svasdssvasds

กรณี พี่เตี้ย มช. การกระทำรุนแรงต่อสัตว์ บ่งบอกสภาพจิตใจที่ไม่ปกติของผู้กระทำ

กรณี พี่เตี้ย มช. การกระทำรุนแรงต่อสัตว์ บ่งบอกสภาพจิตใจที่ไม่ปกติของผู้กระทำ

สืบเนื่องจากข่าว พี่เตี้ย มช. มีผลกระทบกระเทือนจิตใจคนรักสัตว์อย่างยิ่ง การกระทำการรุนแรงต่อสัตว์ บ่งบอกถึงสภาพจิตใจที่ไม่ปกติของผู้กระทำ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายด้าน

กรณี พี่เตี้ย มช. สร้างผลกระทบกับจิตใจของคนรักสัตว์เป็นอย่างยิ่ง พญ.พรทิพย์ ศรีโสภิต จิตแพทย์โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้กล่าวถึงประเด็นการกระทำการรุนแรงต่อสัตว์ บ่งบอกถึงสภาพจิตใจที่ไม่ปกติ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายด้านด้วยกัน

การคาดการณ์ถึงสภาพจิตใจของผู้กระทำการรุนแรงต่อสัตว์

​​หากการกระทำต่อสัตว์เป็นการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ในมุมมองทางจิตวิทยา คาดว่า สภาพจิตใจของผู้นั้นไม่เหมือนสภาพจิตใจของคนทั่วไป ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในด้วย

ปัจจัยภายนอก เช่น อาจเป็นผลมาจากการใช้สารเสพติด และมีพฤติกรรมรุนแรง

ปัจจัยภายใน เช่น สภาพจิตใจที่มาจากประสบการณ์ในอดีต อาจเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อสัตว์ หรืออาจมีโรคทางจิตเวช

สภาพจิตหลังกระทำไปแล้ว ทราบหรือไม่ว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด และการสำนึกผิด เสียใจ หลังการกระทำ

พญ.พรทิพย์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสาเหตุและปัจจัยของแต่ละคน เช่น หากการกระทำรุนแรงต่อสัตว์นั้น เป็นการกระทำที่อยู่ภายใต้เครื่องดื่มหรือสารเสพติดที่ทำให้ขาดสติ เมื่อฤทธิ์ของสารนั้นหมดไป ผู้นั้นก็อาจจะรู้สึกผิดกับการกระทำนั้นได้

หากบุคคลนั้นมีโรคทางจิตเวช ที่เป็นลักษณะของบุคลิกภาพที่ต่อต้านสังคม คนผู้นั้นก็อาจไม่รู้ ว่าสิ่งที่กระทำไปนั้นเกินกว่าเหตุหรือไม่ ดังนั้น การเสียใจ การสำนึกผิดหลังการกระทำจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุของแต่ละคน

สังคม ผู้เสพสื่อ ผู้ที่รักสัตว์ สะเทือนใจกับข่าวเช่นนี้ ควรดูแลจิตใจอย่างไร

ข่าวสะเทือนใจนั้นส่งผลต่อจิตใจ ทำให้สังคม ผู้เสพสื่อ หรือผู้ที่รักสัตว์ ได้รับผลกระทบทางจิตใจที่อาจส่งผลหลายอย่าง

  • ​​ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ได้แก่ รู้สึกโกรธ เศร้า เสียใจ หดหู่
  • ส่งต่อความคิด เช่น คิดเคียดแค้น คิดโทษตัวเองที่ไม่สามารถทำอะไรได้กับเรื่องนี้ ความคิดว่าตนต้องรับผิดชอบต่อสังคม
  • ส่งผลต่อร่างกาย เช่น อาจเกิดความเครียดหมกมุ่นจนทำให้นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ เป็นต้น
  • ส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น ไม่มีสมาธิ วอกแวก เป็นต้น

สิ่งที่กล่าวข้างต้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่เสพข่าวสารความรุนแรง ไม่ใช่เพียง กรณีของ พี่เตี้ย มช. เพียงเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงข่าวความรุนแรงอื่นๆ ด้วย เมื่อเราทราบว่าได้รับผลกระทบทางจิตใจ ก็จะสามารถดูแลจิตใจตนเองได้

​วิธีการดูแลใจหรือรับมือกับสิ่งสะเทือนใจที่เกิดขึ้น

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกได้ว่า ตนเองนั้นหมกมุ่นอยู่กับอารมณ์ และความคิดด้านลบ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้

อาการบ่งชี้ที่ทำให้เรารู้ว่า กำลังยึดติด หมกมุ่นอยู่กับความคิดด้านลบ อาทิเช่น รู้สึกเครียด มีอาการทางกายบ่งบอก อย่าง นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ

เมื่อรู้สึกตัว พญ.พรทิพย์แนะว่าควรหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลาย เป็นวิธีที่จะช่วยให้ลดการหมกมุ่นและอยู่กับความคิดด้านลบได้ดี

รวมถึงควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่ทำให้เกิดการสะเทือนใจขึ้น เช่น ลดการเสพข่าว หรือเสพสื่อต่างๆ ลงในช่วงนี้ เพราะจะกระทบต่อจิตใจได้ เป็นต้น

ข้อมูลจาก พญ.พรทิพย์ ศรีโสภิต จิตแพทย์โรงพยาบาลพระรามเก้า

พญ.พรทิพย์ จิตแพทย์โรงพยาบาลพระรามเก้า