svasdssvasds

ทำความรู้จักกับ โรคจิตเภท โรคที่สามารถรักษาให้หายได้

ทำความรู้จักกับ โรคจิตเภท โรคที่สามารถรักษาให้หายได้

Schizophrenia หรือ โรคจิตเภท สามารถรักษาหายได้ ด้วยการใช้ยา ฟื้นฟูสภาพจิตใจ และสังคมด้วยการทำจิตบำบัด รวมถึงรักษาด้วยไฟฟ้าซึ่งใช้ในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

วันโรคจิตเภทโลก ตรงกับวันที่ 24 พฤษภาคม โรคจิตเภท หรือ SCHIZOPHRENIA นี้ แท้จริงแล้วสามารถรักษาให้หายได้ เรามาทำความรู้จักกับอาการ และวิธีรักษากัน

ทำความรู้จักกับ โรคจิตเภท

โรคจิตเภท เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางความคิด บุคลิกภาพ มีความผิดปกติด้านการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ที่มีลักษณะเฉพาะเป็นแบบจำเพาะ และอารมณ์เป็นแบบไม่เหมาะสม หรือ Blunted สติสัมปชัญญะ เชาวน์ปัญญามักดีอยู่ แม้ว่าจะมีการสูญเสียการรับรู้ ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การดูแลตัวเอง การใช้ชีวิตในสังคม

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เริ่มมีอาการเมื่ออายุประมาณ 14-16 ปี ซึ่งโรคนี้พบได้ประมาณ ร้อยละ 1 ของประชากร โรคนี้มีอาการโดดเด่น 4 อย่าง ได้แก่ หลงผิด ประสาทหลอน พูดคุยไม่รู้เรื่อง หรือมีพฤติกรรมท่าทางแปลกๆ แต่งกายไม่เหมาะสม แต่อาการเหล่านี้สามารถรักษาให้หายได้ หากพบแพทย์เร็วและได้รับการดูแลฟื้นฟูที่ถูกต้องและเหมาะสม

ลักษณะอาการ

ความคิด ความหลงผิด หรือ Delusion ที่พบบ่อย เช่น คิดว่ามีคนปองร้าย คิดว่าตนเองถูกควบคุมจากอำนาจภายนอก คิดว่าตนเองยิ่งใหญ่ มีอำนาจหรือ ความสามารถพิเศษ

การรับรู้ อาการประสาทหลอน ทางด้านต่างๆ ที่พบบ่อย คือ หูแว่ว ได้ยินเสียงคนพูดว่า หรือให้ทำตาม หรือไม่มีความหมาย

การสื่อสาร พูดสับสน ไม่ปะติดปะต่อ เปลี่ยนเรื่องพูดเร็ว ไม่เชื่อมโยง หรือบางรายพูดน้อย ไม่ค่อยตอบคำถาม

พฤติกรรม ผิดจากเดิมเคยเป็น เช่น สกปรก วุ่นวาย ตะโกน โดยไม่มีอะไรกระตุ้น พลุ่งพล่าน กระวนกระวาย บางรายขาดความกระตือรือร้น เฉื่อยชา เก็บตัว นั่งเฉยๆ นานๆ ไม่สนุกสนาน

อารมณ์ แสดงอารมณ์ลดลงมาก หน้าตาเฉยเมย ไม่สบตา

การรักษา

  • พบจิตแพทย์เข้ากระบวนการบำบัด โดยใช้ยา เพื่อปรับสารเคมีในสมองควบคุมอาการและลดการกำเริบซ้ำของโรค และการบำบัดตามความเหมาะสม อาจนอนโรงพยาบาลหรือไม่ แล้วแต่อาการผู้ป่วย
  • ฟื้นฟูสภาพจิตใจ โดยฝึกการเข้าสังคม และให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยเข้าใจโรค และการดูแลตนเอง
  • จิตบำบัด โดยผู้เชี่ยวชาญพูดคุย แลกเปลี่ยนกับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจโรคของตนเองและปัญหาของตนเองมากขึ้น
  • กลุ่มบำบัด เป็นการจัดกิจกรรมกลุ่มระหว่างผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยมีเพื่อนคอยสนับสนุน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน มีความเข้าใจสาเหตุของโรค การดำเนินโรค การดูแลรักษาตนเอง ผลของการรักษาต่างๆ
  • ครอบครัวบำบัด ผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้เรื่องโรคและสิ่งที่ญาติควรปฏิบัติต่อผู้ป่วย โดยทำได้ทั้งในรูปแบบเดี่ยวและเป็นกลุ่มครอบครัวบำบัด

การดูแลที่เหมาะสมต่อผู้ป่วย ควรดูแลแบบไหน

  • ญาติใกล้ มีญาติคอยดูแล ใช้ครอบครัวบำบัด พร้อมพูดคุยแบ่งปันความรู้สึกแก่กันได้ และสังเกตอาการเตือนของผู้ป่วยก่อนนำเข้าพบแพทย์
  • การให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น ควรให้ผู้ป่วยได้กินยาอย่างต่อเนื่อง
  • มาตามนัด ให้ผู้ป่วยมารักษาอาการตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง ไม่ขาดนัด
  • ขจัดยาเสพติด หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดทุกชนิด ทั้งสุราและยาเสพติด

แม้ว่าธรรมชาติของโรคจิตเภทส่วนใหญ่จะเป็นแบบเรื้อรัง แต่หากสามารถดูแลให้ผู้ป่วยได้ปฏิบัติตามวิธีการเหล่านี้ จะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น ไม่มีอาการกำเริบ มีโอกาสหายสูง รวมถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย

โรคจิตเภท โรคจิตเภท

ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต และ ศูนย์พัฒนาชีวิตผู้ป่วยจิตเวช บ้านสวนสายใย-ก้อนแก้ว