svasdssvasds

จับตายุทธศาสตร์ "เพื่อไทย" ก่อนถึงดีเดย์ 28 พ.ย. อัยการสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้อง?

จับตายุทธศาสตร์ "เพื่อไทย" ก่อนถึงดีเดย์ 28 พ.ย. อัยการสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้อง?

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ในฐานะพรรคการเมืองใหญ่อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย ถูกจับตามาตลอดว่าจะรับมือรัฐบาลคสช. และสู้ศึกเลือกตั้ง ปี 2562 แบบไหน

ท่ามกลางกระแสยุทธศาสตร์ "แยกกันเดิน ร่วมกันตี" รองรับรัฐธรรมนูญและระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ คือระบบ"จัดสรรปันส่วนผสม"

มีเปิดตัวพรรคสาขาหรือที่ถูกเรียกพรรคนอมินี รอการผ่องถ่ายโอนย้ายส.ส.ไปยังพรรคเพื่อธรรม /เพื่อชาติ และล่าสุด พรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช.

ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยได้ "หงายไพ่"บนมือชุดแรก โดยดันกรรมการบริหารพรรคชุดเดิม นำโดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ และภูมิธรรม เวชยชัย ทำหน้าที่บริหารพรรคเพื่อไทยต่อไป ขณะที่ยังเก็บ "หญิงหน่อย"สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ และคนสำคัญๆอย่าง จาตุรนต์ ฉายแสง / พงศ์เทพ เทพกาญจนา หรือแม้แต่ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ไว้ในโซนที่ "ปลอดภัย" เพื่อเป็นแกนนำและคนขับเคลื่อน " รุ่นที่ 2" หากมีปัญหาเกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพรรคเพื่อไทยต้องเดินถอยหลังสู่การถูก "ยุบพรรค" กรณีแกนนำ 8 คนถูกคสช.ส่งมือดีด้านกฎมาย แจ้งความกับกองปราบฯ เอาผิด 4 ข้อหาสำคัญ ฝ่าฝืนคำสั่งที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน/ ฝ่าฝืนประกาศที่ 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองจัดประชุมหรือทำกิจกรรมทางการเมือง /ฝ่าฝืนมาตรา 116 กฎหมายอาญาว่าด้วยการยุงยงปลุกปั่น และผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ถือเป็นเรื่องที่แกนนำพรรคเพื่อไทย และอาจรวมถึงคนแดนไกลหวั่นเกรงที่สุด

ล่าสุดมีกระแสข่าววงในว่า วันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 อัยการสูงสุดนัดฟังคำวินิจฉัยว่า จะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องในคดีนี้ ยิ่งทำให้มีปรากฎการณ์ "เสียวสันหลัง" ยิ่งขึ้น

เพราะหากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง จะมีผลต่อพรรคเพื่อไทยอย่างรุนแรง เนื่องจากวันดังกล่าว อยู่ถัดจากวัน "เดดไลน"ที่ผู้สมัคร ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคการเมือง คือวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 หาไม่แล้ว จะขาดคุณสมบัติของการสมัคร ส.ส.ทันที

แกนนำพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่ง จึงหาทางออกแบบกันไว้ก่อน โดยให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ผ่องถ่ายย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นที่ถือเป็นพันธมิตรกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น และเป็นที่มาของการรื้อฟื้นพรรคเพื่อธรรมขึ้นมาใหม่

ก่อนที่แกนนำในพรรคเพื่อไทยอีกส่วนหนึ่ง จะมีความเห็นต่างออกไป โดยเฉพาะเหตุผลที่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยไม่น่าจะถูบยุบด้วยเรื่องนี้ หรือหากต้องถูกยุบ ก็ไม่น่าจะรวดเร็วถึงขนาดต้องเสียขบวน เพราะในทางปฏิบัติ ยังมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการอีกระยะหนึ่ง

นำไปสู่กระแสข่าวขัดแย้งกันเองภายในพรรค กระทั่งแกนนำส่วนที่มีบทบาทในคณะกรรมการบริหารพรรคปัจจุบัน อ้างจะขออยู่กับพรรคเพื่อไทยต่อ ไม่ขอย้ายไปพรรคใหม่ตามที่ได้กำหนดแนวทางกันเอาไว้ตั้งแต่แรก พร้อมเหตุผล ขอสู้อยู่กับพรรคเพื่อไทยจนถึงที่สุด

แต่กระนั้น กูรูการเมืองหลายคน ยังเชื่อว่าพรรคเพื่อไทย น่าจะมี "ไพ่อีกสำรับ"อยู่ในมือ รอดูจังหวะ เวลา และสถานการณ์นับจากนี้ไปว่าจะเป็นอย่างไร ก่อนตัดสินใจว่า จะหงายไพ่อีกชุดเพื่อพลิกเกมสู้ศึกเลือกตั้งในทางโค้งสุดท้ายอย่างไร

แต่เชื่อกันว่า น่าจะเชื่อมโยงไปถึงพรรคน้องใหม่ในขั้วเพื่อไทย นั่นคือไทยรักษาชาติที่ว่ากันว่า น่าจะเป็น "ของจริง" หลังจากหนึ่งในคนขับเคลื่อนพรรคในขณะนี้ คือพวงเพ็ชร ชุนละเอียด อดีต ส.ส.เลย อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีศึกษาฯควบโฆษกกระทรวง ออกโรงแบไต๋ว่า จะมี"บิ๊กเนม"เข้าไปร่วมพรรคด้วย และที่สำคัญ จะมี "ดีเอ็นเอ"ของบุคคลสำคัญ ซึ่งตีความแล้วน่าจะหมายถึงคนแดนไกล ร่วมการันตีว่าเป็น "พรรคของแท้" เพื่อสร้างความมั่นใจและเรียกคะแนนเสียงสนับสนุนจากแฟนคลับได้

มีข่าววงในรายงานว่า พรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. ที่พยายามใช้ชื่อย่อให้คล้ายชื่อทักษิณ ชินวัตร มากที่สุด มีกำหนดประชุมผู้ร่วมก่อตั้งพรรคครั้งแรกวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่โรงแรมรามาการ์เดนท์ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการพรรคชุดแรก 11 คน สำหรับขับเคลื่อนพรรคในระยะแรก ซึ่งอาจจะยังไม่ใช่ตัวจริง หรือ "บิ๊กเนม" แต่อาจมีคณะที่ปรึกษาซึ่งน่าจะเป็นที่รู้จักดีของคนในแวดวงการเมืองร่วมอยู่ด้วย

ก่อนหน้านี้ เคยมีรายชื่อ ปานปรีย์ มหิทธานุกร อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตผู้แทนการค้าไทย สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะไปนั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ แต่ยังไม่มีท่าทีชัดเจนจากเจ้าตัว รวมทั้งเคยมีชื่อพานทองแท้ ชินวัตร ทายาททักษิณ ชินวัตร รวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ในช่วง "ลับ ลวง หลอก"แต่ท้ายที่สุด ก่อนเส้นตาย 26 พฤศจิกายน 2561 ในขั้วพรรคเพื่อไทยจะมีความชัดเจนออกมามากกว่านี้ว่า จะเลือก "ยุทธศาสตร์" การเดินหน้าทางการเมืองอย่างไร?

แต่ที่แน่ๆ เดินหน้าสู้ต่อในเกมชิงอำนาจการเมืองต่อไปแน่นอน

related