svasdssvasds

สัญญาณว่าคุณเริ่มมีอาการของ โรควิตกกังวล (Anxiety)

สัญญาณว่าคุณเริ่มมีอาการของ โรควิตกกังวล (Anxiety)

New Normal หรือความปกติใหม่ที่เกิดจากการระบาดของโควิด 19 ย่อมเป็นสถานการณ์ที่ทำให้หลายคนเกิดความกังวล จนถึงอาจกลายเป็น โรควิตกกังวล (Anxiety) จนนำไปสู่ปัญหาความเจ็บป่วยทางร่างกายได้

ความวิตกกังวล เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปเพื่อตอบสนองต่อความเครียด แต่ โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) มีความแตกต่างจากความรู้สึกวิตกกังวลทั่วๆ ไป คนที่เป็น โรควิตกกังวล จะรู้สึกวิตกและกลัวอย่างเกินเหตุ จนมีผลทางลบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

หัวใจเต้นเร็ว

เมื่อเกิดความกลัวอย่างกะทันหัน อย่างเสียงดัง หรืออะไรที่ทำให้ตกใจ จะเป็นการไปกระตุ้นฮอร์โมนความเครียด ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น อาจรู้สึกเหมือนหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ถ้าเกิดอาการนี้บ่อยๆ อาจกลายเป็นปัญหาความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ระดับคลอเรสเตอรอลสูง เส้นเลือดอุดตัน และหัวใจวาย

หายใจเร็ว

เมื่อเริ่มมีอาการหายใจเร็วควบคู่ไปกับหัวใจเต้นแรงผิดปกติ หมายถึงคุณอาจเริ่มมีความกลัว หรือความวิตก จนรู้สึกเหมือนไม่สามารถหายใจเข้าได้เต็มที่ บางคนหายใจเร็วมากจนเกิดอาการวิงเวียนหรือหน้ามืด หรือถึงขนาดเป็นลมก็มี และอาจเป็นปัญหาใหญ่หากเป็นคนที่มีอาการหอบหืด โรคปอด หรือโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

การตอบสนองต่อความตกใจ

กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายตอบสนองต่อความกลัวหรือตกใจ ความตกใจจะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนส่งสัญญาณไปสมอง เส้นประสาทไขสันหลัง และระบบประสาท เลือดและน้ำตาลกลูโคสจะไหลเข้าสู่แขนและขาอย่างรวดเร็วเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมที่จะต่อสู้กับสิ่งคุกคาม ซึ่งจะเห็นได้ที่บางคนสามารถวิ่งหนีได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดความกลัว หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้น และอาจมีเหงื่ออกมาก และร่างกายสั่น

กล้ามเนื้อตึง

ร่างกายเตรียมพร้อมปกป้องตัวเองเมื่อคุณเริ่มรู้สึกวิตก โดยเฉพาะถ้าคุณเกิดพูดตะกุกตะกักอ้ำอึ้งขึ้นมาด้วยความตกใจ แสดงว่ากล้ามเนื้อทั้งหมดกำลังตอบสนองพร้อมกัน ส่วนใหญ่แล้วก็จะผ่อนคลายลงเมื่อความเครียดลดลงแต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ หรือถ้าเริ่มกังวลตลอดเวลา อาการกล้ามเนื้อไหล่และคอตึง จะทำให้เกิดการปวดศีรษะได้ ซึ่งรวมถึงไมเกรนด้วย วิธีผ่อนคลายที่ง่ายที่สุดเบื้องต้น คือพยายามหายใจลึกๆ ยาวๆ

น้ำตาลในเลือดสูง

ฮอร์โมนความเครียดทำให้ร่างกายระเบิดพลังงานอย่างรวดเร็วเมื่อรู้สึกกลัวหรือวิตก นี่เป็นสิ่งที่ช่วยคุณได้ หากคุณต้องวิ่งหนีหรือต้องต่อสู้กับสิ่งอันตรายเมื่อร่างกายรวบรวมและเก็บน้ำตาลส่วนเกินเหล่านี้ แต่ความวิตกสูงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอาจทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นเป็นเวลานาน อาจทำให้พัฒนาเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ เส้นโลหิตในสมองแตก หรือโรคไต

ปัญหาการนอนหลับ

ความวิตกทำให้บางคนนอนไม่หลับ และการนอนไม่พอยิ่งทำให้อาการวิตกกังวลรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะถ้าต้องไปทำงานทั้งๆ ที่ยังไม่ดีขึ้น เบื้องต้น อาจช่วยได้ถ้าทำ to-do list ขึ้นมาเตือนตัวเอง คือการลำดับปัญหาที่ติดใจอยู่ และอาจจดวิธีแก้ไปด้วยเมื่อนึกออก การเห็นในรูปแบบที่เขียนออกมา ช่วยลดความกังวลได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ควรพยายามจัดตารางเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาทุกวัน ปิดไฟให้หมด และทำให้อุณหภูมิห้องเย็นขึ้นเมื่อเข้านอน และควรทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายหรือ “ช้าลง” ก่อนเข้านอน เช่นอ่านหนังสือ

สู้กับเชื้อโรค

ร่างกายอาจไม่สามารถสู้กับเชื้อโรคได้เต็มที่เมื่อมีความวิตกกังวล หรือแม้แค่นึกถึงอะไรที่ทำให้โกรธหรือเศร้านานอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ก็ลดการตอบสนองของระบบบภูมิคุ้มกันไปแล้ว ยิ่งถ้าความวิตกกังวลอยู่ไปข้ามวัน ข้ามเดือน ยิ่งทำให้เป็นปัญหาใหญ่ขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกัน ยิ่งทำให้สู้โรคหวัด โรคจากเชื้อไวรัสต่างๆ ยากขึ้นอีก

ท้องปั่นป่วน

ความเครียดและความวิตกสามารถทำให้มวนท้องได้ บางคนรู้สึกคลื่นไส้ และถึงขั้นอาเจียน ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ จะนำไปสู่ปัญหาระบบทางเดินอาหาร อาการลำไส้แปรปรวน (IBS) หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร คุณควรปรึกษาแพทย์ หากอาการปวดท้องรุนแรง หรือถึงขั้นอาเจียน เมื่อคุณเกิดความวิตกกังวล

ลำไส้ปั่นป่วน

ความวิตกกังวลทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ แพทย์ยังไม่แน่ใจว่าทำไมถึงเชื่อมโยงกัน แต่อาจเป็นเพราะความวิตกกังวลทำให้กล้ามเนื้อทำงานไม่ปกติ ซึ่งรวมถึงกล้ามเนื้อลำไส้ ทำให้ท้องร่วง เพราะความวิตกกังวลเปลี่ยนวิธีร่างกายดูดซึมสารอาหารบางชนิด ถ้าคุณมีอาการลำไส้แปรปรวน (IBS) หรือปัญหาระบบย่อยอาหารอยู่แล้ว ลำไส้อาจไวต่อความเครียดมากขึ้นอีก

น้ำหนักขึ้น

บางครั้ง ความวิตกกังวลทำให้คุณทานอาหารมากขึ้น และนำไปสู่ความต้องการอยากอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง ซึ่งนั่นหมายถึงแคลอรีสูงด้วย อาหารพวกนี้ทำให้รู้สึกเหมือนช่วยคลายความกังวล แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ร่างกายอยากอาหารมากขึ้นอีก นานๆ เข้า ความวิตกกังวลสามารถทำลายความสามารถในการตอบสนองต่อความเครียดของร่างกาย และแน่นอน นำไปสู่น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น

ผู้ชาย อาจมีปัญหาบนเตียง

แรกเริ่ม ความเครียดสามารถกระทบระบบรับมือความวิตกหรือความกลัวได้ ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย เทสโตสเตอโรน ทำให้รู้สึก ร่าเริง มีชีวิตชีวา แต่ฮอร์โมนความเครียดที่เรียกว่าคอร์ติซอล ให้ผลตรงกันข้าม ถ้ามีความเครียดและความวิตกกังวลนานๆ ความกังวลจะลดระดับเทสโตสเตอโรน อาจเปลี่ยนหรือทำให้มีสเปิร์มน้อยลง และชะลอหรือหยุดร่างกายจากการตอบสนองเมื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์

ปัญหาเพศสัมพันธ์ของผู้หญิง

ความกังวลอาจทำให้รู้สึกเหนื่อย และทำให้สับสนไขว้เขว นำไปสู่ความสนใจเรื่องเพศสัมพันธ์น้อยลง ฮอร์โมนคอร์ติซอลมีส่วนทำให้มีความต้องการบนเตียงน้อยลงด้วย นอกจากนี้ ความเครียดสูงยังส่งผลกระทบต่อรอบประจำเดือน มาไม่ปกติ หรือมานานขึ้น หรือปวดท้องมากขึ้น ทำให้รู้สึกบวม อารมณ์แปรปรวน (PMS) นอกจากนี้ ความวิตกกังวลยังทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ยากขึ้นอีก

เรียบเรียงจาก WebMD