svasdssvasds

ถกข่าว เล่าหนัง : ยิ่งปิดเหมือนยิ่งเปิด

ถกข่าว เล่าหนัง : ยิ่งปิดเหมือนยิ่งเปิด

ถกข่าว เล่าหนัง : ภาณุพงษ์ ทินกร

แม้ว่าภาพยนตร์เรื่อง The Shape of Water เรื่องราวความรักพิสดารระหว่างสัตว์ประหลาดในห้องทดลองกับภารโรงสาวใบ้จะร้อนแรงบนเวทีออสการ์ถึงกับได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม แต่หลายคนก็ยังนึกเสียดายอยากให้ภาพยนตร์เรื่อง 3 บิลบอร์ด ทวงแค้นไม่เลิก (Three Billboards Outside Ebbing, Missouri) ได้รางวัลมากกว่า เพราะเรื่องราวในภาพยนตร์ดู “จริง” กว่า และมีประเด็นที่ชัดเจนกว่า ทั้งการต่อต้านความรุนแรง และแก่นเรื่องที่ว่าด้วยการให้อภัย

Three Billboards Outside Ebbing, Missouri เป็นเรื่องของมิลเดร็ด แม่คนหนึ่งซึ่งสูญเสียลูกสาวไปเพราะถูกฆ่าข่มขืน (แถมยังเสียสามีให้กับเด็กสาวอายุน้อยอีก) เมื่อคดีไม่คืบหน้า เธอจึงไปเช่าป้ายบิลบอร์ด 3 ป้ายที่ทิ้งร้างไว้ เพื่อขึ้นข้อความเรียกร้องให้ตำรวจในเมืองเอบลิ่งตื่นตัวมาทำคดีอย่างจริงจัง การกระทำของเธอทำให้หัวหน้าตำรวจน้ำดีที่ป่วยเป็นมะเร็งขั้นสุดท้ายอย่างวิลเลอบีนั่งไม่ติด และยังถูกดิกซอน ตำรวจอันธพาลของเมืองเกลียดขี้หน้าจนหาเรื่องปะทะหลายครั้ง

ถกข่าว เล่าหนัง : ยิ่งปิดเหมือนยิ่งเปิด

การขึ้นข้อความบนบิลบอร์ดของเธอ นำมาซึ่งเหตุการณ์ปั่นป่วนมากมาย เป็นหนังแนวตลกร้ายที่แฝงมาด้วยบทสนทนาที่เฉียบคม พร้อมกันนั้นก็ให้คนดูสำรวจไปด้วยว่า ความรุนแรงนั้นแก้ปัญหาต่างๆ ได้จริงหรือ ในตอนแรกคนดูอาจจะรู้สึกเข้าข้างมิลเดร็ด แต่ดูๆ ไป การกระทำที่ไม่ลดราวาศอก ไม่คำนึงถึงผลกระทบกับคนรอบข้างๆ แม้แต่คนเดียว ทำให้คนดูเริ่มตั้งคำถามกับการกระทำของเธอ จนในที่สุดก็นำไปสู่คำตอบที่ว่า “การจองเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”

เรื่องราวในหนังดำเนินไปแบบเรื่อยๆ จนอดนึกไม่ได้ว่า ถ้าไม่ได้นักแสดงอย่าง ฟรานเซส แมคดอร์มานด์มารับบทมิลเดร็ด (และได้รางวัลออสการ์สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยม) วูดดี้ ฮาเรลสัน ในบทวิลเลอบี และ แซม ร็อคเวล ในบทดิกซอน (ได้รางวัลออสการ์นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม) หนังจะดึงคนดูได้ตลอด 115 นาทีหรือไม่

ในหนัง เมื่อมิลเดร็ดตัดสินใจขึ้นข้อความเรียกร้องให้ตำรวจสืบคดีของลูกสาว นั่นคือการตัดสินใจท้าทายเจ้าหน้าที่รัฐที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนส่งผลกระทบกับชีวิตของเธอมากมาย ป้ายบิลบอร์ดกลายเป็นเป้าที่คนจะมาทำลาย และในที่สุดก็ถูกเผาไปครั้งหนึ่ง (ฝีมือใครต้องดูเองครับ)

โชคดีที่หนังเรื่องนี้เกิดขึ้นในอเมริกา ถ้าเรื่องนี้สร้างโดยมีโลเคชั่นที่เมืองไทย ป้ายบิลบอร์ดของมิลเดร็ดอาจโดนลบภายในข้ามวัน แถมเผลอๆ มิลเดร็ดจะโดนเรียกไปปรับทัศนคติหรือแจ้งข้อหาอีกด้วย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากขึ้นป้ายเกี่ยวกับนาฬิกา... ที่ยืมเพื่อนมา!)

ในช่วงเวลาเดียวกับที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย และเฉิดฉายอยู่ในเวทีออสการ์ ในเมืองไทยเราก็มีเรื่องคล้ายๆ กัน เมื่อคนธรรมดาเริ่มทนไม่ไหวกับอาการ “ส่อ” ไปทางอยุติธรรมในการทำคดีเสือดำทุ่งใหญ่ กราฟิตี้รูปเสือดำจึงปรากฏขึ้นบนกำแพงในพื้นที่รกร้างแห่งหนึ่ง

แล้วก็โดนลบไปทันทีทันควัน!

ถกข่าว เล่าหนัง : ยิ่งปิดเหมือนยิ่งเปิด

นี่คือชุดความคิดแบบเดิมๆ ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองยุคไดโนเสาร์ ที่มีอะไรมาสะกิดใจนิดๆ หน่อยๆ หรือทำท่าจะขัดเคืองความรู้สึกของ “นาย” ก็ต้องรีบกำจัดไปให้เร็วที่สุด เมื่อกำจัดแล้วก็เชื่อว่ามันจะหายไปจากมโนสำนึกของผู้คน เพราะคง “ไม่มีใครกล้าทำอีก” ขยะใต้พรมของบ้านเราจึงเบ่งบานเป็นเชื้อราหน้าฝนอย่างที่เห็นอยู่นี่ไง

แต่ขอโทษที โลกยุคนี้ไม่ใช่โลกที่ถูกควบคุมด้วยชุดความคิดเดิมๆ หรือช่องทางเดิมๆ อีกต่อไป การลบภาพเสือดำ จึงกลายเป็นตัวจุดชนวนให้เสือดำหลากเวอร์ชั่นไปปรากฏอยู่บนกำแพงบ้านอีกหลายบ้าน บิลบอร์ดกลางเมืองก็มี ป้ายแอลอีดีก็มา แถมยังเกิดกลุ่มคนทำหน้าที่เชิญชวนให้ “ศิลปิน” ไปวาดภาพบนพื้นที่ของ “เจ้าของโดยตรง” จะได้ไม่มีใครมาลบอีกต่างหาก

ถกข่าว เล่าหนัง : ยิ่งปิดเหมือนยิ่งเปิด

ถกข่าว เล่าหนัง : ยิ่งปิดเหมือนยิ่งเปิด

ในหนัง ที่สุดแล้ว ป้ายบิลบอร์ดของมิลเดร็ดคงจะถูกลบหรือเอาลง เพราะหมดสัญญาเช่า แต่สำหรับเมืองไทย รูปเสือดำคงจะอยู่รอดปลอดภัยไปอีกนาน เพราะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองคงสำนึกแล้วว่า ไม่ควรดูถูกพลังของประชาชน ลบหนึ่งเกิดสิบ ลบหมื่นเกิดแสน ยิ่งปิดเหมือนยิ่งเปิด

แล้วถ้าจะถามว่ารูปเสือดำแบบนี้จะวนเวียนอยู่อีกนานแค่ไหน...

..ก็จนกว่าคนไทยทั้งประเทศจะวางใจนั่นแหละ ว่าคดีเจ้าสัวยิงเสือดำอยู่กับร่องกับรอยอย่างที่ควรจะเป็น และจะไม่ลอยหายไปกับสายลมเหมือนกับคดีอื่นๆ อีกหลายต่อหลายคดีที่เคยเป็นมา

related