svasdssvasds

ทางรอด 41 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ! โดย บอน ณ บางแก้ว

ทางรอด 41 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ! โดย  บอน  ณ บางแก้ว

ดับเครื่องชน! เด็กพปชร.จ่อยื่นเอาผิด 20 ส.ส.ฝ่ายค้านถือหุ้นสื่อ.. เป็นการเอาคืนพรรคอนาคตใหม่(อนค.) ของกลุ่ม ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่จะเข้าชื่อกันยื่นให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของ 20 ส.ส. 7 พรรคฝ่ายค้านบ้างว่า เข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) หรือไม่?

หลังถูกกลุ่ม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เข้าชื่อกันยื่นให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เจาะจงเอาผิดเฉพาะ 41 ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลล้วนๆ ไปก่อนหน้านี้..

“เบื้องต้นตรวจสอบรายชื่อ ส.ส.ฝ่ายค้านแล้วพบว่า เข้าข่ายขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) ประมาณ 20 คนขึ้นไป”

“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร.ซึ่งเป็น 1 ในกลุ่ม 41 ส.ส.ที่ถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณสมบัติ ประกาศเป็นตัวตั้งตัวตี เอาคืน 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน

ปัญหาการถือหุ้นสื่อของ 41 ส.ส.รวมทั้ง 20 ส.ส.ที่กำลังจะถูกยื่นวินิจฉัยคุณสมบัติ เป็นผลสืบเนื่องจากคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง จ.สกลนคร ที่ตัดสิทธิการรับสมัครของ ภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร เขต 2 พรรคอนาคตใหม่ จากการถือหุ้นในบริษัทก่อสร้าง แต่แจ้งวัตถุประสงค์ในหนังสือบริคณห์สนธิว่าทำธุรกิจสื่อด้วย

ดังนั้น หากยึดบรรทัดฐานคำตัดสินศาลจังหวัดสกลนคร ย่อมทำให้ ส.ส.กว่าครึ่งค่อนสภา และรวมถึงผู้สมัครของพรรคการเมืองที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง มีปัญหาคุณสมบัติตามไปด้วย

คำว่า “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” ในมาตรา 98 (3) ยังมีผู้ให้ความเห็นเป็นสองทาง บ้างตีความอย่างเคร่งครัด อ้างเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องจริงๆ แม้ไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อโดยตรง แต่ถ้ามีคำว่าสื่ออยู่ด้วย ย่อมเป็นข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ โดยยกเอาข้อความตอนท้ายที่ว่า”หรือสื่อมวลชนใดๆ”มาเป็นตัวอธิบาย

ในขณะที่บางความเห็นมองว่า ข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) น่าจะหมายเอาเฉพาะหุ้นในส่วนที่ประกอบธุรกิจสื่อจริงๆ ไม่ใช่ทำธุรกิจอื่น แต่แจ้งวัตถุประสงค์ในหนังสือบริคณห์สนธิครอบคลุมเอาไว้

รอดไม่รอดก็อยู่ที่ตรงนี้!?

ท้ายสุดประเด็นนี้เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยไปในทางไหน?

ซึ่งผู้รู้มองว่าองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ กับศาลยุติธรรมนั้นแตกต่างกัน! โดยศาลยุติธรรมจะพิจารณาในมิติของกฎหมายเป็นหลัก ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีตุลาการมาจากหลายทางทั้งนักกฎหมาย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนักบริหาร ดังนั้น กระบวนการพิจารณาย่อมมาจากหลายๆ ด้าน ไม่ใช่มิติทางกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว!

กล่าวสำหรับกรณีของ”ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับ 41 ส.ส.และอีก 20 ส.ส.นั้น แม้จะเป็นการยื่นคำร้องที่อาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3)เหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่”ธนาธร”ถือหุ้นสื่อที่ทำธุรกิจสื่อจริงๆ ส่วนกลุ่ม 41 ส.ส.กับ 20 ส.ส.เป็นเพียงหุ้นสื่อที่อยู่ในหนังสือบริคณห์สนธิ ไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อ!?

เอาเป็นว่าทั้งสองกรณีที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนและแตกต่างกันที่ตรงนี้..จะผิดถูกอย่างไรเป็นเรื่องของศาลจะตัดสิน แต่ถ้าผลออกมาผิดทั้งคู่ งานนี้รับรองยุ่งยิ่งกว่ายุงตีกันแน่ๆ เพราะต้องเลือกตั้งซ่อมครึ่งค่อนสภา ต้องคำนวณปาร์ตี้ลิสต์กันใหม่ แถมคงจะมีนักร้องแห่ไปยื่นร้องผู้สมัครที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเพิ่มเติม ให้ กกต.ต้องปวดหัวเล่น มานั่งริบคะแนนพรรคจิ๋วคืน..

ถ้าเป็นแบบนี้คงได้เห็นพรรคขนาดจิ๋วหายไปจากสภาอีกหลายพรรคล่ะครับ

related