svasdssvasds

แก้รัฐธรรมนูญต้องเจอสารพัดด่านหิน!? โดย บอน ณ บางแก้ว

แก้รัฐธรรมนูญต้องเจอสารพัดด่านหิน!? โดย บอน  ณ  บางแก้ว

วันก่อนผมเขียนเรื่อง “ปชป.ปาหี่แก้รัฐธรรมนูญ”ไป เพราะไม่มีความกระตือรือล้นพอที่จะผลักดันเรื่องนี้ เสมือนหนึ่งสักแต่ตั้งเงื่อนไขไว้ให้ตัวเองดูดี ในการเข้าร่วมรัฐบาลเท่านั้น..

มาถึงวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้รับการบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภาในวันที่ 25 ก.ค.นี้ แถมยังอยู่ในข้อที่ 11 ในจำนวน 12 ข้อ อยู่กลุ่มนโยบายเร่งด่วน ที่จะดำเนินการภายใน 1 ปีด้วย

“เหมือนตีเช็คเปล่าใครจะแก้ให้..!?”

หนึ่งในแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่เข้าร่วมประชุมเคาะร่างนโยบายครั้งสุดท้าย ที่ไม่มีตัวแทนจาก ปชป.เข้าร่วมนำเสนอประเด็นการแก้ไขรัฐธรมนูญต่อที่ประชุม ตั้งข้อสังเกตกึ่งปรามาสไว้อย่างนี้

“คงได้แก้ แต่คงยากที่จะแก้ได้จริงๆ ครับ”!?

แม้แต่คนใน ปชป.เองแท้ๆ ยังเชื่อแบบนี้ เพราะเชื่อว่าเมื่อยอมให้บรรจุไว้ในนโยบาย อย่างมากก็คงได้แค่มีการเสนอให้แก้ผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่ง แต่คงยากที่จะแก้ไขได้จริงๆ เพราะยังแบ่งรับแบ่งสู้จะให้ใครเป็นเจ้าภาพ

ในเมื่อเป็นนโยบายรัฐบาล แล้วทำไมต้องถามอีกจะให้ใครเป็นเจ้าภาพ!?

รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดให้การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเสนอเป็นญัตติ โดยมาจาก 3 ช่องทาง คือ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส./ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสองสภารวมกันเป็นผู้เสนอ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน เป็นผู้เสนอ

ลำพังการเสนอญัตติขอแก้ไขผ่านช่องทางทั้ง 3 ข้างต้น คงไม่ยุ่งยากและอยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่กลไกในแต่ละด่านที่ออกแบบไว้ซับซ้อนต่างหาก ที่จะทำให้การแก้ไขยากที่จะสำเร็จ เหมือนที่คนใน ปชป.ประเมินไว้..

ด่านแรก ในวาระรับหลักการ ต้องมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และในจำนวนนี้ต้องมีเสียง ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา คือ 84 คนขึ้นไป

ด่านที่สอง ในวาระที่สาม ต้องมีเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา และในจำนวนนี้ นอกจากจะมีเสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ตามวาระแรก ยังต้องมีเสียง ส.ส.จากฝ่ายค้านทุกพรรคร่วมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ด้วย

ส่วนการทำประชามติ นั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำเนินการหลังจากที่การแก้ไขได้ผ่านความเห็นชอบในวาระ 3 แล้ว โดยก่อนที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ หากเป็นการแก้ไขในบางหมวด หรือบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ต้องขอประชามติ จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อน

สุดท้ายยังมีอีกด่าน ก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะนำความขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ส.ส./ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ยังมีสิทธิเข้าชื่อกันขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการแก้ไขมานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่?

ทั้งหมดที่ว่ามา คือขั้นตอนที่กำหนดไว้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อเสนอของ ปชป.จะผ่านฉลุยไปได้หรือไม่ ต้องถามใจคนที่ให้เขียนรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ก่อนว่า จะยินดีให้แก้ไขหรือไม่?

เพราะถ้าไม่เต็มใจให้แก้! เพียงส่งซิกให้ ส.ว.โหวตให้ไม่ถึง 84 เสียง แค่นี้ก็จอดตั้งแต่ด่านแรกแล้วครับ!?

 

related