svasdssvasds

ถอดบทเรียนพรรค(หนุน)ทหาร จากอดีตสู่ "พลังประชารัฐ"

ถอดบทเรียนพรรค(หนุน)ทหาร จากอดีตสู่ "พลังประชารัฐ"

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

คนในยุคสมัยปัจจุบัน หากพูดถึงพรรคทหาร หรือพรรคหนุนทหาร มักจะนึกถึงพรรคสามัคคีธรรม เป็นลำดับแรก ทั้งที่ก่อนหน้านั้น มีพรรค(หนุน)ทหาร เกิดขึ้นมากหมายหลายพรรค นับตั้งแต่พรรคเสรีมนังคศิลา พรรคชาตินิยม พรรคสหประชาไท หรือพรรคชาติประชาธิปไตย

พรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบต่ออำนาจของนายทหารในกองทัพเหล่านี้ ส่วนใหญ่สามารถสานฝันให้คณะผู้ก่อการรัฐประหาร สามารถเดินหน้าต่อไปได้บนเส้นทางทางการเมือง ด้วยยังคงถืออำนาจรัฐอยู่ในมือ บวกกับกฏหมายพิเศษหรืออำนาจพิเศษที่มักจะผลักกันให้เกิดขึ้นคู่กัน ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 17 ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2502 ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นนำมาใช้ ควบคู่กับ พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 สำหรับผู้ที่เห็นว่า อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงและความสงบสุขของชาติ แต่ขณะเดียวกัน ก็ถูกนำไปใช้กับฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มคนที่เห็นแตกต่างอย่างจงใจ เพื่อกำจัดเสี้ยนหนามทางการเมือง รวมถึงประชาชนทั่วไป เพียงแค่หวาดระแวงต้องสงสัยเท่านั้น ถือเป็นการแทรกแซงอำนาจตุลาการอย่างชัดเจน

มาตรา 17 ยังถูกบรรจุไว้ในธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2515 ซึ่งจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี 3 สมัย ได้เดินรอยตามจอมพลสฤษดิ์ และใช้อำนาจ มาตรา 17 ออกคำสั่งแทนอำนาจตุลาการต่อไป รวมถึงใช้อำนาจพิเศษสั่งยึดทรัพย์จากกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ตลอดจนการใช้อำนาจสั่งปราบปรามนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชน ในเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516

ปี 2519 เมื่อพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ ทำรัฐประหาร หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และให้ศาตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีมาตรา 21 ซึ่งมีบทบัญญัติการให้อำนาจพิเศษไว้เช่นเดียวกับมาตรา 17 ไปปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2519 รวมทั้งในปี 2520 พลเรือเอกสงัด ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง และให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีอำนาจพิเศษดังกล่าว กำหนดไว้ในมาตรา 27 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520

ต่อมาเมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เจอกับวิกฤติการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก จนถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลางสภา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 และสภาผู้แทนราษฎร ได้หยั่งเสียงและเลือกพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ จะตั้งพรรคชาติประชาธิปไตย เพื่อหวังกรุยทางสู่เก้าอี้นายกฯสมัย 2 ในการเลือกตั้ง ปี 2526 โดยมีนักการเมืองระดับ "บิ๊กเนม" เข้าร่วมด้วยหลายคน แต่ได้ ส.ส.เพียง 15 คน สานฝันไม่สำเร็จ ต้องปล่อยให้ พล.อ.เปรม ซึ่งไม่ได้ตั้งพรรคการเมืองเอง แต่มี ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ไปเชื้อเชิญให้เป็นนายกฯสมัยที่ 2 ถึงบ้านพัก

พรรค(หนุน)ทหาร ที่ใช้วิธีรวบรวม ส.ส.จากหลายพรรคหลายกลุ่ม มารวมกันเป็นกลุ่มก้อน กระทั่งได้ ส.ส.จากการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2535 มากเป็นอันดับหนึ่ง 79 คน จากทั้งสภาฯ 360 คน คือพรรคสามัคคีธรรม ภายใต้การนำทัพของ "พ่อเลี้ยง" ณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตหัวหน้าพรรครวมไทยและพรรคเอกภาพ

แม้ว่าในท้ายที่สุด พรรคสามัคคีธรรม จะจับมือกับอีก 4 พรรคการเมือง คือชาติไทย กิจสังคม ประชากรไทย และราษฎร สนับสนุน "บิ๊กสุ" พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ.ซึ่งเปี่ยมบารมีมากในขณะนั้น และเป็นรองประธาน รสช. ที่รัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ แต่ พล.อ.สุจินดา นั่งอยู่บนเก้าอี้นายกฯได้เพียง 47 วัน ก็ต้องลาออก หลังเกิดเหตุการณ์ "ม็อบมือถือ" ขับไล่ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

ถึงแม้กรณีพรรคสามัคคีธรรม จะเป็นบทเรียนสำคัญของกลุ่มการเมืองที่พยายามสนับสนุนนายทหารผู้มีบารมีในกองทัพขึ้นเป็นผู้นำบริหารประเทศ แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ในช่วงยุคสมัยที่ประชาธิปไตยไทยเริ่มเบ่งบาน ต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่หลังเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในฐานะผู้นำ คปค. เมื่อปี 2549 (ก่อนแปรสภาพเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" หรือคมช.) กลับยังมีนักการเมืองบางส่วน ที่ยังมีแนวคิดจะจัดตั้งพรรคการเมือง(หนุน)การสานต่ออำนาจของผู้นำในกองทัพ เหมือนวัฏจักรเดิมๆที่ผ่านๆมา ขณะเดียวกัน ก็มีข่าววงในว่าบิ๊ก คมช.บางคน หนุนหลัง ให้มีการทำพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาล และรองรับให้บิ๊ก คมช.เข้าไปมีตำแหน่งในครม.

พรรคเพื่อแผ่นดิน จึงเกิดขึ้นภายใต้โจทย์ดังกล่าว และใช้วิธีการรวบรวมอดีต ส.ส.จากพรรคและกลุ่มการเมืองต่างๆอีกรอบ โดยเฉพาะในการเปิดตัวครั้งแรก มีทั้ง ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และกลุ่มกรุงเทพฯ 50 ของสุรนันทน์ เวชชาชีวะ กลุ่มพญานาคของ พินิจ จารุสมบัติ-ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง กลุ่มปากน้ำของ วัฒนา อัศวเหม กลุ่ม สุวิทย์ คุณกิตติ กลุ่มอินทรีอีสานของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก กลุ่มบ้านริมน้ำของ สุชาติ ตันเจริญ กลุ่มโคราชของ ไพโรจน์ สุวรรณฉวี หรือแม้แต่ "ป๋าเหนาะ" เสนาะ เทียนทอง

ยังไม่นับมือบริหารด้านเศรษฐกิจที่รู้จักกันดี อย่าง วิจิตร สุพินิจ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ศุภชัย พิศิษฐวานิช อดีตปลัดกระทรวงการคลัง บรรพต หงษ์ทองอดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ และสหกรณ์ และวิเชียร เตชะไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน

แต่เพราะความเห็นต่างจนนำไปสู่ความขัดแย้ง กระทั่งมีการถอนตัว-แยกกลุ่ม มีปัญหาเรื่องเงินทองค่าใช้จ่ายที่ไม่ลงตัว ประกอบกับผลการเลือกตั้ง ปี 2550 ได้ ส.ส.เพียง 21 คน ทำให้ภารกิจตั้งต้นต้องล้มเลิก ทั้งยังลุกลามบานปลายกลายเป็น 2 กลุ่ม 2 ฝ่ายแย่งชิงการบริหารพรรค และต่อเนื่องไปถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่มี พล.ต.อ.ประชา มีชื่อเป็นผู้ร่วมชิงชัยด้วย

ขณะที่ "บิ๊กทหาร" บางคนต้องฝันค้าง ตื่นจากภวังค์สู่ความเป็นจริงของการเมือง และยังเป็น "บทเรียน" สำคัญให้กับทั้ง "บิ๊กสีเขียว"และนักการเมืองบางส่วนที่หวังเกาะบารมี โลดแล่นบนเวทีการเมืองต่อไป โดยไม่ศึกษาหรือคำนึงถึงความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี่ และการสื่อสารในยุคอินเตอร์เน็ตไร้พรมแดน ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กระทั่งถึงยุคสมาร์ทโฟน และสื่อโซเชียล ที่เข้ามามีบทบาทสูงสุดในวิถีชีวิตของผู้คนอย่างในปัจจุบัน

ถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่ สำหรับพรรค(หนุน)ทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคพลังประชารัฐ ต้องศึกษาเพื่อหาข้อสรุปโดยเร็ว

เพราะไม่เพียง พรรค(หนุน)ทหาร มักไม่จีรังยั่งยืน จุดจบไม่ค่อยสวยแล้ว ยังต้องถามไถ่ผู้คน"เจนใหม่" ในยุคสมัยปัจจุบันด้วยว่า จะหนุนหรือไม่?

related