svasdssvasds

พปชร.ประกาศยึด 38 ส.ส.ภาคเหนือ “การศึก”ที่”สุดหิน”เมื่อหวังยึดถิ่นเสือ

พปชร.ประกาศยึด 38 ส.ส.ภาคเหนือ “การศึก”ที่”สุดหิน”เมื่อหวังยึดถิ่นเสือ

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

การเปิดตัวผู้สมัครส.ส. “คิกออฟ”พร้อมกัน 5 เวทีใหญ่จังหวัดภาคเหนือ ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊คของพรรค เชื่อม 5 เวที เชียงใหม่-.พิษณุโลก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์-เพชรบูรณ์ วันที่ 23 ธันวาคม 2561 ถือว่ายิ่งใหญ่อลังการ์ สมยุคสมัยโลกเทคโนโลยี่

ผลพวงสำคัญที่ตามมา นอกจากความอุ่นใจของว่าที่ผู้สมัครส.ส. และกอง

เชียร์ ทั้งที่ติดสอบห้อยตามไปเกาะขอบเวทีและที่ให้กำลังใจอยู่ที่บ้านแล้ว ยังถือเป็นการ “ตัดไม้ข่มนาม” ตามคำคนโบราณ หรือที่หมายถึง “ข่มขวัญคู่ต่อสู้”อย่างที่ “อดีตผู้กองตุ๋ย” นายธรรมนัส พรหมเผ่า หนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้งภาคเหนือ พปชร. ได้ประกาศชัด ก่อนการประชุมที่เชียงใหม่ จะเริ่มขึ้น

ความจริง ภาพความอลังการ์แบบนี้ เคยมีให้เห็นและสร้างความฮือฮาให้กับผู้คนมาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อครั้งพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของนายทักษิณ ชินวัตร ได้จัดงาน “คิกออฟแคมเปญ”เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2547 เพื่อเปิดการรณรงค์สู้ศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2548 ใช้ชื่อว่า "4 ปีซ่อมความหายนะจากวิกฤติ 4 ปีสร้างชาติให้แข็งแกร่งยั่งยืน" หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง” ซึ่งบางเพจที่สนับสนุน “บิ๊กตู่”ไปแอบฉกมาใช้ใหม่ จะด้วยความตั้งใจหรือความไม่รู้ ก็สุดจะคาดเดา

ครั้งนั้น ส่วนกลางจัดที่อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก ส่วนเวทีในภูมิภาค ที่ลิงค์เชื่อมต่อถ่ายทอดสดคำปราศรัยผ่านระบบดาวเทียม และทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อส.มท.ในขณะนั้น ประกอบด้วย เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น นครพนม ชลบุรี สมุทรสาคร และ พัทลุง

สาระสำคัญครั้งนี้ด้วยฝีมือพรรคพังประชารัฐ คือสะท้อนความพร้อมและโชว์ตัวแกนนำและว่าที่ผู้สมัครส.ส.ในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในทางการเมืองถือว่า เป็น “เมืองหลวง” หรือ “ไข่แดง”สำคัญของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากเป็นถิ่นเกิดของทั้งนายทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ “เจ๊แดง”นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ รวมทั้ง เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดพรรคไทยรักไทยด้วย

เชียงใหม่แต่ไหนแต่ไรมา จะมีนักการเมืองจากหลายพรรคแย่งชินกันเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดยึดครองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้เลย แม้แต่ในช่วงพรรคสามัคคีธรรม ปี 2535 กระทั่งปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทยส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรก ก็กวาดส.ส.เกือบหมายกจังหวัด เหลือแบ่งให้ พรรคปชป.แค่ที่นั่งเดียวจาก 10 ที่นั่ง ก่อนจะเหมายกจังหวัดได้ในปี 2548 และ 2554 ในนามพรรคเพื่อไทย

ไม่เพียงที่เชียงใหม่เท่านั้น ที่พรรคไทยรักไทยกวาดยกจังหวัด กระแสความร้อนแรงยังส่งผลให้ในทุกจังหวัดภาคเหนือถูกยึดเก้าอี้ส.ส.จากคนของพรรคการเมืองนี้อย่างถล่มทลาย

เลือกตั้งครั้งหลังสุด 2554 พรรคเพื่อไทย กวาดส.ส.ภาคเหนือ (ไม่นับจังหวัดตาก ซึ่งอยู่ในภาคตะวันตก)ได้มากถึง 35 ที่นั่ง จากทั้งหมด 36 ที่นั่ง เหลือแบ่งให้พรรคปชป. 1 ที่นั่งเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เลือกตั้งหนนี้ พรรคพลังประชารัฐ จึงหวังจะปักธง แย่งชิงเก้าอี้ส.ส.ภาคเหนือไปจากพรรคเพื่อไทยให้ได้ เห็นได้จากการเตรียมการระยะยาว มีการเจรจาดึงอดีตส.ส.จากพรรคเพื่อไทยหลายจังหวัดให้เปลี่ยนข้าง อาทิ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่นำโดยนายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมฯ สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ จังหวัดกำแพงเพชร ที่นำโดยพ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรรัตน์ จังหวัดนครสวรรค์ นำโดยนายวีระกร คำประกอบ อดีตส.ส. 7 สมัย อดีตรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์

การกระจายบุคคลสำคัญในพรรคลงไปรับผิดชอบในพื้นที่ อาทิ นายอุตตม สาวนายน ดูแลพื้นที่เชียงใหม่ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่จังหวัดนครสวรรค์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และแกนนำจากกลุ่มสามมิตรขยายพื้นที่ดูแลไปถึงพิษณุโลก เจรจาคนดังอย่างนายธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตนายทหารชื่อดังไปเป็นคณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์พรรค ดูแลภาคเหนือ รวมทั้งดึงกลุ่มผู้มีบารมีจากตระกูล ณ เชียงใหม่ ของ “เจ้าหนุ่ย”นายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง อดีตรองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ของ “พ่อใหญ่จิ๋ว”พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ ทั้งนางกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ อดีตส.ส.2 สมัย และร.อ.ดร.เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ บุตรสาว อดีตนายกเทศทนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ เข้าเสริมทัพ เป็นว่าที่ผู้สมัครส.ส.เชียงใหม่

เมื่อประกอบกับเป็นพรรคที่ประกาศจุดยืนหนุน “บิ๊กตู่”เต็มที่ มีกลไกภาครัฐที่พร้อมให้การช่วยเหลือ ทำให้โอกาสที่จะตีทลายป้อมค่ายพรรคเพื่อไทยในหลายจังหวัด มีความเป็นไปได้เช่นกัน แต่หากจะหวังถึงขั้นยึดทั้งภาค คงยากโขอยู่

เพราะยุทธศาสตร์ “แตกพรรค” รับมือการเลือกตั้งตามกติการะบบจัดสรรปันส่วนผสม ของพรรคเพื่อไทย ก็ถือว่าไม่ธรรมดา ขณะที่ขุนพลตัวหลักยังอยู่เกือบครบ หรือที่แยกตัวออกไปก็ยังอยู่ในขั้วพันธมิตรเดียวกัน ยกเว้นพรรคเพื่อชาติ ที่แม้แต่แกนนำในขั้วเพื่อไทยเองก็ยังมองอย่างไม่น่าไว้ใจ

สนามหนักที่สุดสำหรับพลังประชารัฐ คือจังหวัดเชียงใหม่ ยิ่งนายเดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ ทายาทนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ (ซึ่งเพิ่งผ่าตัดเพื่อรักษาโรคหมอนรองกระดูกอักเสบที่รพ.ตำรวจ) ที่สมัครเข้าพรรคพลังประชารัฐ หวังลงสมัครส.ส.เชียงใหม่ เขต 7 เขตเดิมของนายบุญทรง กลับไม่มีรายชื่อเป็นหนึ่งในว่าที่ผู้สมัครส.ส.ของพปชร. ถือเป็นสัญญาณผิดปกติบางอย่าง

อย่าลืมว่า คนดังจากตระกูลใหญ่ที่ดึงมาร่วมทัพสู้ศึกเลือกตั้ง บารมีก็ไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนเก่า และสนามเลือกตั้งใหญ่ไม่ใช่เป้าประสงค์อันดับ 1 ของกลุ่มนี้ แต่มุ่งเน้นสนามท้องถิ่นในลำดับถัดไปมากกว่า

เป้าประกาศ 38 ส.ส.ภาคเหนือของพรรคพลังประชารัฐ จึงยังเป็นโจทย์ข้อใหญ่ ให้ตามแก้หาคำตอบกันต่อไป

related