svasdssvasds

พปชร.ประกาศกวาด 150 ส.ส. เรื่องที่ "พูดง่าย" แต่ "ทำยาก"

พปชร.ประกาศกวาด 150 ส.ส. เรื่องที่ "พูดง่าย" แต่ "ทำยาก"

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ประกาศความยิ่งยงเกรียงไกรกลางงานเปิดตัวต้อนรับสมาชิกใหม่ในโรงแรมดังกลางกรุง สำหรับพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะนักการเมืองจากกลุ่มสามมิตร ที่มากันพร้อมหน้าพร้อมตา

พปชร.ประกาศกวาด 150 ส.ส. เรื่องที่ "พูดง่าย" แต่ "ทำยาก"

ทั้ง ส.สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย สมัยทักษิณ ชินวัตร ก่อตั้งพรรคครั้งแรก คราวนี้พูดเสียงดังฟังชัดแบบไม่เกรงใจใครแม้แต่คนที่อยู่แดนไกลว่า สมัยอยู่พรรคไทยรักไทย คิดว่ายิ่งใหญ่แล้ว แต่วันนี้ยิ่งใหญ่มากกว่า แค่ 8 เดือนได้ผู้สมัคร ส.ส.ครบ 500 คนแล้ว และมั่นใจว่าจะได้ ส.ส.แน่ๆ 150 คน

พปชร.ประกาศกวาด 150 ส.ส. เรื่องที่ "พูดง่าย" แต่ "ทำยาก"

ตามด้วย ส.สมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตเจ้าของโครงการ “วัวล้านตัว”สมัยรัฐบาลทักษิณเช่นกัน ที่ตอกย้ำชัดว่า การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ปี 60 ออกแบบมาเพื่อพวกเรา ทุกคะแนนมีความสำคัญ แต่ต้องแปรเปลี่ยนจากตัวบุคคลในแต่ละเขต ไปเป็นคะแนนให้ได้

โดยมีเสียงขานรับพร้อมเสียงปรบมือจากสมาชิกพรรคในห้องเซ็งแซ่ ด้วยเชื่อว่า จะสามารถสานฝันได้สำเร็จ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือหนุน “บิ๊กตู่” ขึ้นนั่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2

และยิ่งเมื่อ ส.สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ในฐานะแม่บ้าน เชิญชวนผู้ร่วมงานเปิดตัวสมาชิกที่อุดมไปด้วยอดีต ส.ส.เก่า และอดีตรัฐมนตรีจากหลายรัฐบาล ที่แทบจะเดินชนกันทั้งงาน ลุกขึ้นโชว์ตัว พร้อมว่าที่ผู้สมัครหน้าใหม่แต่หลายคนเก่ามาจากเวทีท้องถิ่น ก่อนย้ำว่า นี่เป็นเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ที่ทุกคนมาอยู่ร่วมกันอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยจำนวนขนาดนี้ มีหรือที่จะไม่กวาด ส.ส. 350 เสียง

พูดอย่างฮึกเหิมขนาดนี้ มีหรือที่บรรยากาศภายในงานจะไม่เพิ่มดีกรีคึกคักครึกครื้นร้อนแรงยิ่งขึ้นตามที่วางแผนกำหนดไว้

แต่ขณะที่หลายคนมองว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ที่นักการเมืองจากหลายค่ายหลายกลุ่มมารวมตัวกันในพรรคใหม่ แต่สำหรับคอการเมืองพันธุ์แท้ ที่ติดตามและเห็นวัฏจักรความเป็นไปของการเมืองไทยตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา กลับจะรู้สึกคุ้นชินตากับภาพการรวมตัวในลักษณะเช่นนี้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะ เมื่อก่อนจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น มักจะมีพรรคใหม่หรือคนใหม่ประกาศตัวลงสู่เวทีการเมือง หรือตั้งพรรคการเมืองใหม่

แต่ที่แทบจะเป็นสูตรสำเร็จรูป คือการตั้งพรรคหรือรวมตัวนักการเมือง หลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารล้มอำนาจรัฐบาลชุดก่อน ตามด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และรองรับการเดินหน้าสู่โรดแม็ปเลือกตั้ง

ตั้งแต่กรณีพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อเตรียมการสู่เวทีเลือกตั้งปี 2512 พรรคสามัคคีธรรม ของพ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ เพื่อเตรียมการรับมือเลือกตั้งปี 2535/1 หรือแม้แต่พรรคเพื่อแผ่นดินในการรวมตัวกันครั้งแรก เพื่อรองรับการเลือกตั้งปี 2550

ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง หรือทำสำเร็จเฉพาะกิจบ้าง อย่างกรณีพรรคสามัคคีธรรม ที่สามารถส่ง “บิ๊กสุ”พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ได้ แต่สุดท้ายก็อยู่ได้เพียง 47 วัน เพราะถูกต่อต้านคัดค้านจากกลุ่ม “ม็อบมือถือ” จนนำไปส่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในที่สุด

แต่แนวทาง “โตแล้วเรียนลัด” ยังถูกนำมาใช้ปฏิบัติสืบต่อไม่จบสิ้นอย่างเหลือเชื่อ ภายใต้โฉมหน้าค่าตาและรายชื่อนักการเมืองในกลุ่มเดิมๆที่วนเวียนไปมา อย่างกรณีของพรรคพลังประชารัฐ นักการเมืองที่ย้ายเข้าไปสังกัดเพื่อสนับสนุน “บิ๊กตู่” เป็นผู้นำประเทศหลังการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ล้วนมีรายชื่อเคยย้ายพรรคไปร่วมสังกัดพรรคเกิดใหม่ที่ตั้งขึ้นเพื่อการสืบต่ออำนาจทั้งสิ้น เช่นเดียวกับระดับแกนนำ และอดีต ส.ส.บางส่วน ก็เคยสนับสนุนและร่วมงานใน ครม.กับทักษิณ และบางคนถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องความไม่โปร่งใสในหลายๆโครงการมาแล้ว

เช่นเดียวกับองคาพยพอื่นๆ โดยเฉพาะในแม่น้ำ 5 สายที่ คสช.แต่งตั้ง หลังการรัฐประหารปี 2557 ก็เคยร่วมงานและสนับสนุนทักษิณเช่นเดียวกัน

ปัญหาความท้าทายที่สำคัญนับจากนี้ไป จึงอยู่ที่ผู้บริหารพรรค ในกลุ่มคนหน้าใหม่บนถนนสายการเมืองอาชีพ อย่าง อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค สนธิรัตน์ สินธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค กอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค กับบรรดาแกนนำและอดีต ส.ส.จากกลุ่มและขั้วการเมืองต่างๆ ที่ประกาศตัวย้ายเข้าสังกัดพรรคประชารัฐอย่างอลังการงานสร้าง จะสามารถแสดงออกให้เห็นถึงความแตกต่าง ทั้งในเรื่องการทำงาน วิธีคิด และความโปร่งใส ยุติธรรม ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เริ่มประเดิมจากช่วงการนับถอยหลังสู่โรดแม็ปการเลือกตั้ง ส.ส.ได้อย่างไร

ตั้งแต่การไม่เอารัดเอาเปรียบ พร้อมสู้ด้วยกฎกติกาที่เป็นธรรม ไม่ใช้ความได้เปรียบทางการเมืองเป็นช่องทางเอื้อประโยชน์กับฝ่ายตนได้อย่างไร ขณะที่ยังนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีในฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งการเคลื่อนไหวลงพื้นที่ อ้างไปรับฟังปัญหาประชาชน แต่บางครั้งมีเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ถึงขั้นขึ้นรถขบวนแห่หาเสียง

ยังไม่นับรวม รายชื่อนักการเมือง ทั้งอดีต ส.ส.และอดีตรัฐมนตรีหลายรัฐบาลที่พรรคเพิ่งเปิดตัวไป ซึ่งหากไล่เรียงเป็นรายบุคคล และตรวจสอบจากโปรไฟล์ปี พ.ศ.ของการมีตำแหน่งแล้ว มีไม่มากนักที่จัดอยู่ในเกรดเอ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเกรดบีและเกรดซี ที่ยังต้องรอลุ้นหลายชั้น หากไม่มีการจัดระเบียบ กติกา กลไกอำนาจ หรือเขตเลือกตั้ง ที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้ได้อย่างเต็มที่

เพราะทุกวันนี้ บริบททางสังคม ความตื่นตัวและสนใจทางการเมืองของผู้คน ได้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ยิ่งเมื่อเทน้ำหนักไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่โหยหาเพราะยังไม่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งส.ส.ครั้งแรกมานานถึง 7-8 ปี รวมกับคนในวัยทำงานที่เสพข้อมูลข่าวสารได้อย่างไร้ข้อจำกัด อาจส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งใหม่พลิกโฉมเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญได้

ตัวเลข 150 ส.ส.ที่แสดงความมั่นใจไว้ อาจจะยากลำบากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาก็เป็นได้

สำคัญไปกว่านั้น หากห่างกว่าเป้าที่ประกาศไว้มากๆ ผลที่จะตามมาทันที คือ ทั้งความชอบธรรมและโอกาสที่จะรวบรวม ส.ส.เพื่อส่ง “บิ๊กตู่”เป็นนายกฯรอบ 2 จะจบลงทันที

related