svasdssvasds

อันตรายฝุ่นพิษต่อเด็กเล็ก

อันตรายฝุ่นพิษต่อเด็กเล็ก

มลพิษทางอากาศเป็นภัยต่อระบบทางเดินหายใจอย่างไม่ต้องสงสัย พูดได้ว่าเท่ากับการสูบบุหรี่โดยตรงก็ว่าได้ แต่นอกเหนือจากระบบทางเดินหายใจแล้ว งานวิจัยในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา เผยว่า เด็กเล็กนั้นได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ใหญ่ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านต่างๆ รวมถึงสุขภาพจิต

มลพิษทางอากาศทำให้เด็กอายุสั้นลง 20 เดือน

สถาบันวิจัยสุขภาพหลายแห่งในสหรัฐฯ ร่วมเผยแพร่รายงานเรื่องสถานะของสภาพอากาศโลก ระบุ มลพิษทางอากาศทำให้เด็กอายุสั้นลงถึง 20 เดือน รายงานระบุว่าเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศเอเชียใต้อย่างอินเดียและปากีสถาน มีความเสี่ยงสูงสุด มลพิษทางอากาศทำให้เด็กเกิดใหม่ทุกวันนี้ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงจะมีอายุสั้นลงโดยเฉลี่ย 20 เดือน และประชากรโลกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก

รายงานอ้างงานวิจัยหลายโครงการที่ผ่านมาระบุปัญหาสุขภาพที่มีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ ผลกระทบระยะสั้น อย่างเช่นโรคหืด หรือโรคระบบทางเดินหายใจและโรคระบบหัวใจหลอดเลือดที่ทำให้ถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาล

การต้องอยู่กับมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงให้ป่วยเรื้อรังและทำให้อายุสั้น อย่างเช่นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ มะเร็งปอด รวมไปถึงโรคปอดบวมด้วย

PM 2.5 กระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก

องค์การยูนิเซฟ หรือ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่ฝุ่น PM 2.5 มีต่อร่างกายและสมองของเด็ก ระบุว่าฝุ่นผงขนาดเล็กที่อยู่ในอากาศ หรือ PM2.5 มีขนาดเล็กกว่าเส้นขนมนุษย์ถึง 25 เท่า เมื่อหายใจเข้า ฝุ่นเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายทางทั้งทางจมูกและปาก อากาศจะผ่านระบบทางเดินหายใจ และเข้าไปถึงถุงลมที่อยู่ในส่วนลึกที่สุดของปอด

ฝุ่นพิษนี้ เมื่อเข้าไปถึงถุงลม สามารถแทรกซึมเข้ากระแสเลือดและถูกนำไปสู่อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้เป็นไปตามปกติได้ อวัยวะสำคัญที่ได้รับผลกระทบคือ ปอด ระบบภูมิคุ้มกัน หัวใจ และสมองที่กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาการ

ยูนิเซฟระบุว่าอัตราการเติบโตของสมองจะสูงสุดในช่วงแรกเกิด แต่การพัฒนานั้นจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องในวัยเด็กและวัยรุ่น ซึ่งมีผลต่อเรื่องความจำ สมาธิ การควบคุมอารมณ์ และการเข้าสังคม

เมื่อ PM 2.5 เข้าถึงสมองของเด็กที่กำลังพัฒนา ฝุ่นเหล่านี้จะสร้างความเสียหายต่อเซลล์สมอง อาจส่งผลให้เกิดความบกพร่องในการพัฒนาทางปัญญา และความสามารถในการเรียนรู้ และการสะสม PM 2.5 ในร่างกาย จะส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบประสาทในภายหลัง

นอกจากจะสร้างความเสียหายให้สมองของเด็กแล้ว สตรีมีครรภ์ก็ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากเช่นกัน การหายใจเอาอากาศที่มีฝุ่น PM 2.5 เข้าไป อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกในครรภ์มีความเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้นกว่าปกติในภายหลัง อย่างเช่นโรคเส้นโลหิตในสมองอุดตัน โรคปอดบวม โรคหัวใจขาดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมะเร็งปอด

เด็กเจอฝุ่นพิษ มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า

วารสารวิจัยจิตเวชของอังกฤษ เผยแพร่ผลการวิจัยข้อมูลจากกลุ่มเด็กในกรุงลอนดอนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศโดยเน้นที่ความอันตรายที่มีต่อวัยรุ่น พบว่าเด็กอายุราว 12 ปีที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุด มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า 3 ถึง 4 เท่าก่อนอายุ 18 ปี เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลของเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศน้อยที่สุด

การวิจัยดังกล่าวได้รวบรวมข้อมูลประวัติสุขภาพจิตของครอบครัว ระดับรายได้ และพฤติกรรมการสูบบุหรี่  นอกจากนี้ยังได้ศึกษาปัจจัยระดับความวิตกกังวลและโรคสมาธิสั้น แต่พบว่าสองปัจจัยนี้ไม่มีความเชื่อมโยงกับระดับมลพิษทางอากาศ

ที่ผ่านมา มีการวิจัยผลกระทบต่อสุขภาพจิตจากมลพิษทางอากาศน้อยมาก งานวิจัยในผู้ใหญ่กลับส่งผลไม่ตรงกัน แม้ว่าจะมีหลักฐานว่ามลพิษทางอากาศส่งผลให้ระดับเชาวน์ปัญญาลดลงก็ตาม

นักวิจัยระบุว่าเด็กและวัยรุ่นมีความเสี่ยงสูงเพราะสมองยังอยู่ระหว่างพัฒนาการ ฮอร์โมนกำลังมีการเปลี่ยนแปลง และสารพิษในอากาศนั้นเล็กพอที่จะสามารถข้ามแนวกั้นเลือดและสมอง ซึ่งมีความเชื่อมโยงระหว่างการอักเสบในสมองและการพัฒนาอาการของโรคซึมเศร้า