svasdssvasds

น้อมเกล้ารำลึก! พระพุทธเจ้าหลวง "ปิยมหาราช"

น้อมเกล้ารำลึก! พระพุทธเจ้าหลวง "ปิยมหาราช"

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์ที่ 1 ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสวยราชสมบัติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2411

เสด็จสวรรคตเมื่อ  23 ตุลาคม พ.ศ. 2453  ตรงกับวันอาทิตย์ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีจอ พสนิกรน้ำตานองทั่วแผ่นดินสยาม ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จสวรรคต ด้วยโรคพระวักกะ

น้อมเกล้ารำลึก! พระพุทธเจ้าหลวง "ปิยมหาราช"

ลำดับเหตุการณ์       

22 ตุลาคม เวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมชุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่ง 3 คน ขึ้นไปเฝ้าตรวจอาการ เมื่อกลับลงมาเห็นกิริยาท่าทางของหมอไม่สู้ดี ได้ความว่าพระอาการหนักมาก พิษของพระบังคลเบาซึมไปตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์ จึงทำให้เป็นพิษเซื่องซึม บรรทมหลับอยู่เสมอ หมอฝรั่งประชุมกันเขียนรายงานพระอาการยื่นต่อเจ้านาย เสนาบดีว่าพระอาการมากเหลือกำลังชองหมอที่จะถวายการรักษาแล้ว

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานารถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จมาทอดพระเนตรรายงานพระอาการที่หมอทำไว้ ทรงปรึกษาหารือเห็นพร้อมกันว่าควรให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์มาเฝ้าตรวจพระอาการดูด้วย

ในบางเวลานั้นก็ทรงหายพระทัยเข้าออกครั้งละยาวๆ โดยหายพระทัยทางพระโอษฐ์แรงๆ พระเนตรของพระองค์เหม่อลอยไม่จับใครเสียแล้ว ทรงลืมพระเนตรคว้างอยู่อย่างนั้นเอง สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาฯทรงกราบบังคมทูลถามพระเจ้าอยู่หัวว่า “เสวยพระสุธารส(น้ำดื่ม)ไหมเพคะ” พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงตอบกลับโดยการพยักหน้า สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาฯจึงกราบทูลต่อไปว่า “หม่อมฉันจะถวายพระโอสถแก้พระศอแห้งเพคะ” ครั้งนี้พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกลับว่า "ฮือ"

แต่ทันใดนั้นพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีน้ำพระเนตรไหลออกมา คล้ายทรงพระกรรแสง พระองค์จึงพยายามยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นมาเช็ดน้ำพระเนตรด้วยพระองค์เอง พระนางเจ้าสุขุมาลฯเห็นจึงรีบนำผ้าขึ้นมาซับน้ำพระเนตรถวาย โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯประทับอยู่ปลายพระแท่นบรรทมคอยถวายงานนวดอยู่และรับสั่งให้หมอฝรั่งขึ้นมาถวายตรวจพระอาการ เวลาข้ามผ่านเที่ยงคืนมาเป็นวันที่ 23 ตุลาคม หมอแต่ละคนหมั่นผลัดเปลี่ยนกันขึ้นถวายตรวจชีพจร พระเจ้าอยู่หัวทรงหายพระทัยแผ่วเบาลงทุกทีๆ ไม่มีพระอาการกระวนกระวายแต่อย่างใด ยังคงบรรทมอยู่อย่างเดิม แต่พระเนตรของพระองค์จากที่มองคว้างอยู่ก็กลับค่อยๆหรี่แล้วหลับพระเนตรลงในที่สุด เจ้าพนักงานลงมาตามหมอฝรั่งขึ้นไปถวายตรวจพระอาการอีกครั้ง สักพักหมอจึงทูลกับเหล่าพระมเหสีที่ประทับเฝ้าพระอาการอยู่ ณ ที่นั้นว่า....พระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเสียแล้ว

ทันใดนั้นเหล่าพระราชโอรส พระราชธิดา มเหสีสนมเจ้าจอมก็แย่งกันกรูเข้าไปดูพระบรมศพ เมื่อเห็นแล้วก็พากันล้มลงกับพื้นนอนร้องไห้คร่ำครวญเสียงระงมไปทั่วทั้งพระที่นั่ง โดยเฉพาะพระราชธิดาที่พากันนอนทอดกายกรรแสงเป็นลมกันยกใหญ่ ด้านสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาฯก็ทรงประชวรพระวาโย(เป็นลม)มีอาการชักกระตุกและหมดสติ หมอฝรั่งต้องรีบถวายยาฉีด ข้าหลวงจึงทูลเชิญขึ้นประทับบนพระเก้าอี้แล้วหามกลับตำหนักสวนสี่ฤดู สำหรับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯก็ทรงประชวรพระวาโยเช่นกัน ทรงพระกรรแสงยกใหญ่มิได้สติ ข้าหลวงทูลเชิญขึ้นพระเก้าอี้แล้วหามกลับตำหนักสวนหงส์ เห็นจะมีแต่พระนางเจ้าสุขุมาลฯพระองค์เดียวที่สามารถควบคุมพระสติได้ แต่ก็ยังพระกรรแสงแข็งพระทัยนั่งเป็นประธานอยู่ปลายพระแท่นที่พระบรมศพบรรทมอยู่

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว เหล่าทหารมหาดเล็กจึงรีบเข้าปิดล้อมพระที่นั่งอัมพรสถานเพื่อถวายความปลอดภัยแก่องค์รัชทายาทซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวันผลัดแผ่นดิน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุฯ จึงทูลเชิญให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธผู้เป็นองค์รัชทายาท เสด็จกลับลงไปยังชั้นล่างของพระที่นั่งอัมพรสถาน ในที่นั้นเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า เสนาบดี และองคมนตรียืนเข้าเฝ้าอย่างพร้อมเพียงกัน จากนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุฯ จึงคุกพระชงฆ์(คุกเข้า)ลงกับพื้นแล้วกราบถวายบังคมแทบพระบาทของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และอัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าอยู่หัวองค์ต่อไป

 

อ้างอิง : หนังสือประวัติต้นรัชกาลที่6, บทสัมภาษณ์หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล, คำบอกเล่าในเหตุการณ์ของหม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา

related