svasdssvasds

วลีร้อน "บิ๊กแดง" "ปฏิวัติไม่เกิดหากไม่มีจลาจลการเมือง"

วลีร้อน "บิ๊กแดง" "ปฏิวัติไม่เกิดหากไม่มีจลาจลการเมือง"

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

วลีร้อน "บิ๊กแดง" "ปฏิวัติไม่เกิดหากไม่มีจลาจลการเมือง" เปิดปมสาเหตุคนไทยไม่ชอบ"รัฐประหาร"

กลายเป็นประเด็นร้อนชั่วข้ามคืน สำหรับคำพูดของ "บิ๊กแดง" พล..อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ กับประโยคที่ว่า ปฏิวัติจะไม่เกิด หาก "การเมือง" ไม่เป็นต้นเหตุการจลาจล

ไม่เพียงเฉพาะนักการเมืองในซีกพรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมนปช.เท่านั้น ที่ออกโรงตอบโต้กลับและวิจารณ์ใส่ผบ.ทบ.ทำนองสะท้อนแนวคิดข่มขู่เรื่องปฏิวัติ และมักใช้การสมคบคิดสร้างสถานการณ์ขึ้นโดยคนบางกลุ่ม ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทยและนปช. ที่สุดท้ายมักกลายเป็นลานประหารของฝั่งเสื้อแดง

แต่ยังรวมไปถึงนักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัยอีกหลายคน ที่เรียงหน้ากันออกมา"จัดหนัก"ถึงขั้นสอนมวยก็มี โดยเฉพาะเรื่องการเป็นทหารอาชีพ กินภาษีประชาชน จึงควรต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง!

เรียกว่า กลายเป็นเป้า"กระสุนตก" ไปพร้อมๆกับ"บิ๊กตู่"พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีเปิดเพจใหม่ Prayut  Chan-o-cha แล้วโดนนักเลงคีย์บอร์ด และฝ่ายที่ "ไม่เอาบิ๊กตู่" สามัคคีรุมกระหน่ำทั้งทีจริงและทีเล่น ต้อนรับแอดมินคนใหม่จนน่วม

วลีร้อน "บิ๊กแดง" "ปฏิวัติไม่เกิดหากไม่มีจลาจลการเมือง"

แม้นว่าความจริง การพูดเรื่องปฏิวัตินั้น เกิดจากการถามเพิ่มเติมของผู้สื่อข่าว ระหว่าง"บิ๊กแดง"ให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงแนวนโยบายในฐานะผบ.ทบ.คนใหม่อย่างเป็นทางการครั้งแรกๆหลังได้รับโปรดเกล้าฯรับตำแหน่ง ในโอกาสการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก เป็นวาระพิเศษเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา

จึงกลายเป็นเรื่องถูกตีความและขยายผล ปนเปในลักษณะจับแพะชนแกะ สร้างความกังวลให้ผู้คน จนกลายเป็นหัวข้อสนทนาหลักตามสภากาแฟทั่วๆไป เนื่องจากขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเดินหน้าตามโรดแม็ปเข้าสู่การนับถอยหลังเลือกตั้ง ช่วงต้นปี 2562

กระทั่งคนจำนวนไม่น้อย ไปตีความหมายว่า แทนที่จะมีการเลือกตั้ง ส.. ต้นปีหน้ากลับจะมีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นแทน

เพราะคำว่า "ปฏิวัติ" หรือ "รัฐประหาร" ถือเป็นหนึ่งในวงจรอุบาทว์ของวัฏจักรการเมืองไทยที่วนเวียนเกิดขึ้นไม่รู้จบ คือ มีการเลือกตั้ง ส.. แล้วได้รัฐบาลที่มาจากผู้ชนะเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลเข้าบริหารประเทศก่อนเกิดการทุจริตคอรัปชั่นและจบลงด้วยการยึดอำนาจทำการรัฐประหารโดยผู้นำในกองทัพ

แม้นว่าบางส่วนอาจมองว่า การทำรัฐประหารโดยคนในกองทัพ  จะเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการสะสางความสกปรกไม่ถูกต้องให้หมดไปเพื่อปัดกวาดประเทศชาติให้สะอาดผ่องใส

แต่ในประวัติศาสตร์ของไทยในช่วงที่ผ่านๆมา ก็มีหลายครั้ง ที่ผู้นำในกองทัพทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือแม้แต่บางครั้ง รัฐประหารรัฐบาลตนเองก็เคยมี แต่หลังจากการเข้าสู่อำนาจ มักจะเสพติดการเป็นผู้มากบารมี  และใช้กฏหมายหรือคำสั่งพิเศษที่มักจะเกิดขึ้นทุกครั้งหลังรัฐประหารไปจัดการกับฝ่ายที่แข็งข้อหรืออยู่ฝ่ายตรงข้ามแบบขุดรากถอนโคนรวมทั้งวางแผนสืบทอดอำนาจซึ่งมีให้เห็นตลอด

โดยเฉพาะการจัดตั้งพรรคทหาร หรือพรรคเพื่อทหาร หรือพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของผู้นำทหารที่ก่อการรับประหาร

ทำให้ประชาชนเกิดความเข็ดขยาด ไม่ชอบ ถึงขั้นฝังจิตฝังใจ และนำไปสู่การต่อต้านในที่สุดได้

หากย้อนหลังกลับไป นับตั้งแต่อภิวัฒน์การเมืองไทย ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มีเหตุการณ์รัฐประหารเกิดขึ้นทั้งหมด 13 ครั้ง นับตั้งแต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เข้าสู่อำนาจได้เพียง 2 เดือนกว่า การรัฐประหารครั้งแรกก็เกิดขึ้น

หลังจากนั้น การรัฐประหาร มีเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ส่วนมากเกิดจากการแย่งชิงอำนาจ หรือกระชับอำนาจของฝ่ายตนต่อไป ครั้งสุดท้ายที่มีการรัฐประหาร คือ คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

อย่างที่กล่าวไว้แทบทุกครั้งหลังการยึดอำนาจ มักจะตามด้วยการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่แข็งขืนตลอดจนกลุ่มหรือคณะที่มีแนวโน้มจะเป็นปัญหาสำหรับคณะผู้ก่อการรวมไปถึงกระทั่งประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่แต่ต้องพลอยฟ้าพลอยฝนตามแนวนโยบายของผู้เข้ายึดอำนาจ

อย่างเมื่อครั้ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมีส่วนร่วมตั้งแต่เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 / การรัฐประหารในเดือนมิถุนายน 2476 และจัดการกับกบฏพระยาทรงสุรเดช ในปี 2482 ได้ใช้นโยบายสร้างชาติ โดยเปลี่ยนแปลงประเพณีวัฒนธรรมเดิมๆของไทยหลายอย่างด้วยเหตุผลเพื่อให้เกิดความทันสมัย อาทิ สั่งประชาชนเลิกนุ่งผ้าม่วง-เสื้อราชปะแตน-โจงกระเบนให้นุ่งกางเกงขายาวใส่หมวกสวมรองเท้าแทนและที่สำคัญให้เลิกกินหมากสร้างความเกลียดชังต่อตายายปู่ย่าในสมัยนั้นอย่างยิ่ง

ครั้นหลังการรัฐประหาร จอมพล ป. โดย จอมพล สฤดิ์ ธนะรัชต์ หลังเกิดการชุมนุมประท้วงคัดค้านผลการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกและมีการโกงมากที่สุด ในช่วงแรกๆ จอมพลสฤษดิ์กลายเป็นวีรบุรุษและขวัญใจประชาชน แต่หลังการผ่องถ่ายอำนาจให้ พลโทถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น)ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วเกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงภายใน ในปีถัดมา จึงร่วมมือกับ พลโทถนอม รัฐประหารรัฐบาลตนเอง และก้าวขึ้นสู่อำนาจเต็มตัวในฐานะนายกรัฐมนตรี

นอกจากนโยบายห้ามเสพและจำหน่ายฝิ่น ปราบปรามผู้มีอิทธิพล ตลอดจนใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2502 จัดการขั้นเด็ดขาดกับผู้ลอบวางเพลิงในกรุงเทพฯและธนบุรี พร้อมวลีอมตะ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" แล้ว ยังขยายผลการใช้มาตรา 17 และกฎหมายคอมมิวนิสต์ ประหารชีวิตผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยด้วยข้ออ้างเพื่อความมั่นคงของชาติ โดยไม่ผ่านขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรม ในจำนวนนี้รวมทั้ง ครอง จันดาวงศ์ อดีต ส..สกลนคร ยุคแรก เจ้าของวลี "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ

สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร รัฐประหารรัฐบาลตนเองในปี 2514 การบริหารประเทศเต็มไปด้วยข้อกล่าวหามากมาย รวมถึงการทุจริตคอรัปชั่น  เกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสาวไส้เครือข่ายผู้มีอำนาจ อย่างกรณีเฮลิคอปเตอร์ของคณะนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พร้อมดาราสาว ตกที่นครปฐม หลังจากนำอาวุธสงครามเข้าไปล่าสัตว์ป่าภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีหลักฐานมัดตัวแน่นหนา คือซากสัตว์ป่าจำนวนหนึ่ง แต่ผู้นำประเทศอ้างว่า ไปปฏิบัติภารกิจลับ ดูแลคุ้มครองนายพลเนวิน ผู้นำรัฐบาลพม่าในขณะนั้น

นำไปสู่การตีพิมพ์หนังสือ "บันทึกลับทุ่งใหญ่" เปิดโปงขบวนการการล่าสัตว์ป่าคุ้มครองอย่างอุกอาจโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง

ต่อมา เมื่อนิสิตนักศึกษาและอดีต ส..รวม  13 คนถูกตำรวจสันติบาลและนครบาลเข้าจับกุมเมื่อ 6 ตุลาคม 2516 หลังมีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ พร้อมถูกตั้งข้อหา มั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน นำไปสู่การรวมตัวชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน และเกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ที่รัฐบาลจอมพลถนอมสั่งการให้ใช้อาวุธสงครามปราบปรามผู้ชุมนุมในที่สุด

นี่เป็นส่วนหนึ่งของหลายเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่ส่งผลให้ประชาชนคนไทยจำนวนไม่น้อย ไม่นิยมชมชอบคำว่า “รัฐประหาร”

related