svasdssvasds

ขับรถลุยน้ำเสียชีวิต ความผิดใคร

ขับรถลุยน้ำเสียชีวิต ความผิดใคร

ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ นักธุรกิจสาวขับรถออกจากหมู่บ้าน โดยลุยน้ำลงไปยังอุโมงค์ลอดทางรถไฟแต่รถไปไม่รอด เหตุโดยน้ำท่วมจนต้องเสียชีวิต เรื่องนี้กลายเป็นคำถามว่าใครผิด ใครต้องรับผิดชอบ

กลางดึกวันที่ 5 กันยายน ต่อเนื่องเช้าวันที่ 6 กันยายน สภาพภูมิอากาศหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ซึ่งพื้นที่เขตประเวศ ก็ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นที่มีปริมาณน้ำท่วมขังซึ่งมันเป็นภาพที่คุ้นชินตาคนเมืองหลวง เช่นเดียวกับ น.ส.ภาณุมาศ แซ่แต้ อายุ 41 ปี กรรมการผู้จัดการบริษัทเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ที่มองว่าฝนที่ตกลงมาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการออกไปทำธุระนอกบ้านของเธอ เพราะคืนนี้พาหนะที่ใช้ก็เป็นรถกระบะที่สามารถลุยน้ำท่วมขังได้ดีกว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั่วๆไป

ขับรถลุยน้ำเสียชีวิต ความผิดใคร

00.35 น.ของวันที่ 6 กันยายน น.ส.ภาณุมาศ ตัดสินใจขับรถกระบะ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮลักซ์ รีโว่ ทะเบียน 7กต 2080 กรุงเทพมหานคร ออกจากบ้านพักในหมู่บ้านโกลเด้นนครา ซึ่งเป็นหมู่บ้านหรูที่ตั้งอยู่ริมถนนคู่ขนานมอเตอร์เวย์ ฝั่งขาเข้า ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 3 +800 เพื่อไปทำธุระนอกบ้าน แต่เนื่องจากหมู่บ้านนี้ อยู่หลังแนวของรถไฟสายตะวันออก ทำให้หมู่บ้านต้องใช้วิธีเจาะอุโมงค์ลอดทางรถไฟ เพื่อเชื่อมทางเข้าออกของหมู่บ้านกับถนนคู่ขนานมอเตอร์เวย์ เส้นทางนี้น.ส.ภาณุมาศ และคนในหมู่บ้านต่างก็ใช้เป็นเส้นทางเข้าออกหมู่บ้านเป็นประจำ แต่ใครจะคาดคิดว่าการขับรถออกจากบ้านพักของ น.ส.ภาณุมาศ ครั้งนี้จะเป็นการออกจากบ้านโดยไม่มีวันกลับมา

00.40 รถกระบะของ น.ส.ภาณุมาศ ขับมาถึงอุโมงค์ลอดทางรถไฟ แต่ครั้งนี้ภายในอุโมงค์มีระดับน้ำท่วมขัง แต่ไม่ได้มีสัญญาบอกเหตุใดๆที่ทำให้ น.ส.ภาณุมาศ ต้องเลิกล้มความตั้งใจ เธอจึงตัดสินใจขับรถกระบะ ลุยน้ำเข้าไปภายในอุโมงค์ แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อระดับน้ำภายในอุโมงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รถกระบะ ของ น.ส.ภาณุมาศ จมน้ำ เครื่องยนต์ดับ

00.43 น.ส.ภาณุมาศ ตัดสินใจโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนและญาติในหมู่บ้าน เพราะเธอไม่สามารถเปิดประตูออกมาจากรถได้ ประกอบกับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ น.ส.ภาณุมาศ ซึ่งายน้ำไม่เป็นตัดสินใจนั่งอยู่ในรถเพื่อรอความช่วยเหลือ

00.46 เพื่อนและญาติที่ น.ส.ภาณุมาศ โทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือ พยายามติดต่อโทรศัพท์กลับไปหา น.ส.ภาณุมาศ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ และเมื่อมาถึงอุโมงค์ลอดทางรถไฟ ซึ่งเป็นจุดที่ น.ส.ภาณุมาศ แจ้งขอความช่วยเหลือ ก็พบว่าระดับน้ำเพิ่มขึ้นสูงจนไม่สามารถมองเห็นภายในอุโมงค์ได้ เมื่อเพื่อนและญาติของ น.ส.ภาณุมาศ เห็นสถานการณ์เป็นแบบนี้ จึงรีบโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือจากตำรวจและหน่วยกู้ภัยป่อเต็กตึ๊ง การระดมทีมกู้ภัยและทีมค้นหาใต้น้ำจึงเริ่มขึ้นทันที

ขับรถลุยน้ำเสียชีวิต ความผิดใคร

02.00 หลังใช้เวลาค้นหานานเกือบ 1 ชั่วโมง ในที่สุดทีมนักประดาน้ำ ก็พบร่างของ น.ส.ภาณุมาศ เสียชีวิตอยู่ภายในรถกระบะ ตำรวจ สน.ประเวศ ประสานแพทย์และหน่วยเกี่ยวข้อง เข้าชันสูตรพลิกศพในเบื้องต้น ก่อนจะส่งศพไปตรวจพิสูจน์หาสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างละเอียดที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ควบคู่กับการหาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าเพราะเหตุใดระดับน้ำในอุโมงค์ลอดทางรถไฟของหมู่บ้านถึงได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการสืบสวนหาข้อเท็จจริงที่สังคมตั้งข้อสงสัย ว่าการขับรถลุยน้ำจะมีอันตรายจนทำให้คนขับเสียชีวิตได้จริงหรือไม่

ขับรถลุยน้ำเสียชีวิต ความผิดใคร

7 ก.ย.2561 นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผอ.เขตประเวศ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตประเวศ เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมสอบถามผู้เกี่ยวข้อง พบว่าหากระดับน้ำเต็มอุโมงค์ จะมีความจุ 1,971 ลูกบาศก์เมตร เพราะอุโมงค์นี้มีความยาว 95.4 เมตร และมีจุดที่ลึกที่สุดถึง 3 เมตร กินระยะทางยาว 8 เมตร กว้าง 10 เมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบว่าน้ำจำนวนมหาศาลมาจากไหน เพราะจากการตรวจสอบบ่อซัมหรือบ่อสำหรับพักน้ำที่อยู่ใต้ดิน พบว่ามีความลึก 10 เมตร กว้าง 5.5 เมตร และมีความยาว6.5 เมตร ซึ่งพบว่ามีน้ำที่มีลักษณะเน่าเหม็นอยู่ในบ่อประมาณ 357.5 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งแตกต่างจากน้ำที่เข้าท่วมรถกระบะของ น.ส.ภาณุมาศ อีกทั้งปริมาณน้ำที่บ่อพักน้ำก็มีปริมาณน้อย

ขับรถลุยน้ำเสียชีวิต ความผิดใคร

ในส่วนของตำรวจทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้แต่งตั้ง พล.ต.ต.สมพงษ์ ชิงดวง รองผบช.น.(ในขณะนั้น) เข้ามาควบคุมคดี พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสรุปหาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยครั้งนี้ตำรวจประสาน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบหาสาเหตุ ควบคู่การการเดินหน้าสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะเข้าข่ายเป็นการทำผิดกฎหมายหรือไม่

ขับรถลุยน้ำเสียชีวิต ความผิดใคร

30 ก.ย.2561 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีน้ำท่วมอุโมงค์ลอดทางรถไฟ สรุปผลการสอบสวนว่าเป็นความประมาทเลินเล่อ จากการกระทำผิดของผู้เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ นิติบุคคลและผู้จัดการหมู่บ้านที่ปล่อยปละละเลย ไม่ดูแล ซ่อมแซม อุโมงค์และระบบระบายน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ปกติ และผู้ที่กระทำผิดอีกกลุ่มคือ พนักงานรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านที่ไม่เฝ้าระวังปล่อยให้ น.ส.ภาณุมาศขับรถลงไปในอุโมงค์ ทั้งที่ก่อนเกิดเหตุ ได้มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของลูกบ้าน ลุยน้ำและเข้าไปจอดเสียอยู่ในอุโมงค์ เมื่อทราบว่าจะเป็นอันตรายต่อลูกบ้านแต่่ไม่มีการปิดกั้นพื้นที่ หรือแจ้งเตือนลูกบ้านแต่กลับไปนั่งประจำอยู่ในป้อม รปภ.ปล่อยให้ลูกบ้านเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงอันตราย

ขับรถลุยน้ำเสียชีวิต ความผิดใคร

ศ.ดร.สุชัชวีร์ อธิการบดี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ระบุว่าจากการตรวจสอบที่เกิดเหตุ เชื่อว่ามีน้ำรั่วเข้าตามแนวท่อลงบ่อสูบน้ำที่อาจทรุดตัว ทำให้พบตะกอนโคลนทรายในบ่อพักน้ำจำนวนมาก จนไม่สามารถสูบน้ำออกจากอุโมงค์ได้ หลังจากนี้ จะต้องมีการเปิดหน้าดินเพื่อซ่อมแซมแนวท่อสูบน้ำใหม่ สำหรับ วิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ ลักษณะนี้ในอุโมงค์อื่น ผู้เกี่ยวข้องต้องติดตั้ง เซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับน้ำในอุโมงค์ และบ่อพักน้ำในอุโมงค์ พร้อมติดตั้งไม้กั้น หากในอุโมงค์มีน้ำท่วมขัง จะต้องห้ามไม่ให้พาหนะหรือใครเข้าไปในพื้นที่ ชณะเดียวกัน ต้องมีการตรวจความพร้อมของอุโมงค์ ตามวงรอบเป็นประจำ ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนอาจต้องมีการตรวจสอบทุกวันเพื่อความปลอดภัย

ขับรถลุยน้ำเสียชีวิต ความผิดใคร

พล.ต.ต.สมพงษ์ ตอบข้อสงสัยของสังคมที่ตั้งข้อสังเกตุว่าเมื่อน้ำเริ่มเข้าไปในรถครึ่งคัน แล้วทำไม น.ส.ภาณุมาศ ไม่เปิดประตูรถหนีออกมา พล.ต.ต.สมพงษ์ อธิบายว่า จากการสอบสวนเพื่อนและญาติของ น.ส.ภาณุมาศ รวมถึงทีมกู้ภัย ทำให้ทราบว่าขณะเกิดเหตุน้ำเริ่มซึมเข้ามาในรถได้ครึ่งคัน เป็นเหตุให้ น.ส.ภาณุมาศ ไม่สามารถเปิดประตูรถออกมาได้เนื่องจากน้ำที่อยู่โดยรอบตัวรถมีแรงดันหากอยู่ในอาการตกใจและไม่เคยได้รับการฝึกเพื่อเอาชีวิตรอด ก็ยากที่จะเปิดประตูได้ตามลำพัง

related