svasdssvasds

ปรากฎการณ์ “ย้ายพรรค-ฝุ่นตลบ” แค่จุดเริ่มต้น ของจริงต้องวันเลือกตั้ง

ปรากฎการณ์ “ย้ายพรรค-ฝุ่นตลบ” แค่จุดเริ่มต้น ของจริงต้องวันเลือกตั้ง

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

การโยกย้ายพรรคการเมืองของนักการเมืองยุคสมัยเดินหน้าสู่การปฏิรูป เป็นไปอย่างโกลาหลอลหม่าน แม้นผู้คนส่วนหนึ่งจะพยายามทำใจไว้แล้วว่าเป็นธรรมชาตินักการเมืองไทยก็ตาม

พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ดูจะได้รับผลกระทบมากที่สุด กรณีพรรคเพื่อไทยนั้น มาเผชิญกับการขอย้ายพรรคจำนวนมากในช่วงหลังๆ ทั้งผลจากยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์พัน” เพื่อรับมือกับการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่กรธ.ออกแบบเพื่อสกัดกั้นพรรคการเมืองใหญ่ และการย้ายเพื่อความอยู่รอด จากปัจจัยหลายเรื่อง โดนดูดบ้าง หรือมีข้อเสนอทางการเมืองที่ไม่อาจปฏิเสธบ้าง หรือเห็นว่าหมดยุคของพรรคเพื่อไทยบ้าง และมีอีกส่วนหนึ่ง ที่อ้างข้อเสนอเคลียร์เรื่องคดีให้

แม้นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งยังนั่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ด้วย จะยืนยันว่า นักการเมืองที่ย้ายเข้าพรรค ไม่มีการเจรจาเรื่องผลประโยชน์หรือเรื่องคดีความใดๆทั้งสิ้นก็ตาม แต่ก่อนหน้านี้แกนนำนักการเมืองขั้วตรงข้ามหลายคน อาทิ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ย้ำหลายครั้งว่า มีทั้งเรื่องเงินทุนช่วยหาเสียง และรับปากช่วยเหลือเรื่องคดีความ

ขณะที่ผู้สมัคร “หน้าใหม่”แต่เป็นทายาทนักการเมืองดัง กล่าวยอมรับกับสื่อว่า “ย้ายมาเพื่อช่วยพ่อ” ทิ้งเป็นปมปริศนาสำคัญ

การสูญเสียสมาชิกพรรคที่เป็นระดับอดีตส.ส.ไปให้พรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะไปพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย ทำให้พรรคเพื่อไทยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยเฉพาะจำนวนส.ส.ที่อาจจะลดลงจาก 265 ที่นั่งจากการเลือกตั้งปี 2554

มิหนำซ้ำ ยังต้องสุ่มเสี่ยงต่อการถูกสั่ง “ยุบพรรค”จากการถูกแทรกแซงจากคนนอก และกรณีผู้บริหารพรรค 8 คนต้องคดีสำคัญ 4 คดี เมื่อครั้งตั้งโต๊ะวิจารณ์ 4 ปีรัฐประหาร

ทำให้ความหวังที่พรรคเพื่อไทยจะได้จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ต้องไปฝากไว้กับพรรคพันธมิตรคู่ขนานอย่างพรรคไทยรักษาชาติ ที่เป็นศูนย์รวมของอดีตแกนนำพรรคที่ไม่มีเขตเลือกตั้งจะลงสมัคร และมุ่งเน้นจุดขายที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมทั้งมุ่งหวังไปที่คะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อ กับพรรคอื่นๆ ทั้งที่เป็นแนวร่วมมีอุดมการณ์สอดคล้องกัน อย่างพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย หรือแม้แต่พรรคประชาชาติ รวมทั้งพรรคในกลุ่มที่จะเป็นตัวแปรอย่างพรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนา

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับผลกระทบหนักมาตั้งแต่ต้น อดีตส.ส.และสมาชิกพรรคที่มีศักยภาพ ถูกดึงถูกดูดให้ย้ายพรรคทั้งในหลายจังหวัดภาคตะวันออก ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็น “แชมป์เก่า” รวมทั้งหลายจังหวัดในภาคกลาง กระทั่งลามถึงกรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งปชป.แทบจะผูกขาดมาตลอด เว้นเฉพาะ 2-3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีส.ส.จากพรรคอื่นสอดแทรกอยู่บ้าง

แต่ครั้งนี้ ปชป.เผชิญทั้งภายใน กรณีอดีตส.ส.ของพรรคและเป็นอดีตแกนนำกปปส.อย่างถาวร เสนเนียม และวิทยา แก้วภราดัย แสดงท่าทีหนุนช่วยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือรปช. ระหว่างลงพื้นที่เดินคารวะแผ่นดินในพื้นที่ภาคใต้ กระทั่งพรรคต้องมีการสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น

แม้ภาพการแสดงออกของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ รวมทั้งผู้บริหารพรรคจะจบลงด้วยดี ไม่มีบทลงโทษรุนแรง แต่ในทางปฏิบัติ ไม่มีใครรับประกันได้ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นตามมา หลังจากนายสุเทพประกาศจะเบียดนายศิริโชค โสภา อดีตส.ส.คนสนิทนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ตกจากเก้าอี้ส.ส.สงขลาให้ได้ ขณะเดียวกันได้ประกาศปักธง รปช. ทั้งในสุราษฎร์ธานี และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีอดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ย้ายพรรคไปสังกัดพรรค รปช. จนคอการเมืองพันธุ์แท้เรียกขานว่าเป็น “แค้นฝังหุ่น”

นอกจากศึกในพรรค และศึกภายในคนกันเองแล้ว ปชป.ยังต้องเจอกับศึกนอก คือพรรคการเมืองคู่แข่งทั้งในสนามภาคใต้ ซึ่งครั้งนี้ จะมีทั้งรปช. พรรคประชาชาติ หรือปช. พรรคภูมิใจไทย รวมทั้งพรรคพลังประชารัฐ พร้อมจะแย่งส่วนแบ่งเก้าอี้ส.ส.จากประชาธิปัตย์

เช่นเดียวกับภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพฯ ที่ปชป.ต้องส่งผู้สมัครส.ส.ลงรักษาเก้าอี้เดิม โดยต้องแข่งขันกับอดีตส.ส.ของพรรคเอง แต่ได้ย้ายไปสังกัดพรรคอื่น โดยเฉพาะพลังประชารัฐ เป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นหรือปฐมบทสำหรับการแย่งชิงเก้าอี้ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้ ภายใต้รูปแบบระบบจัดสรรปันส่วนผสมเท่านั้น ยังไม่สามารถ “ฟันธง”ได้ว่า เมื่อถึงวันเลือกตั้งจริง อดีตส.ส.เก่าจะยังเป็นผู้กำชัยชนะเอาไว้ได้ เพราะจะมีปัจจัยหลายอย่างเป็นตัวชี้ขาด

แต่ทั้งนี้ จะถือเป็นการเลือกตั้งที่จะแข่งขันเข้มข้นจริงจัง ทั้งภายใต้กติกาใหม่ และวิธีการที่หลากหลาย ทั้งบนดินใต้ดิน ที่บางพรรคการเมืองใหญ่ ได้ทยอยเปิด “ตัวช่วย” แบบไม่มีเหนียมหรือหลบๆซ่อนๆอีกต่อไปแล้ว

ส่วนปัจจัยชี้ขาดสำคัญ 3 ประการ คือ 1.พิสูจน์พลังคนรุ่นใหม่ ว่าจะเข้มข้นถึงขั้นพลิกผลเลือกตั้ง และพลิกโฉมการเมืองไทยได้จริงอย่างที่บางฝ่ายคาดการณ์หรือไม่ 2.อำนาจและกลไกของฝ่ายที่กุมอำนาจบริหารรัฐ จะเป็นไปแบบไหน รักษาไมตรีหรือไม่มีคำว่า “หมู่มิตร”ในสนามเลือกตั้ง

3.เป็นการตัดสินชี้ชัดว่า ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จะเลือกขั้วไหน เอา-ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ และ/หรือ จะเลือกตัวบุคคลหรือเลือกพรรคที่สังกัดกันแน่

related