svasdssvasds

ถกข่าว เล่าหนัง : เรดดี้ เพลเยอร์ วัน

ถกข่าว เล่าหนัง : เรดดี้ เพลเยอร์ วัน

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ถกข่าว เล่าหนัง :  ภาณุพงษ์ ทินกร

เตือนก่อนว่า เรื่องราวที่จะได้อ่านก่อนเข้าเรื่องหนังนี่ จะเป็นเรื่องระลึกชาติ (Nostalgia) ของคนเขียนไปแล้วครึ่งหนึ่งนะครับ

สมัยก่อน เวลามีเรื่องมีราวอาชญากรรมโดยวัยรุ่นทีไร หนังสือพิมพ์หลายฉบับก็มักจะโทษเกม โทษความรุนแรงในเกมอย่าง GTA เสมอ โดยไม่ได้ดูภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ตัวเองเลยว่าลงภาพฆาตกรรมโหด เลือดสาด รุนแรงหนักกว่าในเกมเป็นไหนๆ

สมัยหนึ่ง เมื่อมือถือยังเป็นปุ่มกด คอมพิวเตอร์ตามบ้านยังราคาสูงเกินเอื้อม ร้านเกมเปิดกันเป็นดอกเห็ด ก็มีการยกปัญหาสังคมของวัยรุ่นมารณรงค์แก้ไขกันอย่างเอาเป็นเอาตาย นั่นคือเรื่องเด็กติดเกม ไปสิงอยู่ในร้านเกมเป็นวันเป็นคืน และเกม FPS อย่าง Counter Strike ก็กลายเป็นจำเลยเรื่องความรุนแรงอีกเช่นกัน

แต่พอมาปัจจุบัน เมื่อไม่นานมานี้ การกีฬาแห่งประเทศไทยก็ประกาศรับรองการเล่นเกมให้เป็น E- Sports อย่างเป็นทางการ เด็กติดเกมทั้งหลายจึงกลายเป็นคนมีอนาคตสดใสด้วยการเป็นนักกีฬา E-Sports เต็มตัว

แล้ววงการ E-Sports ทั่วโลกก็ยังเติบโตไปอย่างไม่หยุดยั้ง ถึงขั้นได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาประจำเอเชียนเกมส์ โดยการแข่งขัน E-Sports ในเอเชียนเกมส์จะเริ่มครั้งแรกในปี 2018 ที่จะจัดในเดือนสิงหาคมนี้ ณ กรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย โดยจะจัดในรูปแบบของการแข่งขันกีฬาสาธิต เพื่อให้ผู้คนเห็นและเข้าใจในกีฬาชนิดนี้ก่อน แล้วจึงจะจัดเต็มเต็มรูปแบบในปี 2022 ที่หางโจว ประเทศจีน

เมื่อไปถึงเอเชียนเกมส์แล้ว อีกไม่นาน การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกก็คงอยู่นิ่งเฉยไม่ได้

มูลค่าของตลาดเกมเองก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ E-Sports สามารถทำรายได้รวมทั่วโลกไปเป็นเงิน 16,000 ล้านบาท) ในปี 2016 และในปี 2017 ก็เพิ่มขึ้นเป็น  23,000 ล้านบาท ถึงเหล่าเกมเมอร์ทุกคน เราชนะแล้ว (haha)

ขออนุญาตอินเรื่องนี้หน่อย เพราะแม้ผมจะเลยวัยรุ่นมาหลายปี แต่ทุกวันนี้ก็ยังเป็น “หัวหงอกติดเกม” อยู่เลย

ผมเติบโตมาพร้อมกับวิวัฒนาการของเกมคอมพิวเตอร์ประเภทต่างๆ และถือเป็นเซียนเกมตัวยง (ในยุคอดีตหลายล้านปีแสง) จนมาบัดนี้ได้แต่เล่นเกมไถนิ้วปรูดปราดบนแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนแข่งกับลูกสาว จะให้ไปรวมตัวตีด็อท ร่วมทีมบุกถล่มปราสาท ฯลฯ หรือเล่นเกมออนไลน์เหมือนที่เคยเล่นแร็คน่าร็อคคงไม่ไหวแล้ว

สมัยผมยังเด็ก เวลาที่อยากเล่นเกม ต้องไปตามร้านเกมที่มีตู้หยอดเหรียญให้เล่น เกมที่มีก็อย่างเช่น Space Invader หรือ Pacman ไม่ได้มีกราฟิกพิสดารอะไร

ส่วนเครื่องเล่นเกมคอนโซลเครื่องแรกที่เคยเล่น คือ เครื่องอาตาริ (ATARI) ที่มีเกมอยู่ไม่กี่เกม เช่น ปอง (Pong) ที่คงย่อมาจากปิงปอง คนเล่นต้องตีลูกบอลโต้กันไปมา หรือเกมยิงอุกาบาต (Asteroids) ที่สนุกมากมายแล้วในสมัยนั้น หลังๆ ถึงได้มี Pacman มาให้เล่น แต่เป็น Pacman ขาวดำนะ!

ถกข่าว เล่าหนัง : เรดดี้ เพลเยอร์ วัน

ขณะเดียวกันกับที่มีเครื่องคอนโซลอยู่บ้าน เวลาไปโรงเรียนหากเรามีเพื่อนรวย เราก็จะได้มีโอกาสได้เล่นเกมพกพาเล็กๆ (ยืมเพื่อนเล่น และแย่งกันเล่นจนเจ้าของมักไม่ได้เล่น) ที่ตอนแรกตั้งใจพัฒนาให้เป็นนาฬิกา พอตอนหลังก็ตัดนาฬิกาออกไปเพราะคนซื้อเพราะเกมมากกว่า เอาหน่วยความจำที่มีอยู่น้อยนิดมาใช้กับการพัฒนาเกมดีกว่า เกมแบบนี้ชื่อว่า Game&Watch ของเจ้าพ่อวงการเกมอย่างนอนเทนโดครับ เกมยอดฮิตก็มี ปลาหมึก ป็อบอาย ดับเพลิง โดดร่ม แล้วพอตอนหลังทำสองจอได้ถึงมีเจ้า Donkey Kong ตามมา

ถกข่าว เล่าหนัง : เรดดี้ เพลเยอร์ วัน

พอเทคโนโลยีเริ่มพัฒนาไปมาก จนถึงปี 1983 เข้าสู่เทคโนโลยี 8 บิต เจ้าพ่อเกมพกพาอย่างนินเทนโดที่เห็นอนาคตสดใสของวงการเกมในยุคนั้น ก็ตัดสินใจผลิตเครื่องเกมรุ่นหนึ่งออกมาขายในราคาย่อมเยา เข้ามาแทนที่เครื่องเล่นเกมอย่างอาตาริ แล้วก็ทำยอดขายไปได้ถึง 60 ล้านเครื่อง เครื่องเล่นเกมนั้นใช้ชื่อว่า Family Computer (หรือเรียกย่อๆ ว่า แฟมิคอม) และก็เป็น Family สมชื่อ เพราะเกือบทุกบ้านมีเจ้าเครื่องนี้ไว้เล่นกันในครอบครัวโดยถ้วนหน้า พ่อ แม่ ลูก เล่นด้วยกันได้หมด แม้ภาพจะเป็นเหลี่ยมๆ อยู่บ้าง แต่สมัยนั้นได้แค่นี้ก็สุดยอดแล้ว เกมที่โด่งดังสุดๆ ก็มีเกมรถถัง (Battle City) เกมมอเตอร์ไซค์ เกมซูเปอร์มาริโอ้ แม้แต่หนังดังอย่างสตาร์วอร์สก็ยังเคยทำเกมมาลงในเครื่องนี้ ส่วนสุดยอดเกมทำลายมิตรภาพแห่งยุค ผมขอยกให้คอนทรา (Contra) ที่มักตีกันเวลาดึงฉาก แย่งปืน หรือยืมตัวกันเล่น หลายคนยังจำการกดสูตร 30 ตัวได้อย่างแม่นยำจนทุกวันนี้

ถกข่าว เล่าหนัง : เรดดี้ เพลเยอร์ วัน

เจ้าเครื่องนี้ยังมีคุณูปการกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยเจ้าหนึ่ง ที่ลืมตาอ้าปากได้จากการผลิตเครื่องเล่นเกม 8 บิตที่เหมือนของนินเทนโด้เปี๊ยบทั้งรูปร่าง สีสัน และระบบ แบบว่าคนญี่ปุ่นเองมาเห็นคงตกใจ อย่าไปเอ่ยชื่อบริษัทเขาเลยนะครับ ผมขี้เกียจขึ้นศาล เอาเป็นว่าชื่อยี่ห้อคล้ายๆ กับชื่อเครื่องเล่นเกมของนินเทนโด้เครื่องนี้แหละครับ ช่วงนั้นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญายังไม่แข็งแรงเหมือนตอนนี้ ตอนนี้ถ้าทำคงโดนฟ้องอวัยวะที่ใช้นั่งบานกันละครับ

เครื่องเกมคอนโซลอีกเกมที่อยากบันทึกไว้เพราะเด็กๆ อยากเล่นมากแต่ไม่มีเจ้าของเวิร์คพอยต์ (ปัญญา!) ซื้อ ก็คือ เครื่องเกม 16 บิตของ SEGA เจ้าพ่อเกมอาเขตอย่างสตรีทไฟต์เตอร์และโซนิก ที่อยากมีเครื่องเล่นเกมเป็นของตัวเอง จึงออก Megadrive มาชนกับแฟมิคอมในปี 1988 แต่ม้วนเสื่อกลับบ้านด้วยยอดขาย 6 ล้านเครื่อง คิดเป็น 10% ของยอดขายเครื่องแฟมิคอม

ภาพของ Megadrive สวยมาก ระบบเสียงก็ดี แต่ราคาเกินเอื้อมทั้งตัวเครื่องและซอฟต์แวร์เกม

ถกข่าว เล่าหนัง : เรดดี้ เพลเยอร์ วัน

กลับมาที่นินเทนโด้ เจ้าพ่อเกมยังได้ใจ ออกเครื่องเล่นเกมมาแข่งขันในตลาดอีกหลายรุ่น แต่ได้รับความนิยมไม่มากนัก อย่างเช่น Super Nintendo และ Nintendo64 ที่ใช้เทคโนโลยี 16 บิตและ 64 บิต ตามลำดับ แต่ยังมีข้อจำกัดที่เครื่องระบบใหม่ แต่ยังใช้ตลับแบบเดียวกับแฟมิคอม ตลับก็แพงแสนแพง อันนั้นคือสิ่งแรกที่นินเทนโด้พลาด

ส่วนอีกข้อที่พลาดคือ ในขณะนั้น นินเทนโด้กับโซนี่ตกลงพัฒนาส่วนเสริมให้เครื่องเล่นเกมของนินเทนโด้อ่านซีดีได้ด้วย เพราะนินเทนโด้สนใจเทคโนโลยี CD-Rom ที่โซนี่เป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่หลังจากประธานนินเทนโด้ไม่พอใจในเนื้อหาข้อตกลงในสัญญา ทำให้ยกเลิกสัญญากลางอากาศกับโซนี่ แล้วหันไปจับมือกับฟิลลิปแทน

การถูกยกเลิกสัญญากะทันหันแบบตั้งตัวไม่ทันนี้ สร้างความลำบากให้กับทางโซนี่ ผลงานวิจัยและพัฒนาถูกยกเลิกกลางอากาศ ทางบริษัทโซนี่จึงตัดสินใจนำสิ่งที่เหลือจากโครงการที่ยุบไปแล้วมาพัฒนาต่อเป็นเครื่องเกมคอนโซลแบบเดี่ยว ทางนินเทนโด้ฟ้องร้องขอให้ศาลสั่งให้โซนี่ระงับการพัฒนา แต่ศาลไม่รับฟ้อง ในที่สุดในปี 1991 ก็เกิดเครื่องเล่นเกมที่พลิกโฉมวงการเกมในยุคนั้น ที่พอออกขายแล้วทำยอดจำหน่ายได้ 100 ล้านเครื่อง เครื่องเกมนั้นชื่อว่า เพลย์สเตชั่น

 

ถกข่าว เล่าหนัง : เรดดี้ เพลเยอร์ วัน

ความสำเร็จของเครื่องเพลย์สเตชันเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการสิ้นสุดของยุคเกมแบบใช้ตลับ และเป็นเครื่องเกมแบบใช้แผ่นซีดีเครื่องแรกที่ประสบความสำเร็จ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ซีดีเป็นที่นิยมในหมู่ผู้พัฒนาเกม อันเนื่องมาจากรูปแบบของเกมได้มีการพัฒนาขึ้น และซับซ้อนมากกว่าเกมยุคก่อน ในขณะที่ตลับเกมมีเนื้อที่จำกัด แต่ซีดีรอมมีความจุมากกว่า ความจุที่มากกว่านี้ช่วยให้ผู้พัฒนาเกมสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ลงในเกมได้มากขึ้น เช่น การใส่ภาพยนตร์สั้น ๆ ลงในเกม คุณภาพเสียงที่ดีขึ้น รวมทั้งซีดีรอมนั้นผลิตได้ง่ายกว่าและถูกกว่าตลับเกม

ในยุค 90 ไม่มีเด็กคนไหนไม่รู้จักหรือไม่เคยเล่นเครื่องเพลย์สเตชั่น คำคุ้นหูเวลาวัยรุ่นที่ไม่พอใจกันท้าทายกันคือ “วินนิ่งมั้ยสาดดดด” ซึ่งหมายถึงการท้าไปเอาชนะกันในเกมฟุตบอลยอดนิยมอย่าง Winning Eleven (ที่คนไทยเก่งถึงขนาดเขียนโค้ดใส่ทีมชาติไทยและเสียงพากย์ไทยลงไปในเกมได้ในเวอร์ชั่นต่อมา เราจึงมีปิยะพงษ์ ผิวอ่อนและตะวัน ศรีปานให้เลือกใช้ในยุคนั้น) เกมสุดหลอนต้นกำเนิดภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ถึง 7 ภาคอย่าง Resident Evil (มีอีกชื่อคือ Biohazard) หรือเกมที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังแฟรนไชส์ Fast&Furious อย่างเกม Need For Speed ก็เริ่มมาลงเครื่องเกมกันตอนนี้นี่เอง หลังจากที่อยู่แต่ในคอมพิวเตอร์มานาน

ถกข่าว เล่าหนัง : เรดดี้ เพลเยอร์ วัน

จากนั้นโซนี่ก็ติดใจตลาดเกมคอนโซล และพัฒนาเวอร์ชั่นต่อมาของเครื่องเพลย์สเตชั่นจนตอนนี้ออกมาถึงรุ่นที่ 4 ที่ใช้ฮาร์ดดิสก์เก็บข้อมูลแทน โดยมีเอ็กซ์บ็อกซ์ (XBOX) เอ็กซ์บ็อกซ์360 (XBOX360) และเอ็กซ์บ็อกซ์ วัน (XBOX One) ของไมโครซอฟต์ตามมาไม่ใกล้ไม่ไกล

ถกข่าว เล่าหนัง : เรดดี้ เพลเยอร์ วัน

ส่วนนินเทนโด้มาแก้ตัวได้ในยุคหลังๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวคิดการออกแบบเครื่องเล่นเกม เลิกคิดเกมประเภทบ้าพลัง ชิเงรุ มิยาโมโต้ ผู้บริหารนินเทนโด้และยังเป็นผู้คิดค้นเกมมาริโอ้ให้ภาษณ์ว่า "เป็นที่ยอมรับกันว่า พลังประมวลผลของเครื่องเล่นเกม ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของเครื่องเล่นเกม เราไม่สามารถมีเครื่องทรงพลังหลายๆ เครื่องแข่งขันกันเอง มันก็เหมือนกับมีแต่ไดโนเสาร์ดุร้าย ที่ต่อสู้กันเองจนสูญพันธุ์ไปหมด" นินเทนโด้เน้นไปที่เครื่องเล่นเกมสำหรับครอบครัวเหมือนที่แฟมิคอมเคยเป็นมา โดยพัฒนาคอนโทรลเลอร์เกมไร้สาย เรียกว่า Wii Remote ให้ใช้งานคู่กับแถบเซ็นเซอร์ แล้วให้ผู้เล่นต้องออกแรงเหวี่ยงคอนโทรลเลอร์ไปมาเพื่อเล่นเกม ใช้ชื่อว่าเครื่อง Wii เมื่อออกขายในปี 2006 ก็ทำยอดไปได้ 101 ล้านเครื่อง โดยมีเกม Wii Sport ได้รับความนิยมสูงสุด

ปัจจุบันผมยังมี Wii อยู่ในห้องนอน เอาไว้ออกกำลังเล็กๆ น้อยๆ เวลาไม่ได้ไปฟิตเนส ส่วนรุ่นล่าสุดของนินเทนโด้อย่าง Nintendo Switch เน้นไปในแนวทางของเกมคอนโซลที่สามารถถอดออกไปเล่นเป็นเกมพกพาได้ด้วยทุกที่ ดูเหมือนจะเกินความจำเป็นสำหรับผมที่เล่นเกมในสมาร์ทโฟนกับแท็บเล็ตเอาก็ได้เวลาออกนอกบ้าน

ถกข่าว เล่าหนัง : เรดดี้ เพลเยอร์ วัน

นั่นคือเรื่องราว (โดยย่อ เพราะถ้าจะเขียนถึงเรื่องเกมให้ครบๆ คงต้องขอตัวลาไปทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะเยอะเหลือเกิน) ของเกมและเครื่องเล่นเกมตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แล้วในอนาคตล่ะ เกมจะพัฒนาไปทางไหนอย่างไร

 

ภาพยนตร์เรื่องเรดดี้ เพลเยอร์ วัน มีคำตอบครับ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ กำกับการแสดงโดยพ่อมดฮอลลีวู้ด สตีเว่น สปิลเบิร์ก นำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกอนาคตปี 2045 ซึ่งเป็นโลกยุคดิสโทเปีย บ้านเมืองเสื่อมโทรม อาชญากรรมล้นเมือง ผู้คนอดหยาก ทรัพยากรธรรมชาติใกล้จะหมดเต็มที ผู้คนจึงหาความสุขเพื่อให้ลืมโลกความจริงอันยากลำบากด้วยการเข้าไปเล่นเกมหรือทำงานอยู่ในโลกเสมือนจริงที่ชื่อว่าโอเอซิส ซึ่งผู้เล่นจะต้องสวมแว่นเวอร์ช่วลเรียลลิตี้ เพื่อไปปรากฏตัวในรูปแบบของอวาตาร์ที่ตัวเองสร้างขึ้น และต้องขยับร่างกายตามเหมือนกำลังทำสิ่งนั้นอยู่จริง หนังแบ่งออกเป็นสองส่วน คือโลกจริงและโลกเสมือนจริง โดยการถ่ายทำในโลกเสมือนจริงใช้การถ่ายแบบโมชั่นแคปเจอร์ เหมือนที่สปิลเบิร์กเคยใช้ในหนังเรื่อง The Adventure of Tin Tin และเจมส์ คาเมรอนใช้ใน Avatar

ในโอเอซิสนั้นเป็นศูนย์รวมของสิ่งต่างๆ ในยุค 80 และ 90 ตามความชอบของเจมส์ ฮอลลิเดย์ ผู้สร้างโลกโอเอซิส (มาร์ค ไรแลนซ์ ผู้ชนะรางวัลออสการ์จากหนังของสปิลเบิร์กเรื่อง Bridges of Spies)

เวด วัตต์ (นำแสดงโดย ไท เชอริแดน นักแสดงมากความสามารถที่มีผลงานคุ้นตาเช่น การรับบทไซคลอปสมัยวัยรุ่นใน X-Men : Apocalypse และเคยประกบกับซาร่า มาลากุล เลยใน Scouts Guide to the Zombie Apocalypse) เวดเป็นเด็กชายกำพร้าวัย 18 ที่เข้าไปอยู่ในโอเอซิสโดยใช้ชื่อว่าพาร์ซิวัล เขาแตกต่างจากคนอื่นตรงที่เวลาอยู่นอกเกม เขาสนใจหาความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในเกมจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อผู้สร้างโลกเสมือนจริงแห่งนี้เสียชีวิตไป เขาประกาศที่จะยกโอเอซิสให้แก่ผู้ใดก็ตามที่ค้นพบกุญแจ 3 ดอกที่ซ่อนอยู่ในโอเอซิส ซึ่งต้องเสาะหาผ่านคำใบ้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นที่นิยมในยุค 80 และ 90 และปรากฏว่าเวดกลายเป็นคนที่พบกุญแจดอกแรก และทำให้ชีวิตเขาต้องตกอยู่ในอันตรายในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อบริษัทแอลโอแอล (IOI – ชื่อบรืษัทเหมือนเลขฐานสองที่เป็นภาษาพื้นฐานของคอมพิวเตอร์) และซอร์เรนโต้ (รับบทโดยเบน เมนเดลชอน ตัวร้ายฝ่ายจักรวรรดิใน Roque One : A Star Wars Story) เจ้าของบริษัทจอมวายร้ายที่ไม่ยอมให้ใครมาขวางการยึดครองโอเอซิสเพื่อนำไปหาประโยชน์ทางธุรกิจ

เวดจึงต้องร่วมกับเพื่อนสาวคู่ใจ Art3Mis (รับบทโดยโอลิเวีย คุก) ผู้มีฉายาว่า นักฆ่าไอโอไอ และเพื่อนคนอื่นๆ เพื่อขัดขวางการยึดครองโอเอซิสให้ได้

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากจากนิยายชื่อดังของเออร์เนสต์ ไคลน์ ที่เหมือนนำโครงเรื่องของชาร์ลีกับโรงงานช็อคโกแลต (ยังจำวิลลี่ วองก้ากันได้อยู่ใช่ไหม) มาผสมกับเรื่องราวโลกเสมือนจริง และใช้ลูกเล่นของป็อบคัลเจอร์ในยุค 80-90 เข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญ

ถกข่าว เล่าหนัง : เรดดี้ เพลเยอร์ วัน

หนังเรื่องนี้จึงตอบสนองคนสองรุ่นพร้อมๆ กัน คนที่อยู่ในยุค 80 และ 90 ก็จะตื่นตาตื่นใจกับสารพัดป็อบคัลเจอร์ในหนังที่ใส่เข้ามาแบบไม่บันยะบันยัง (แม้จะโดนสปิลเบิร์กตัดออกไปพอสมควรแล้ว ทั้งเรื่องความเหมาะสมและปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์) และเกมเก่าๆ บางเกมที่โผล่ออกมามีบทบาทสำคัญในหนังเป็นระยะ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ๆ ก็ได้เห็นการเล่นเกมในอนาคตที่ไม่ไกลตัวเท่าไหร่นัก เพราะทุกวันนี้เกมระบบเวอร์ช่วลเรียลลิตี้ก็มีให้เล่นกันหลายที่ แม้จะอยู่ในขั้นกำลังพัฒนาก็ตาม อีกทั้งโอเอซิสยังเหมือนการหลอมรวมโลกของเกมกับโซเชียลมีเดียเข้าด้วยกัน การมีปฏิสัมพันธ์ในเกมเหมือนกับเราได้เข้าไปพูดคุยกับเพื่อน สามารถสัมผัสกันได้แบบเสมือนจริง เป็นโลกที่คนรุ่นใหม่ “อิน” ตามไปได้ไม่ยากนัก

สำหรับคนที่บ้าทั้งหนัง รักทั้งเกม และเติบโตมาในยุค 80-90 อย่างผมนี่ไม่ต้องพูดถึง แค่เห็นเทรลเลอร์ตัวแรกก็กรี๊ดแตกสาแหรกขาดไปแล้ว อาการนี้เคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งกับ Wreck-It-Ralph อะนิเมชั่นว่าด้วยโลกในเกมของดิสนีย์ ขนาดหนังเรื่องนั้นเป็นหนังรวมตัวละครจากเกมอาเขตไม่มากนัก แล้วนี่เจอขุมสมบัติในเรดดี้เพลเยอร์วันเข้าไป จะทนไหวได้อย่างไร

ยกตัวอย่างบางส่วนของไอคอนยุคป็อบคัลเจอร์ 80-90 ที่มีอยู่ในหนังให้ฟังพอหอมปากหอมคอ เราจะได้เห็นกันดั้ม RX-78 สามใบเถาสยองขวัญอย่างชัคกี้ / เฟรดดี้ / เจสันศุกร์ 13 ลาร่า ครอฟต์ ชุนลี โจ๊กเกอร์และฮาร์ลี ควินน์ เดธสโครค มอเตอร์ไซค์ล้ำยุคสีแดงใน Akira รถเดอโลเรนใน Back to The Future แถมยังโมด้วยไฟวิ่งด้านหน้าแบบ KITT รถพูดได้ประจำตัวพระเอกในซีรีส์อัศวินคอมพิวเตอร์ มีรถจากแมดแม็กซ์ภาคแรก รถแบทแมนยุคหนังทีวี รถจากซีรีส์ A-Team คิงคองกับเจ้าทีเรกซ์ก็ยังมา และอีกเยอะมาก แนะนำว่าถ้าจะดูให้หมด ระหว่างที่อยู่ในโอเอซิสกรุณาอย่ากระพริบตา!

น่าเสียดายที่ตกลงเรื่องลิขสิทธิ์กันไม่ได้ อุลตร้าแมนซึ่งปรากฏตัวบ่อยครั้งในหนังสือ จึงไม่มีให้เห็นในเวอร์ชั่นหนัง กลายเป็น Giant Robot แทน

แม้จะเป็น “ของเด็ด” ของหนัง แต่สังเกตดีๆ จะเห็นว่าแต่ละคาแรคเตอร์หรือส่วนประกอบต่างๆ เช่น รถยนต์ที่รวบรวมไว้ในหนังนั้น ล้วนอยู่ต่างค่ายต่างที่ คาแรคเตอร์บางตัวเป็นของญี่ปุ่นด้วยซ้ำ การจะรวบรวมขอลิขสิทธิ์มาใช้ในหนังจึงเป็นเรื่องยากและซับซ้อน สปิลเบิร์กกับโปรดิวเซอร์คริสตี้ มาคอสโก้ใช้เวลาหลายปีว่าจะขอลิขสิทธิ์ตัวละครที่จะใช้ในหนังมาได้ครบ

ถ้าไม่ใช่สปิลเบิร์ก ผู้ทรงอิทธิพลแห่งฮอลลีวู้ดไปขอ อาจจะได้มาไม่ครบ

ไม่รู้เป็นเพราะเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้สปิลเบิร์กถึงกับออกปากว่า หนังเรื่องนี้สร้างยากที่สุด ตั้งแต่ทำ Saving Private Ryan มา

และไม่รู้เพราะสาเหตุนี้หรือเปล่า ผู้กำกับที่มีชื่อเกี่ยวพันกับโปรเจ็คต์นี้จึงไม่มีใครได้กำกับซักคน ตั้งแต่คริสโตเฟอร์ โนแลน (Batman Trilogy) โรเบิร์ต เซเมกคิส (Back to The Future Trilogy) แมทธิว วอห์น ปีเตอร์ แจ็คสัน และเอ็ดการ์ ไรต์  ต้องเสด็จพ่อมาเอง!

ถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว ไม่มีใครเหมาะจะกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้มากเท่าสปิลเบิร์ก เพราะสปิลเบิร์ก เองก็เป็นเด็กเนิร์ดคลั่งเทคโนโลยี และเป็นคนที่ผลิตป็อบคัลเจอร์ป้อนยุค 80 กับ 90 มามากมาย อย่างไรก็ตาม สปิลเบิร์กหลีกเลี่ยงอย่างมากที่จะเอาผลงานตัวเองมาใส่ไว้หนัง ในหนังจึงมีเพียงทีเร็กซ์ รถเดอโลเรน และอีกไม่กี่อย่างเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับเขา

เพลงประจำยุคที่เต็มไปด้วยซินธิไซเซอร์อย่าง Take On Me ของ A-Ha และ Jump ของ Van Halen ก็ใส่เข้ามาในนี้ด้วย ไปฟังเพลงประกอบก็คุ้มแล้วสำหรับวัยรุ่นยุค 90 อย่างผม เสียดายแค่จอห์น วิลเลี่ยม คนทำเพลงคู่ใจสปิลเบิร์กติดทำหนังอีกเรื่อง (ก็ของสปิลเบิร์กแหละ!) อลัน ซิลเวสทรี่จึงมารับหน้าที่ทำดนตรีประกอบแทน

แล้วถ้าไม่ได้สนใจ “ของเด็ด” พวกนี้ (ฉันเกิดไม่ทันจ้า) จะดูหนังสนุกไหม

สนุกครับ รับรองได้ว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้คุณชอบ เพราะเรื่องราวในหนังแม้ตัดส่วนประกอบ “โหยหาอดีต” ออกก็ยังสนุก ระดับพ่อมดฮอลลีวู้ดไม่ทำให้เราผิดหวังแน่

“ผมทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อให้ทุกๆ คนมีความสุข” สปิลเบิร์กว่าไว้

related