svasdssvasds

วิเคราะห์จุดยืน “ชวน หลีกภัย” ชัดเจน ปชป.ควรร่วม-ไม่ร่วม ครม.บิ๊กตู่

วิเคราะห์จุดยืน “ชวน หลีกภัย”  ชัดเจน ปชป.ควรร่วม-ไม่ร่วม ครม.บิ๊กตู่

โดนกรีดไปตามๆกัน สำหรับสมาชิกปชป.ที่แสดงท่าทีอยากให้พรรคเข้าร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ หนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯคำรบ 2

โดยเฉพาะ คำว่า "ตะแบง" ที่ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า เป็นอาการที่พูดหรือเถียงเฉไฉ หรือดันไปข้างๆคูๆ

เป้าที่โดนจัดเต็ม หนีไม่พ้นกลุ่มสมาชิกพรรคที่นำโดยนายถาวร เสนเนียม ว่าที่ส.ส.สงขลา และเคยเป็นหนึ่งในแกนนำกปปส.ร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์

หลังจากนายถาวรเป็นตัวตั้งตัวตี เรียกหารือว่าที่ส.ส. และอดีตส.ส.ที่พรรคปชป. ก่อนถึงวันทำบุญทางศาสนาครบรอบ 73 ปีของพรรคเพียง 1 วัน

ทั้งยังนำหน้าออกโรงแจงผ่านสื่อ ระบุเสียงส่วนใหญ่อยากให้ปชป.เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศชาติต่อไป อันจะนำพาไปสู่เหตุผลที่จะนำไปใช้หาเสียงกับประชาชนในการสู้ศึกเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งต่อไปได้

สิ่งที่นายชวนตอกย้ำ คือการยึดหลักการที่มั่นคงของพรรคปชป. ไม่วอกแวก และเมื่อตัดสินใจเลือกทางเดินแล้วก็ไม่ควรจะสับสนอีก รวมทั้งย้ำว่า ได้ขอร้องแล้วว่าอย่าเพิ่งพูดอะไร ควรรอให้กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ตัดสินจะดีกว่า

เท่ากับเป็นการตำหนิโดยตรง เพราะหลังการตั้งวงหารือ และมีการสื่อสารผ่านสื่อออกไปสู่วงนอก นำไปสู่การตั้งคำถามกลับว่า พรรคมีมติให้เข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐแล้ว หรือเห็นด้วยร่วมรัฐบาลกับ พปชร

แม้นความจริง เรื่องการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่หากฟังจากการออกโรง “กรีดมีดโกน”ใส่คนระดับนายถาวร ซึ่งเคยเป็นถึงรองหัวหน้าพรรคปชป. ก็มีนัยค่อนข้างชัดเจนว่า ผู้ที่เปี่ยมบารมีที่สุดในพรรคปชป.คิดเรื่องนี้อย่างไร

ทั้งนายชวน และคนที่เคยเป็นอดีตหัวหน้าพรรคเช่นกัน อย่างนายบัญญัติ บรรทัดฐาน บิดาของนายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน อดีตส.ส.กทม. ซึ่งเป็นแรกๆที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนว่า สถานการณ์เช่นนี้พรรคประชาธิปัตย์ควรเป็นฝ่ายค้าน รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ น้าชายของ “ไอติม”นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้สมัครส.ส.กทม. ปชป.ที่ประกาศเรียกร้องให้ปชป.เลือกทำหน้าที่ฝ่ายค้านอิสระ

ล้วนต่างหยิบยกเรื่องราวในอดีตของพรรคปชป. โดยเฉพาะกรณีไม่ใช่ครั้งแรกที่พรรคปชป.แพ้เลือกตั้ง  ภายใต้ความเข้มแข็ง ความเชื่อมั่น ไม่หวั่นไหว และการสนับสนุนจากประชาชนที่เข้าใจมากขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ก็จะกลับมายืนผงาดใหม่

ประกอบกับจุดยืนทางประวัติศาสตร์ของพรรคปชป.ตั้งแต่แรกเริ่มตั้งพรรค ส่วนใหญ่ล้วนแข่งขันต่อสู้กับพรรคของทหารหรือพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของทหารแทบทั้งสิ้น

การจะกลับคำ ทิ้งอุดมการณ์ที่เป็นจุดเด่น จึงเป็นเรื่องยากยิ่งสำหรับประชาธิปัตย์ และแกนนำที่เป็นระดับตำนานของพรรค

related