svasdssvasds

"มะเร็งตับ" คร่าชีวิต คนไทยอันดับ 1 แนะปรับพฤติกรรมลดเสี่ยง

"มะเร็งตับ" คร่าชีวิต คนไทยอันดับ 1 แนะปรับพฤติกรรมลดเสี่ยง

แพทย์ เผยมะเร็งตับพบมากในเพศชาย แนะปรับพฤติกรรมสุขภาพลดความเสี่ยง

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ เผยโรคมะเร็งตับเป็นสาเหตุทำให้คนไทยเสียชีวิตอันดับ 1 ในบรรดาโรคมะเร็งทั้งหมด ประมาณ 15,000 รายต่อปี ระบุผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ในระยะที่เป็นมากแล้ว แนะหากสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งตับควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรค เพื่อให้รักษาได้อย่างทันท่วงทีและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับได้

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งตับเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ประมาณ 20,000 ราย ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชายและอันดับ 3 ในเพศหญิง อัตราการเสียชีวิตประมาณ 15,000 รายต่อปี

โรคมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด

-โรคมะเร็งของเซลล์ตับ และโรคมะเร็งท่อน้ำดีตับ พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ สาเหตุของโรคมะเร็งตับเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบีซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดในการเกิดโรคมะเร็งของเซลล์ตับของคนไทย

-โรคมะเร็งท่อน้ำดีตับ เกิดจากพยาธิใบไม้ตับเป็นสาเหตุสำคัญร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนมไส้กรอก เบคอน ฯลฯ นอกจากนี้การดื่มสุราเป็นประจำ การเคี้ยวหมาก สารพิษอะฟลาทอกซินซึ่งเกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซีก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้เกิดโรคมะเร็งตับได้อีกด้วย

อาการของโรคมะเร็งตับ

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า อาการของโรคมะเร็งตับเริ่มด้วยการเบื่ออาหารโดยไม่มีสาเหตุ แน่นท้อง ท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้ต่ำเป็นประจำ ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

การป้องกันโรคมะเร็งตับ

การป้องกันโรคมะเร็งตับ ได้แก่ การให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบีในเด็กแรกเกิดทุกคน ป้องกันรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับ ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพ รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ รับประทานผักผลไม้สดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารที่มีราขึ้น อาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ อาหารหมักดอง เค็มจัด เผ็ดจัด เนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม ไม่รับประทานปลาดิบๆ สุกๆ

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เคี้ยวหมาก และลดความเครียด รวมถึงออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคมะเร็งตับได้ ทั้งนี้ หากสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งตับควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังหรือมีประวัติเป็นโรคตับอักเสบควรรับการตรวจหามะเร็งอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับได้