svasdssvasds

คำตอบอยู่ที่ไหน..กรอบเวลา 150 วัน?

คำตอบอยู่ที่ไหน..กรอบเวลา 150 วัน?

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

“เถียงกันอยู่ได้ จะเลือกตั้งวันนั้น วันนี้ ก็พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งยังไม่ออก แล้วจะไปกำหนดวันเลือกตั้งได้อย่างไร?”

ลุง รปภ.พูดเสียงดังระหว่างเดินสวนกันในห้องน้ำ คงเห็นเราพูดเจื้อยแจ้วอยู่หน้าจอเรื่องนี้ซ้ำซากมานาน และลุงเองก็อยู่กับหน้าจอตลอดเหมือนกัน เพราะจุดที่เฝ้าดูคนเข้าออกสถานีมีทีวีจอใหญ่ตั้งอยู่พอดี..

วันนี้(8 ม.ค.62)ประธาน กกต.”อิทธิพร บุญประคอง” ออกมาสำทับอีกครั้ง จะกำหนดวันเลือกตั้งก็ต่อเมื่อ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเท่านั้น ซึ่งตรงกับหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท0309.1/ว 481 ลงวันที่ 7 มกราคม 2562 ที่สั่งการให้ระงับการดำเนินการตามแผนงานเตรียมการเลือกตั้งฯ เอาไว้ก่อน เพราะ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง “ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”!?

ผมกำลังจะบอกว่า ลุง รปภ.เสพข่าวเลือกตั้งจนตกผลึกในระดับหนึ่ง เพราะลำดับเรื่อง ขั้นตอน กระบวนการทางกฎหมายก่อนหลังได้ เพราะตราบใดที่ยังไม่มี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งออกมา ก็ไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นไปตาม รธน.มาตรา 103 ประกอบมาตรา 268 ในบทเฉพาะกาล ซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ มีผลใช้บังคับแล้ว

แต่ก่อนที่จะไปว่าถึงเรื่องกรอบเวลา 150 วัน ขอแวะที่ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ที่ผมตั้งใจเน้นตรงคำว่า “ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”หน่อย.. ข้อความที่ว่านี้ตีความได้ 2 นัย อย่างแรก ยังอยู่ในขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ คือนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว แต่ยังไม่ลงมา อย่างที่สอง ลงมาแล้ว แต่ยังไม่ได้นำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา!? ไม่ได้คิดซับซ้อน แต่สองอย่างนี้มีความหมายแตกต่างกัน เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งที่ดูอึมครึมอยู่ขณะนี้..

ทีนี้มาดูเรื่องกรอบเวลา 150 วัน ที่บอกให้ดำเนินการเลือกตั้ง”ให้แล้วเสร็จ”นั้น ตกลงแค่กำหนดวันเลือกตั้ง หรือรวมความไปถึงการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ร้อยละ 95 ตามรธน.มาตรา 85 ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันด้วย ซึ่งหากยึดตาม กรธ.ก็ต้องเป็นไปตามอย่างแรก แต่หากยึดตามเสียงทักท้วง ก็ต้องถือเอาอย่างหลังเป็นเกณฑ์

แต่ดูเหมือนประธาน กกต.”อิทธิพร บุญประคอง”จะยังออกอาการแทงกั๊ก! จะจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลา 150 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด โดยรวมการประกาศรับรองผลไม่เกิน 60 วันเอาไว้ด้วย ส่วนจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อให้เกิดความชัดเจนหรือไม่ แม้จะยอมรับว่า เป็นช่องทางหนึ่ง แต่เมื่อยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง จึงยังไม่มีเหตุที่จะต้องส่งให้ศาลรับธรรมนูญตีความ!?

สุดท้ายเรื่องกรอบเวลา 150 วัน นาทีนี้ยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน โดยเฉพาะคำว่า”ให้แล้วเสร็จ” ซึ่งมีอยู่ทั้งในรธน.ฉบับปัจจุบัน และรธน.ฉบับปี2550 ในมาตรา 296 ดังนั้น จึงมีการมองต่างมุมกับ กรธ.ให้ยึดบทเฉพาะกาลเป็นเกณฑ์ในการเลือกตั้งครั้งแรก ไม่ให้นำไปรวมกับบทหลัก

นั่นคือ การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต้องยึดตาม มาตรา 268 ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน โดยกินความรวมไปถึงการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งด้วย แบบม้วนเดียวจบ ไม่ต้องอ้างมาตรา 85 ที่แยกวันเลือกตั้งกับวันประกาศผลออกจากกัน

เพราะหาไม่แล้ว การเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ที่ระบุไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ที่ให้ว่ากันในรัฐสภาล้วนๆ ก็จะถูกนำไปรวมกับบทหลักในมาตรา 159 ที่ให้ว่ากันเพียวๆ ในสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน ถ้าเป็นแบบนี้มันจะทำให้เสียง สว.250 เสียง ไม่มีความหมายเอานะครับ.

 

โดย....บอน ณ บางแก้ว

related