svasdssvasds

พฤติกรรม เด็กเปลี่ยนไป เกรี้ยวกราด ร้องไห้หนัก อาจเป็นเพราะเขากำลังเศร้า

พฤติกรรม เด็กเปลี่ยนไป เกรี้ยวกราด ร้องไห้หนัก อาจเป็นเพราะเขากำลังเศร้า

โควิด 19 สร้างความเปลี่ยนให้กับชีวิตคนทั่วโลก ทุกสาขาอาชีพ ทุกกลุ่มอายุ ทุกสังคม แต่เด็กๆ อาจมีวิธีการรับมือที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ความเคียดหรือความเศร้า อาจทำให้เด็กเปลี่ยนไป มี พฤติกรรม ไม่เหมาะสม

ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ คริสโตเฟอร์ วิลลาร์ด กล่าวถึงเด็กๆ ถึงสาเหตุของ พฤติกรรม ที่อาจเปลี่ยนไป มีความงอแง เกรี้ยวกราด โมโหง่าย โวยวาย รุนแรง เหล่านี้เพราะสถานการณ์ระบาดทำให้ทุกคนต้องเว้นระยะห่าง โรงเรียนต้องปิด ทำให้เด็กๆ ก็รู้สึกเศร้าได้ เมื่อคิดถึงเพื่อน คิดถึงกิจวัตรประจำวัน และสิ่งที่คาดการณ์ได้

เด็กๆ มีความรู้สึกเหมือนที่ผู้ใหญ่มีในช่วงที่โควิด 19 กำลังระบาด แต่เด็กอาจมีการแสดงออกอารมณ์ด้วยวิธีที่แตกต่าง บางคนร้องไห้ บางคนเกรี้ยวกราด บางคนกลายเป็นชอบทะเลาะ ชอบลงไม้ลงมื้อกับพี่น้อง หรือบางคนก็ตัดผมตัวเองเสียดื้อๆ

ผู้ปกครองมีส่วนอย่างมากที่จะช่วยให้เด็กๆ ผ่านเวลาที่ยากลำบากเหล่านี้ไปด้ และจะดีมากถ้าได้คำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญกับเด็กโดยตรง

หาต้นตอของความประพฤติที่ไม่ดี

วิลลาร์ดกล่าวว่า แม้แต่คนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปกครองที่ดี ก็ยังมีปัญหากับการทำงานจากบ้านและพยายามที่จะรักษาตารางเวลาให้เป็นปกติ พร้อมทั้งจัดเตรียมอาหาร 3 มื้อ พยายามให้เด็กๆ ได้ออกกำลังกายเพียงพอ และรักษากิจวัตรเข้านอน

“นี่เป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก และจะกระทบสุขภาพจิต กระทบการควบคุมแรงจูงใจ และความสามารถในการควบคุมอารมณ์” วิลลาร์ดอธิบาย

พัฒนาการของเด็กอาจถอยหลัง กลับไปทำอะไรไม่เหมาะสมแบบที่เคยทำในอดีต เพราะสิ่งเหล่านั้นที่เขาคุ้นเคยทำให้เขารู้สึก “ปลอดภัย” เด็กๆ ไม่ได้รับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อนที่จะทำให้เขาเรียนรู้ว่าความเกรี้ยวกราดไม่ใช่เรื่องดี ซึ่งนั่นคือความกดดันทางบวกจากเพื่อนที่หายไป

นักจิตวิทยาวัยรุ่น แมรี่ อัลวอร์ด ระบุว่า ถ้าพฤติกรรมของเด็กไปในทางลบมากขึ้น อย่างเริ่มตัดผมตัวเอง นั่นหมายความว่าเขาอาจเริ่มเบื่อ

“อีกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ พ่อแม่กำลังเครียดมาก เด็กๆ ที่อยู่บ้านก็คุ้นเคยกับการได้รับความสนใจจากพ่อแม่เมื่อพ่อแม่อยู่บ้าน แต่ตอนนี้ พ่อแม่กลับต้องบอกว่ากำลังยุ่งกับงาน และไม่สามารถให้ความสนใจแบบนั้นได้” อัลวาร์ดกล่าว

การต้องการความสนใจจากผู้ปกครอง อาจเป็นสาเหตุเบื้องหลังการอาละวาดโวยวาย หรือความประพฤติไม่ดีอื่นๆ และเมื่อผู้ปกครองเกิดความเครียดและเริ่มมีความอดทนน้อยลง ก็อาจจะไปตะคอกเด็ก กลายเป็นวงจรไม่จบสิ้น

พฤติกรรมเปลี่ยน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับเด็กเป็นธรรมดา โดยเฉพาะเด็กที่ยังสื่อสารทางการพูดไม่ค่อยได้ เด็กเล็กยังไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกตัวเองอย่างชัดเจนได้ บ่อยครั้งที่ออกมากลายเป็นการเปลี่ยน พฤติกรรม

นอกจากนี้ การที่โรงเรียนปิดจนทำให้ต้องอยู่บ้านนานๆ กว่าปกติ กลายเป็นอีกความท้าทายสำหรับเด็กๆ ที่เพิ่มขึ้นด้วย ในเวลาปกติ ปิดเรียนแค่เสาร์อาทิตย์ ถึงเกิดความเบื่อ เดี๋ยวก็ไปโรงเรียน มีกิจกรรม มีเวลาสังคมกับเพื่อน เด็กมักรู้วิธีจัดการความหงุดหงิดหรือความเบื่อของตัวเองเมื่ออยู่ในห้องเรียน

“จุดนี้ เราอาจคาดได้เลยว่า ภายใต้ (พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป) คือความเศร้า” วิลลาร์ดอธิบายว่า นี่ไม่ใช่อะไรส่วนตัว เด็กๆ ไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อให้พ่อแม่เสียสติ หรือทำลายงาน หรือทำลายแผนอาหารมื้อค่ำ เด็กแค่ทำแบบนั้นเพราะเขาเศร้า เหงา หรืออาจหิว หรือเหนื่อย “พวกเขารู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมได้”

ในขณะเดียวกัน ผู้ปกครองควรสังเกต และตั้งคำถามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการแยกตัวไปอยู่คนเดียว นอนหลับไม่เพียงพอ ประพฤติตัวไม่เหมาะสม นี่อาจเป็นสัญญาณของเรื่องที่น่าเป็นห่วง อย่างเช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือปัญหาเรียกร้องความสนใจ ถ้ามีแนวโน้มนี้ ควรปรึกษานักบำบัดหรือจิตแพทย์

ช่วยเด็กรับมือความรู้สึก

เมื่อเด็กเริ่มสงบลง หลังจากที่เกรี้ยวกราด ร้องไห้ โวยวาย แล้วยอมรับกับพ่อแม่ว่าตัวเองทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม วิลลาร์ดบอกว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกว่า เด็กมีความเชื่อใจผู้ปกครอง เป้าหมายต่อไปคือ พยายามลดระยะเวลาจากตอนเกรี้ยวกราดไปจนถึงตอนยอมรับว่าทำผิด อย่างเช่นจากใช้เวลาห่างกันถึง 40 นาที ทำอย่างไรให้เกิดขึ้นภายในเวลา 5 นาที

ผู้ปกครองสามารถเริ่มได้ด้วยการแสดงให้เด็กรู้ว่า ความรู้สึกที่เขามีเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา บอกให้เด็กรู้ว่า หากอยากกอด พ่อแม่อยู่ตรงนี้ บอกให้เขารู้ว่าพ่อแม่รัก และพ่อแม่เข้าใจว่าตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ยากสำหรับเขา

อัลวอร์ดกล่าวว่า ถามเด็กว่าตอนที่กำลังงอแง เขาคิดอะไรอยู่ รู้สึกอะไรอยู่ นั่นจะช่วยให้คุณเรียนรู้ว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกนั้น

“ในฐานะผู้ปกครอง เราสามารถไถ่ถามเด็กๆ ได้เสมอ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้รู้สึกโอเคหรือไม่ วันนี้ตั้งตารอทำอะไร อยากวิดีโอคุยกับเพื่อนหรือไม่” วิลลาร์ดกล่าวเพิ่มเติม

ผู้ปกครองสามารถช่วยเด็กให้รู้สึกสบายใจขึ้น กับสิ่งที่ขาดตอนนี้ โดยการให้ความสนใจไปที่อะไรดีๆ ที่กำลังเกิดขึ้นและสิ่งที่เด็กสามารถควบคุมได้ แต่คุณต้องซื่อสัตย์กับเด็กๆ เมื่อพูดถึงสถานการณ์ระบาด แต่อัลวอร์ดกล่าวว่า อย่าปล่อยให้เด็กทำให้ทุกอย่างเป็น “ความหายนะ”

“ส่วนหนึ่งที่คุณทำได้เพื่อช่วยเด็กรับมือสิ่งที่เกิดขึ้น คือพยายามหาว่าเขาคิดถึงอะไรมากที่สุด ในฐานะผู้ปกครอง คุณสามารถจัดแจงให้เขาเชื่อมต่อสื่อสารกับ เพื่อน กับลูกพี่ลูกน้อง กับญาติ หรือใครก็ตาม” อัลวอร์ดแนะนำ “แล้วเขาก็จะรู้สึกรีแลกซ์ขึ้น รู้สึกดีขึ้น”

แม้ว่าการสังคมของเด็กๆ จะไม่เหมือนเดิม แต่อย่างน้อย เขาก็ยังได้รู้ว่าบางส่วนของชีวิตเป็นสิ่งที่สามารถคาดเดาได้ มีความปลอดภัย และตั้งตารอได้

บทเรียนเรื่องความฉลาดทางอารมณ์

การเรียนรู้ด้านความฉลาดทางอารมณ์เป็นกุญแจสำคัญในการเติบโต และสำคัญมากที่จะช่วยให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากได้

สมาคมจิตวิทยาของสหรัฐฯระบุว่า ความฉลาดทางอารมณ์เป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถ เรียนรู้ข้อมูลทางอารมณ์ของตัวเอง และใช้ในการหาเหตุผลและกระบวนการอื่นๆ ที่ต้องใช้ความคิด

ในปี 1989 นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ปีเตอร์ ซาโลเวย์ และ จอห์น ดี เมเยอร์ ระบุความสามารถ 4 ด้านที่จะทำให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตทำงาน

  • สามารถรับรู้และประเมินอารมณ์ได้อย่างถูกต้อง
  • สามารถเข้าถึงและแสดงออกอารมณ์ เมื่อเป็นส่วนช่วยให้เข้าใจสถานการณ์
  • สามารถเข้าใจภาษาอารมณ์ และใช้ประโยขน์จากข้อมูลนั้น
  • สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเอง และของคนอื่นเพื่อส่งเสริมการเติบโตและความเป็นอยู่ดี

ผู้ปกครองสามารถใช้ช่วงเวลาที่เขารู้สึกตกต่ำ หรือเกรี้ยวกราด มาเป็นบทเรียนเพื่อสร้างคุณสมบัติเหล่านี้ได้

อัลวอร์ดกล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้นั้นเริ่มตั้งแต่วัยเยาว์ “เราต้องเรียนรู้ที่จะมีความทนต่อความเครียดระดับหนึ่ง และสามารถจัดการความรู้สึกได้ เพราะชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องเครียดเล็กๆ น้อยๆ”

ผู้ปกครองสามารถเริ่มได้ง่ายๆ ด้วยการให้เด็กๆ ลองบอกว่า อารมณ์ของตัวละครในหนังสือหรือในการ์ตูนที่ดูอยู่ คืออารมณ์อะไร คุยและอธิบายความรู้สึกนั้น จะสามารถช่วยให้เด็กตระหนักและบอกได้ถูกต้องถึงอารมณ์ของตัวเอง

ช่วงเวลาสำหรับเล่น เป็นช่วงที่เด็กๆ จะได้ผ่อนคลายกับผู้ปกครอง และจะเป็นเวลาที่เด็กอาจจะพูดคุยเรื่องความรู้สึกมากขึ้น

สนทนากับเด็กเรื่องความรู้สึก คุยเรื่องอารมณ์ที่เกิดขึ้น และลองถามว่าทำไมถึงรู้สึกแบบนั้น พยายามให้เด็กพูดถึงความรู้สึกและปัญหา โดยการพูดถึงหรือจำลองพฤติกรรมนั้น

“ช่วงนี้เป็นเวลาที่ยากลำบากกับทุกคน ดังนั้นอย่าเข้มงวดกับตัวเองจนเกินไป อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ” วิลลาร์ดกล่าว