svasdssvasds

เตือนเรื่องเล็กอาจเป็นเรื่องใหญ่ ว่าด้วย บัตรเลือกตั้งโหลปี 2562

เตือนเรื่องเล็กอาจเป็นเรื่องใหญ่ ว่าด้วย บัตรเลือกตั้งโหลปี 2562

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ปะทะวิวาทะทันควันบนหน้าสื่อ ทั้งสื่อหลักและสื่อส่วนตัว จนชุลมุนวุ่นวายไปตามๆกัน

กับเรื่อง “บัตรเลือกตั้ง” ที่กกต.จะจัดพิมพ์ เพื่อนำไปใช้กับการเลือกตั้ง 62

เมื่อมีแนวโน้มสูงว่า จะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดที่เป็นข้อมูลบนบัตรเลือกตั้ง จากครั้งก่อนๆที่มีครบทั้งหมายเลขพรรคที่สมัคร โลโก้พรรค และชื่อพรรคการเมือง ในบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จะถูกถอดทิ้ง เหลือแค่หมายเลขผู้สมัคร เหมือนบัตรเลือกตั้งส.ส.ระบบเขต ที่ใช้ในการเลือกตั้งปี 54

จึงเป็นความอลหม่านต่อเนื่อง กับเรื่องกฎ กติกา และสาระปฏิบัติว่าด้วยการใช้สิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนส.ส. หลังจากก่อนหน้านี้ ก็มีปรากฏการณ์ความแปลกใหม่ออกมาเป็นระยะๆ

นับตั้งแต่ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่ประเทศไทยนำมาใช้แห่งแรกของโลก โดยมีลักษณะสำคัญคือสกัดพรรคการเมืองใหญ่ไม่ให้ใหญ่เกินไป หากได้ส.ส.เขตเยอะอยู่แล้ว อาจจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลงหรืออาจไม่ได้เลย

บัตรเลือกตั้งจากเดิม 2 .ใบ แยกเป็นส.ส.เขต กับส.ส.บัญชีรายชื่อหรือเลือกพรรค กลายเป็นควบรวมกิจการเหลือเพียง 1 ใบ ใช้ทั้งเลือกตั้งส.ส.เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ แถมเลือกว่าที่นายกรัฐมนตรีพ่วงเข้าด้วย

มีกติกาการใช้เบอร์ผู้สมัครแต่ละเขตแม้ในจังหวัดเดียวกัน แต่เบอร์อาจแตกต่างกัน การยื่นสมัครส.ส.แต่ละเขตพื้นที่ ต่างคนต่างยื่นสมัคร จากนั้นจับสลากหมายเลขผู้สมัครส.ส.กันเอง ต่างจากเดิมที่ให้หัวหน้าพรรคยื่นสมัคร แล้วจับเบอร์ผู้สมัครของทั้งคนทั้งพรรค แล้วใช้เหมือนกันทั่วทั้งประเทศ

นี่จึงเป็นปฐมบทที่นำมาสู่ปัญหาการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ที่กกต.ระบุเป็นข้ออ้างว่า จะเป็นปัญหาและเกิดความล่าช้า เพราะแต่ละเขตพื้นที่รายละเอียดบนบัตรเลือกตั้งจะแตกต่างกัน และอาจต้องจัดพิมพ์ถึง 350 แบบ แทนที่จะพิมพ์แบบเดียวแล้วใช้ได้ทั้งประเทศเหมือนเลือกตั้งครั้งก่อน

จึงต้องหาโรงพิมพ์จำนวนมากเพื่อพิมพ์บัตรที่ต่างกัน ต้องใช้เวลาและงบประมาณมากกว่าปกติ และสุดท้าย อ้างเรื่องการจัดส่งบัตรลงคะแนนเสียงที่จะส่งไปต่างประเทศสำหรับผู้ต้องการใช้สิทธิ์นอกราชอาณาจักร หากบัตรตกหล่น ส่งไปไม่ถึง จะไม่สามารถจัดส่งบัตรสำรองไปได้ทัน

ความจริงเรื่องนี้ กกต.ชุดก่อนหน้านี้ เคยวางกรอบและให้แนวทางกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสำนักงานกกต.มาแล้วว่า หากจำเป็นก็ต้องจัดพิมพ์ทั้ง 350 แบบเพื่อให้สามารถรองรับและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

แต่ดูเหมือน 5 เสือกกต.จะไม่ได้มีการฟันธงหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้ตัดสินใจให้เด็ดขาดตั้งแต่ครั้งนั้น รอให้กกต.ชุดใหม่ตัดสินใจ ก็ไม่ทราบอีกเช่นกัน เรื่อง “บัตรเลือกตั้งโหล” จึงถูกเสนอขึ้นมาอีกครั้ง หลังจาก “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีข้อเสนอว่า น่าจะมีเพียงหมายเลขผู้สมัครกับรายชื่อผู้สมัครบนบัตรเลือกตั้งก็น่าจะพอ (ไม่รวมช่องกาเครื่องหมายกากบาทสำหรับใช้สิทธิ์ลงคะแนน)

ข้อเสนอของกกต.ที่ตามทันควัน ยิ่งไปลดสเป็คข้อเสนอของ “บิ๊กตู่” เมื่อจะให้มีเฉพาะหมายเลขผู้สมัครอย่างเดียว ตัดทิ้งทั้งรายชื่อผู้สมัคร ชื่อพรรค และโลโก้พรรค

จึงนำไปสู่การออกโรงวิพากษ์วิจารณ์แบบ “จัดหนัก” โดยเฉพาะจาก 2 พรรคใหญ่และพรรคพันธมิตร ซึ่งขณะนี้ ถือเป็นคู่แข่งสำคัญของพรรคที่สนับสนุน “บิ๊กตู่”เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 นำโดยพรรคพลังประชารัฐ

นอกจากย้ำเป็นเสมือนการตัดสิทธิ์คนที่อ่านหนังสือไม่ออก แต่จำโลโก้พรรคการเมืองได้ ไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิรูปการเมือง และสุ่มเสี่ยงจะขัดรัฐธรรมนูญถึงขั้นขู่จะยื่นตีความแล้ว ยังพุ่งเป้าวิจารณ์ถึงการเอารัดเอาเปรียบคู่แข่งจากพรรคการเมืองอื่น รวมทั้งรูปแบบที่พล.อ.ประยุทธ์ เสนอ ก็ถูกระบุว่า หวังเอาชื่อผู้สมัครซึ่งผู้ใช้สิทธิ์อาจคุ้นชิน แต่จำไม่ได้แล้วว่า ปัจจุบันย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองไหน

อันจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดไม่ถูกต้องของผู้ใช้สิทธิ์ เนื่องจากครั้งนี้ มีอดีตส.ส.จากพรรคการเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐจำนวนมาก

อดีตนักการเมืองเหล่านี้ เบื้องลึกในใจเอง ก็ยังหวั่นๆว่าจะไม่ได้รับเลือกจากประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากย้ายไปอยู่พรรคใหม่ก็มีเยอะ

คอการเมืองพันธุ์แท้จำนวนไม่น้อย ฟันธงว่าเรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ และอาจลุกลามบานปลายมีผลต่อการเลือกตั้งส.ส.เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. ที่ออกโรงวิจารณ์เรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น และย้ำชัดไว้ในตอนท้ายด้วยว่า...

งานนี้จบไม่สวย และศพก็จะไม่สวย!

แต่จะถึงขั้นนั้นหรือไม่ อาจอยู่ที่การหารือทบทวนอีกครั้งของกกต.

related