svasdssvasds

ผลพวงขัดแย้งชิง หน.พรรค ข่าว ปชป.กลับคืนยึดพื้นที่สื่อ

ผลพวงขัดแย้งชิง หน.พรรค ข่าว ปชป.กลับคืนยึดพื้นที่สื่อ

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ไม่ใช่เรื่องแปลก หากก่อนหน้านี้ ข่าวคราวพรรคประชาธิปัตย์จะดูเงียบๆ ถึง แม้จะมีปรากฎบนหน้าสื่อบ้าง แต่เหมือนเป็นส่วนประกอบของกลุ่มข่าวการเมืองเสียมากกว่า ไม่ได้เป็นประเด็นพาดหัวข่าว

ขณะที่สื่อ มักจะโฟกัสเทน้ำหนักไปยังพรรคเพื่อไทย การเคลื่อนไหวของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ และการเปิดตัวของคนใหม่มาแรงอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เสียมากกว่า

ขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่ง จะเป็นข่าวเดินสายลงพื้นที่พบประชาชนของ”บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และประชุมครม.สัญจร พบปะนักการเมืองในพื้นที่ กับข่าวเตรียมการตั้งพรรคพลังประชารัฐ โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ มือเศรษฐกิจของรัฐบาล

เมื่อมีข่าวน้อย หรือ การขยับขับเคลื่อนภายในพรรคยังเป็นไปแบบเดิมๆ ย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกที่อึดอัด และไม่มั่นใจของสมาชิกพรรคบางส่วน เนื่องจากประเมินแล้วว่า การสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า จะหนักหนาสาหัสกว่าเดิม เนื่องจากโครงสร้างและกติกาที่ถูกออกแบบใหม่ เพื่อสกัดพรรคการเมืองใหญ่ไม่ให้เติบโตจนทำได้ทุกอย่างตามอำเภอใจอย่างที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ยังมีความเคลื่อนไหวเตรียมก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่อีกหลายพรรคหลายกลุ่ม

จึงเกิดคลื่นใต้น้ำเล็กๆ ภายในพรรคประชาธิปัตย์ หวังให้มีการเปลี่ยนแปลงในพรรค เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วนหนึ่งเนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุด และถูกมองในภาพพจน์การเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม ไม่หวือหวาหรือเปิดประเด็นใหม่ๆแย่งชิงพื้นที่ข่าว เหมือนพรรคอื่นๆ

คลื่นใต้น้ำที่ว่านี้ ความจริงก่อตัวมาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว จุดประสงค์หลัก ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพรรค รวมถึงเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แสดงออกถึงจุดยืน ยืนอยู่คนละขั้วกับ”บิ๊กตู่”มาตลอด กระทั่งมีข่าวจากวงในว่า จะผลักดันเสนอนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และอดีตเลขาธิการอาเซียน เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่

แนวทางดังกล่าว ต้องสะดุดลงเมื่อนายสุรินทร์ถึงแก่อนิจกรรมอย่างกะทันหัน เมื่อปลายปี 2560 แต่ความต้องการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคยังมีอยู่ โดยผ่านการแสดงออกของอดีต ส.ส.ระดับอาวุโส 2-3 คน รวมทั้ง”หมอผี”นายสัมพันธ์ ทองสมัคร อดีตรัฐมนตรีศึกษาฯที่เสนอให้นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย กลับไปเป็นหัวหน้าพรรคชั่วคราว นำทัพ ปชป.สู้ศึกเลือกตั้งแทนนายอภิสิทธิ์ แต่ข้อเสนอนี้ ถูกปฏิเสธมาตลอดจากนายชวน

ปชป.จึงยังไม่มีอะไรปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ขณะอีกด้านหนึ่ง ปรากฏข่าวอดีตส.ส.กทม.ของพรรคถูกดึงไปร่วมงานกับรัฐบาลหลายคน ตามด้วยข่าวการถูก”พลังดูด”เพิ่มเติมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ที่ ปชป.เป็นแชมป์เก่าอยู่

กระทั่ง”แจ๊ค”นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กทม. เปิดประเด็น คสช.เตรียมส่งนอมินีโค่น นายอภิสิทธิ์ หวังดึง ปชป.ไปหนุน "บิ๊กตู่" สืบทอดอำนาจ ตามด้วยข่าวการยอมรับถูกทาบทามชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ปชป.ของนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีต ส.ส.หลายสมัยจ.เพชรบุรี และอดีตรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของข่าวในพรรค ปชป. โดยเฉพาะความขัดแย้ง และแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ตามติดด้วยการเปิดตัวชิงหัวหน้าพรรคอีกคนของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. 3 สมัย จ.พิษณุโลก มือปราบโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลปู-ยิ่งลักษณ์ ซึ่งมาพร้อมกับกระแสวิจารณ์ เป็นตัวแทน กปปส.ตัวจริงเสียงจริง

เนื่องจากคนที่ชูมือเปิดตัวหมอวรงค์ ก็เป็นอดีตแกนนำ กปปส.พื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อย่างนายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลาหลายสมัย และอดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย

หลังจากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็กลายเป็นศูนย์กลางและโฟกัสข่าวจากสื่อทุกสำนักทุกประเภท ทั้งความเห็นของคนในพรรคทั้งเก่าและใหม่ ข่าวเตรียมแก้ไขระเบียบและข้อบังคับพรรค ที่บางฝ่ายระบุว่ามีความเคลือบแฝงหวังให้อีกฝ่ายได้เปรียบ โดยเฉพาะคุณสมบัติผู้จะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และวิธีการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค

รวมกระทั่ง การเดินสายออกสื่อทีวีของนายอลงกรณ์ และการเดินสายหาเสียงสนับสนุนในการชิงหัวหน้าพรรคของ นพ.วรงค์ ประเดิมจากภาคเหนือ แล้วไปต่อที่ภาคใต้

ยังไม่นับรวม ข่าว "ปลื้ม" สุรบถ หลีกภัย ลูกชายนายชวน หลีกภัย เปิดตัวกลับไปช่วยงาน ปชป. โดยตั้งเป้าภารกิจเตรียมลุยหาเสียงกับคนรุ่นใหม่ แม้นว่าก่อนหน้านี้ เขาเคยเป็นผู้ช่วยโฆษก กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี 2553 สมัยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เป็นรัฐมนตรีมาแล้วก็ตาม

ในอีกมุมหนึ่ง แม้จะมีการปะทะคารมบนหน้าสื่อของทั้ง 3 ว่าที่ผู้สมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จนสื่อนำไปกระพือข่าวขยายผลความเข้มข้นของศึกใน แต่ภาพการพบปะกัน ไม่ว่าจะหมอวรงค์กับนายอภิสิทธิ์ หรือนายอลงกรณ์กับนายอภิสิทธิ์ และแกนนำในพรรคคนอื่นๆ กลับเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ชื่นมื่น รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะของความเป็นพี่น้องและผองมิตร มากกว่าจะเป็นบรรยากาศการเผชิญหน้าที่เคร่งขรึม ตึงเครียด

หรือเพราะนี่เป็นวัฒนธรรมภายในของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแม้จะมีการแข่งขัน หรือเห็นต่างภายในพรรค แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไป ก็ยังเดินหน้าพร้อมร่วมงานกันต่อไป ยกเว้นเหตุการณ์ 10 มกราคม 2530 ที่ต่อมาได้นำไปสู่การยกทีมบางส่วนออกไปตั้งพรรคประชาชน ของนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และนายวีระ มุสิกพงศ์ หรือนายวีระกานต์ ในปัจจุบัน

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ขณะนี้ ปชป. มีข่าวไม่เว้นแต่ละวันบนหน้าสื่อทุกประเภทไปแล้ว

 

ประจักษ์ มะวงศ์สา

related