svasdssvasds

แตกพรรคเพื่อ"แยกกันเดินร่วมกันตี" หรือแค่ลับ ลวง พราง จาก"เพื่อไทย"

แตกพรรคเพื่อ"แยกกันเดินร่วมกันตี" หรือแค่ลับ ลวง พราง จาก"เพื่อไทย"

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ยังอยู่ทั้งบนหน้าสื่อ และมีกูรูด้านการเมือง ช่วยโหมกระพือว่าเป็นยุทธศาสตร์แยกกันเดิน ร่วมกันตี ของขั้วพรรคเพื่อไทย

ตั้งพรรคนอมินีและพรรคสาขา อย่างพรรคเพื่อธรรมและเพื่อชาติ แก้ลำปรับทัพสู้ศึกเลือกตั้งตามกติกาที่ออกแบบใหม่ โดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ผู้เสนอร่างกฎหมาย และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ผู้แก้ไขปรับเปลี่ยนในวาระ 2 และให้ความเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยจุดประสงค์สำคัญ คือสกัดพรรคการเมืองใหญ่ ไม่ให้ใหญ่เหมือนก่อน

ด้วย กฎ กติกาเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งยังไม่มีประเทศไหนในโลกใช้รูปแบบนี้ ยกเว้นประเทศไทย ทั้งการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เป็นทั้งเลือก ส.ส.เขตเป็นตัวบุคคล และยังนำคะแนนผู้สมัครทุกคนที่ได้ ไปคิดคำนวณหา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งว่ากันว่า จะทำให้พรรคขนาดใหญ่เสียเปรียบ ขณะที่พรรคขนาดกลางจะได้เปรียบ เนื่องจากมีโอกาสจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากขึ้น

ยังไม่นับการเปิดไฟเขียวให้ตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้เพิ่มเติม โดยให้ขยับขับเคลื่อนก่อนพรรคการเมืองเก่า การปกป้องกลุ่มการเมืองบางกลุ่มสามารถเคลื่อนไหวเจรจาทาบทามและใช้พลังดูดนักการเมือง อดีต ส.ส.เข้าร่วมสังกัดหรือเป็นพันธมิตร ถึงขั้นขึ้นขบวนรถแห่ได้ ขณะที่เดียวกัน ในซีกรัฐบาลเอง ก็ใช้วิธีลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชนชนและประชุม ครม.สัญจร กับการทาบทามกลุ่มการเมืองตระกูลใหญ่ ผ่านการออกรอบตีกอล์ฟ อย่างตระกูลสะสมทรัพย์ จังหวัดนครปฐม และหยิบยื่นตำแหน่งทางการเมืองรองรับ อาทิ กลุ่มอดีต ส.ส.กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มตระกูลคุณปลื้ม แห่งจังหวัดชลบุรี

ส่วนพรรคการเมืองเก่าแทบอยู่ในสภาพถูกแช่แข็ง ตั้งแต่ข้อห้ามทำกิจกรรมการเมืองใดๆ การออกคำสั่ง คสช.ที่ 57/2557 ประกาศที่ 3/2558 กระทั่งถึงคำสั่งที่ 53/2560 แม้ต่อมา คสช.จะออกคำสั่งที่ 13/2561 อ้างว่าเป็นการ"คลายล็อค"พรรคการเมืองตามที่ถูกฝ่ายนักการเมืองร้องขอ แต่ก็ยังมีข้อกำกวม ไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องเงินบริจาคและการหาทุนเข้าพรรคการเมือง และการใช้สื่อโซเชียล ยังไม่นับเรื่องสำคัญมากๆคือการหาเสียงเลือกตั้ง

เหตุผลที่เป็นคำตอบจากรัฐบาลและ คสช. คือรอให้มีการ"ปลดล็อค"เสียก่อน ซึ่งคาดว่าจะเป็นราวเดือนธันวาคม 2561

ประเด็นต่างๆเหล่านี้ ทำให้พรรคการเมือง ต้องพยายามหาช่องทางเพื่อให้พรรคมีความพร้อมที่สุด สำหรับเตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง

ไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ 2 ขั้วใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ต้องหาทางพลิกเกมสู้ แม้แต่กลุ่มสามมิตร ที่เคยประกาศชัดเจนว่าสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยัง"แทงกั๊ก" ยื้อเวลาการตัดสินใจ จะเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ออกไปหลายรอบ

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ การเปิดประเด็น "ชิงหัวหน้าพรรค” และเชื่อมโยงถึง "นอมินี" คสช. ถูกส่งมาร่วมชิงชัย ทำให้เกิดความคึกคักและเต็มไปด้วยข่าวคราวความเคลื่อนไหวที่ปรากฏบนหน้าสื่อทุกประเภทอย่างต่อเนื่อง การเดินสายลงพื้นที่ของผู้สมัครทั้ง 3 คน ต่างให้เหตุผลคือลงไปรณรงค์หาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสำหรับหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค

แต่ลึกลงไป ไม่มีใครรู้ว่าจะเกี่ยวโยงกับยุทธศาสตร์หาเสียงของพรรคหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ สื่อพากันเกาะติดข่าวไม่เว้นแต่ละวัน คอการเมืองก็สนใจ อยากจะรู้ว่าแต่ละคน ใครไปไหน ทำอะไรบ้าง

ส่วนพรรคเพื่อไทย การขยับที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา คือการเตรียมพรรคการเมืองที่ 2 ไว้รองรับหากพรรคเพื่อไทยถูกยุบ จากกรณีถูกร้องเรียนไปยัง กกต.เรื่องทักษิณ ชินวัตร ไลฟ์สดแสดงความมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแน่นอน ระหว่างงานเลี้ยงวันคล้ายวันเกิดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่อังกฤษ โดยมีแกนนำบางคนของพรรคเพื่อไทยนั่งร่วมโต๊ะอาหารอยู่ด้วย กับกรณี คสช.แจ้งความกองปราบฯ ดำเนินคดีแกนนำพรรคเพื่อไทย 8 คน ใน 4 ข้อหา หลังตั้งโต๊ะวิจารณ์ 4 ปีการรัฐประหาร

นี่เป็นเรื่องใหญ่ภายในพรรคเพื่อไทย เนื่องจากแกนนำบางส่วนวิตกว่า การชี้มูลความผิด ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการยุบพรรคเพื่อไทย หรืออาจรวดเร็วถึงขั้นมีคำสั่งยุบพรรค จะเกิดขึ้นภายหลังการรับสมัคร ส.ส.เสร็จสิ้น หรือระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง เท่ากับทุกคนในพรรค รวมทั้งผู้สมัคร ส.ส.จะ"ตายยกพรรค"ทันที

จึงเป็นที่มาของการรื้อฟื้นพรรคเพื่อธรรม โดยมีสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตนักการเมืองลายคราม ที่ทักษิณดึงมาร่วมพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ต้น และเป็นอดีตหัวหน้ากลุ่ม 16 อันลือลั่น ไปนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค รอการผ่องถ่าย เพื่อความมั่นคงปลอดภัย

หลังจากนั้น ข่าวคราวในขั้วเพื่อไทย ก็มีปรากฏบนหน้าสื่ออย่างหลากหลายตามมา แม้นว่าบางเรื่อง ไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน หรือบางกรณี อาจเป็นการจงใจให้มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นบนหน้าสื่อ หรือสร้างข่าวเพิ่มความสำคัญให้กับตัวเอง ทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติกลับเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว

หรือบางกรณี อาจเป็นการวิเคราะห์ หรือคาดการณ์ ของคนในวงการการเมือง กับนักวิชาการ และ/หรือ กระทั่ง อาจหวังสร้างความสับสน และเป็น"ลับ ลวง พราง"ให้กับขั้วรัฐบาลที่สนับสนุน"บิ๊กตู่" ล้วนมีความเป็นไปได้ทั้งหมด

ตั้งแต่กรณีพรรคเพื่อชาติ ที่ ยงยุทธ์ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร จากจังหวัดเชียงราย และจตุพร พรหมพันธ์ ประธานนปช. เป็นผู้เปิดประเด็น และเผยแพร่ภาพถ่ายร่วมกับแกนนำนปช.คนอื่นๆในห้องประชุมพรรคเมื่อวันก่อน รวมถึงกระแสข่าวที่ระบุว่า ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีคลัง สมัยรัฐบาลทักษิณ จะมานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค

ทั้งนี้ ในความเป็นจริง จตุพร เพิ่งพ้นโทษจำคุกคดีหมิ่นประมาท อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ต้องรออีก 9 ปีจึงจะมีคุณสมบัติลงสมัคร ส.ส.หรือเข้าสู่แวดวงการเมืองได้ ขณะที่"ยุทธ์ ตู้เย็น"ถ้าดูจากคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ขาดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. เพราะต้องคำพิพากษาของศาลปมทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งกรณีของยงยุทธ์ เป็นที่มาของพรรคพลังประชาชน ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคเมื่อปี 2551

การเคลื่อนไหวด้วยยุทธศาสตร์"แยกกันเดิน ร่วมกันตี" ที่จตุพรกล่าวอ้างกับสื่อ ถึงขณะนี้ ยังไม่มีคำยืนยันจากแกนนำสำคัญในพรรคเพื่อไทย แม้แนวทางนี้ จะมีเสียงขานรับ และมีกูรูการเมือง รวมทั้งนักวิชาการด้านการเมือง จะนำมาขยายผล วิเคราะห์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย โดยให้เหตุผล การแตกพรรค หรือตั้งพรรคนอมินี หรือตั้งพรรคสาขา จะช่วยให้พรรคใหญ่ กระจายบุคคลากรลงไปสมัครส.ส.ในสังกัดพรรคเหล่านี้แทน และจะเป็นช่องทางให้ สามารถรักษาจำนวนส.ส.ที่เคยมีจำนวนมากเอาไว้ได้

แต่ในทางปฏิบัติ จะสามารถตอบโจทย์ได้จริงหรือไม่ ดูจะเป็นคำถามปริศนาที่ท้าทายความเป็น”ผู้รู้”ของบรรดากูรูเหล่านี้ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้สมัครจาก 2 หรือ 3 พรรคที่แตกแยกออกไป ต้องไปสู้กันเองในสนามเลือกตั้ง ซึ่งจะนำไปสู่คะแนนเสียงที่กระจัดกระจาย สุ่มเสี่ยงที่จะแพ้ให้กับพรรคคู่แข่งที่อยู่ต่างขั้ว

ครั้นจะไปหวังคะแนนที่ผู้สมัคร 2-3 พรรคได้รับ สามารถนำไปคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ ส.ส.ระบบนี้ มีเพียง 150 คน เทียบกับ ส.ส.เขต ที่มีมากถึง 350 คน

ในทางปฏิบัติ การจัดตั้งฐานมวลชนที่เป็นของพรรคเดียว ให้แยกออกเป็น 2 หรือ 3 พรรคให้ได้ผลจริง อย่างที่กูรูคาดการณ์ มีทางเดียวที่จะทำได้ คือการซื้อเสียงอย่างเป็นระบบ

ล่าสุด การแสดงความเห็นผ่านบทความของ ศ.ดร.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ และอดีตผู้สมัคร กกต. ระบุชัดเจนว่า คนร่างกฎหมายสร้างความเข้าใจผิดให้คนไทยมาตลอด เพราะระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่ได้เก็บคะแนนทุกเม็ด เพราะจะมีคะแนน"ตกน้ำ"จากพรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ (จากการรวมคะแนนเลือกตั้งทั้งหมดทุกพรรคแล้วหารด้วยจำนวน ส.ส.)

ต่างจากระบบเลือกตั้งที่ใช้ในไอร์แลนด์และมอลตา ที่คะแนนจะไม่ตกน้ำของจริง แม้แต่ในพรรคที่ได้คะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์ นอกจากนี้ ยังฟันธงด้วยว่า คะแนนผู้สมัครส.ส.เขต จะมีความหมายเฉพาะในกรณีที่แพ้แบบสูสี แต่หากแพ้แบบหลุดลุ่ย โดยเฉพาะพรรคเล็กพรรคน้อย คะแนนที่ได้จะไม่มีความหมายอะไรเลย

ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของแต่ละพรรค จนถึงขณะนี้ สรุปได้เลยว่า ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างเด่นชัด จนกว่าจะถึงวันที่ทุกพรรคทุกขั้ว พร้อม"หงายหน้าไพ่ในมือ" โดยเฉพาะขั้วพรรคเพื่อไทย ซึ่งผ่านสังเวียนและการถูกยุบพรรคมาอย่างช่ำชอง คงไม่ทะเล่อทะล่า หรือแบไต๋ง่ายๆ ให้อีกฝ่ายดักทางถูก

ทั้งหมดที่ปรากฏบนหน้าสื่อ อาจเป็นเรื่องจงใจ เข้าทำนอง"ลับ ลวง พราง"เท่านั้น ก็เป็นได้

related