svasdssvasds

แก้รัฐธรรมนูญไม่ง่ายอย่างที่คิด? โดย บอน ณ บางแก้ว

แก้รัฐธรรมนูญไม่ง่ายอย่างที่คิด? โดย  บอน  ณ  บางแก้ว

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) แต่ ปชป.ก็เขียนเหตุผลไว้กว้างๆ เพียงเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย!ไม่ได้ลงรายละเอียด เลยไม่รู้ว่าต้องการจะแก้ไขจริงๆ หรือแค่เพื่อให้ตัวเองดูดีในการเข้าร่วมรัฐบาลเท่านั้น

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธเงื่อนไขดังกล่าว แต่โยนให้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลชุดใหม่..ซึ่งมีตั้ง 19 พรรค และไม่รู้ว่าจะเอาด้วยหรือไม่?

ด้านพรรคอนาคตใหม่(อนค.) ก็ประกาศจะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน โดยยกมา 2 มาตรา คือ มาตรา 272 กับมาตรา 279 ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาลทั้งคู่ มาตราแรก เป็นเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรก ที่ต้องทำในที่ประชุมรัฐสภา พูดง่ายๆ คือต้องการตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ออกไป ไม่ให้มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ประมาณนั้น

ส่วนมาตราหลังเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า เพราะเป็นบทบญญัติที่รับรองบรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำใดๆ ของ คสช.ที่ทำไว้ตลอด 5 ปี ให้เป็นไปโดยชอบตามรัฐธรรมนูญนี้

ข้อเสนอของ อนค.จึงเป็นข้อเสนอที่สุดโต่ง..คิดและเสนอในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้! เพราะคงไม่มีใครบ้าขนาดเปิดหน้าให้ชกหรือจับขึ้นขาหยั่งหลังลงจากอำนาจไปแล้ว

ดังนั้น ต่อให้ อนค.รวมกับพรรคเพื่อไทย(พท.) มีเสียงมากพอที่จะเสนอให้แก้ไขได้ เนื่องจากใช้เสียงเพียง 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 100 เสียง ก็สามารถเสนอให้แก้ไขได้ แต่คำถามคือ จะเอาเสียงจากไหนมาสนับสนุนให้ผ่านวาระแรก ที่ต้องใช้เสียงมากถึง 375 เสียง ของสองสภารวมกัน และในจำนวนนั้น ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของวุฒิสภาที่มีอยู่ หรือ 85 เสียงขึ้นไป

แค่วาระแรกก็ไปไม่รอดแล้ว ดังนั้น ข้อเสนอของ อนค.จึงเป็นอะไรที่เล่นกับกระแสมากกว่าที่จะมุ่งให้มีการแก้ไขจริงๆ

ส่วน ปชป.ที่ยังเพลิดเพลินเจริญใจอยู่กับการได้เข้าร่วมรัฐนาวา พปชร.ต้องรอดูผลต่อจากนี้ อย่างแรก ดูว่าข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกนำไปบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภาหรือไม่? หรืออย่างที่สอง หากผ่านไป 3 เดือน 6 เดือน แล้วยังไม่หือไม่อือ ก็คงพอเดาได้ว่าจริงใจหรือจิงโจ้!?

สุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่าไม่ง่าย..เพราะต้องผ่านหลายด่าน และแต่ละด่านล้วนเป็นด่านหิน จึงต้องอาศัยความพร้อมเพรียง พร้อมใจกันจริงๆ ถึงจะแก้ไขได้.. ด่านแรก ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 375 เสียงขึ้นไป และในจำนวนนี้ต้องมีเสียง ส.ว.อยู่ด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 85 เสียงขึ้นไป จึงจะผ่านวาระแรก

เช่นเดียวกับวาระสาม ที่ต้องมีเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 เสียงขึ้นไป และในจำนวนนี้นอกจากจะมีเสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แล้ว ยังต้องมีเสียง ส.ส.ฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยบะ 20 ของทุกพรรคที่เป็นฝ่ายค้านรวมกัน

ด่านที่สอง หากเป็นการแก้ไขในบางหมวด หรือบางมาตรา อาทิ เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อน และด่านสุดท้าย ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ หากมี ส.ส./ส.ว.เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 สงสัยว่าการแก้ไขดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญก็ให้ร่างแก้ไขนั้นตกไป

นี่ไงครับ! ที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมไม่ง่าย ทุกฝ่ายต้องยินยอมพร้อมใจ ต้องเป็นระดับวาระแห่งชาติเท่านั้นถึงจะแก้ไขได้ครับ.

 

related