โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบประสาท การได้รับสารเคมีหรือยาบางชนิด

โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่ค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (ค่าตัวบน) มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว (ค่าตัวล่าง) มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการผิดปกติ แต่ก็ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ในระยะยาว เช่น ไตเสื่อม โรคหัวใจ และ โรคหลอดเลือดสมอง

อาการเบื้องต้นของโรคความดันโลหิตสูงที่พบบ่อย เช่น อาการปวดมึนศีรษะ มักปวดตื้อบริเวณท้ายทอยช่วงเช้าหลังตื่นนอน ถ้าความดันโลหิตสูงรุนแรง อาจมีอาการ ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ตามัว เหนื่อยง่าย และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวถึง วิธีการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ ดังนี้

1. รักษาด้วยการไม่ใช้ยา โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร งดอาหารรสเค็ม รับประทานผัก ผลไม้ ดื่มน้ำให้พอเพียง และบริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำ ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ และงดดื่มแอลกอฮอล์ ฝึกสมาธิ ไม่เครียด ทำจิตใจให้ผ่องใส นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ แต่หากความดันโลหิตยังคงสูงอยู่ ถึงจะใช้วิธีการรักษาด้วยยา

2. รักษาด้วยการใช้ยา ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยา หรือปรับยาด้วยตนเอง และยาลดความดันโลหิตจัดเป็นกลุ่มยาที่มีความปลอดภัยสูง สามารถใช้ต่อเนื่องได้เป็นเวลานาน หรือตลอดชีวิต ผู้ป่วยจึงไม่ควรกลัวการรับประทานยาต่อเนื่อง

ผู้ป่วยหลายรายเข้าใจผิดว่าการกินยาต่อเนื่องจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ทำให้ตับหรือไตเสื่อม จึงหยุดยาเองเมื่อไม่มีอาการผิดปกติ โดยไม่รู้ตัวว่ามีความดันโลหิตสูงหลังหยุดยาเนื่องจากไม่มีอาการผิดปกติ ทำให้มารู้ตัวอีกทีจนกระทั่งเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจวาย ไตวาย ผู้ป่วยจึงไม่ควรหยุดยาเอง ยกเว้นเมื่อรับประทานยาแล้วมีความดันโลหิตต่ำ อาการมึนงง หน้ามืด โดยเฉพาะเวลาลุกขึ้นนั่งหรือยืน ควรหยุดยาแล้วไปพบแพทย์ทันที

โรคความดันโลหิตสูง