svasdssvasds

“บิ๊กตู่”บุก บึงกาฬ-หนองคาย เป้าหมายหลักตรวจเยี่ยม - ประชุมครม.สัญจร “เป้าหมายเสริม” ปักธงชิงส.ส.จากเพื่อไทย

“บิ๊กตู่”บุก บึงกาฬ-หนองคาย เป้าหมายหลักตรวจเยี่ยม - ประชุมครม.สัญจร “เป้าหมายเสริม” ปักธงชิงส.ส.จากเพื่อไทย

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

การลงพื้นที่และประชุมครม.ในพื้นที่อีสานตอนบนติดลำน้ำโขง ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ยังคงดำเนินต่อไป ในฐานะนายกรัฐมนตรี และเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในฐานะรัฐบาลเต็มตัว ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ

แม้จะเสียงค่อนขอด วิจารณ์ กระทั่งถึงการโจมตีจากพรรคการเมืองต่างๆที่จะเป็นคู่แข่งในสนามเลือกตั้ง โดยเฉพาะในประเด็นเอาเปรียบพรรคอื่นที่ยังมีข้อจำกัด ทำอะไรไม่ได้ ก่อนจะถึงวัน “ปลดล็อค”พรรคการเมืองเมื่อ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา

รวมถึงเรื่องเงินงบประมาณที่อัดฉีดลงไปในโครงการต่างๆมากมาย รวมทั้งผ่านกระเป๋าเงินอีเลคทรอนิกส์ หรือ อี-มันนี่ ระลอกหลังสุด สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้ง 500 บาทสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ก๊าซหุงต้ม และค่าโดยสารรถไฟฟ้าและรถบ.ข.ส. รวมทั้ง เงินค่าเช่าบ้าน 400 บาท สำหรับผู้มีอายุเกิน 60 ปี ซึ่งกรณีหลังนี้ จะได้รับทุกเดือนยาวไปกระทั่งถึงกันยายน 2562 คาบเกี่ยวช่วงเวลาการหาเสียงเลือกตั้งพอดี

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกโรงแจกแจงระหว่างลงพื้นที่พบปะประชาชนที่จังหวัดบึงกาฬว่า เป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลผู้มีรายได้น้อย และผู้สูงอายุ ยืนยันว่าไม่ได้เอาเงินไปแจก แต่เป็นเพียงมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้มีรายได้น้อย ที่รัฐบาลได้ออกมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น

การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของภาครัฐและจัดประชุมครม.สัญจในรต่างจังหวัด ไม่ว่าจะครั้งนี้ หรือครั้งก่อนๆ สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ได้พบเห็น คือการเข้าประชาชนแบบไม่ถือเนื้อถือตัวของพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งทักทายและรับฟังปัญหาจากชาวบ้าน รวมกระทั่งการ “ยิงมุก”ที่สร้างสีสันและความสนุกสนานให้กับประชาชน

นอกเหนือจากความพยายามอธิบายในสิ่งที่รัฐบาลกระทำอยู่ ทั้งเรื่องการดูแลทุกข์สุขของผู้คน การกระจายรายได้ไปยังกลุ่มฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างความปรองดอง ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ มักย้ำเสมอๆ ให้ประชาชนต้องไม่หูเบา หนักแน่น ไม่ยอมเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มใด ที่ต้องการยุยงปลุกปั่น หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จโดยมีจุดประสงค์ทางการเมือง

กระแสตอบรับที่ได้จากชาวบ้าน รวมกับจำนวนอดีตส.ส.ที่ตัดสินใจย้ายพรรคจากขั้วที่อยู่ตรงข้าม มาสนับสนุนขั้วหนุน “บิ๊กตู่” เป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองมากขึ้น กระทั่งประกาศชัดว่าจะเดินหน้าต่อบนเส้นทางการเมือง เพื่อติดตามดูความคืบหน้าโครงการต่างๆที่ได้ริเริ่มไว้

คอการเมืองทั้งพันธุ์แท้และเฉพาะกิจ จึงได้เห็นการเดินทางอย่างต่อเนื่องของพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงหลักของขั้วพรรคเพื่อไทย ล่าสุด 3 จังหวัดทั้งชัยภูมิ บึงกาฬ และหนองคาย

ชัยภูมิ เป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยตระกูลนักการเมืองชื่อดัง อาทิ ชัยวิรัตนะ-คนสมบูรณ์ –จรรย์โกล –สงวนวงศ์ชัย-ประภากรแก้วรัตน์ และชาลีเครือ ส่วนใหญ่ มักจะไปรวมตัวกันในพรรคใหญ่พรรคเดียว และผูกขาดเก้าอี้ส.ส.เป็นนิจ ตั้งแต่สมัยพรรคความหวังใหม่ ของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ ปี 2539 ต่อมา เลือกตั้งปี 2550 มี ส.ส.ถึง 8 คน ปี 2554 มีส.ส.เหลือ 7 คน เป็นของพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยเกือบเหมายกจังหวัด

ครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐ ได้น.ส.ปาริชาติ ชาลีเครือ น้องสาวอดีตประธานวุฒิสภา นายสุชน ชาลีเครือ มาร่วมทีม และจะได้ฐานเสียงจากองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอบจ.ที่มีนายกฯจากตระกูลชาลีเครือ เป็นฐานเสียงให้ด้วย

จังหวัดบึงกาฬและหนองคาย เดิมเป็นจังหวัดเดียวกัน เพิ่งแยกจังหวัดและยกฐานะบึงกาฬขึ้นเป็นจังหวัดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมานี้เอง เดิมเป็นฐานที่มั่นของนายพินิจ จารุสมบัติ แห่งพรรคเสรีธรรม และตระกูลเอียสกุลจากพรรคความหวังใหม่

ก่อนแยกจังหวัด มีส.ส.รวมกัน 6 คน พรรคไทยรักไทยเหมายกจังหวัดมาตั้งแต่ปี 2544 -2548 และ 2550 (ยกเว้นเลือกตั้งซ่อมปี 44) เมื่อแยกเป็น 2 จังหวัดในปี 2554 พรรคเพื่อไทย ก็ยังเหมายกจังหวัด ทั้งหนองคาย 3 คน และบึงกาฬ 2 คน

เลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ ได้นายนิพนธ์ คนขยัน อดีตส.ส.บึงกาฬ และนายกอบจ.บึงกาฬ มาร่วมทีม ขณะที่นายเอกราช ช่างเหลา อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผู้บริหารฟุตบอลขอนแก่นยูไนเต็ด มั่นใจฐานคะแนนสนับสนุน “บิ๊กตู่” ถึงขั้นประกาศจะเหมายกเขต 4 จังหวัดอีสาน ขอนแก่น หนองบัวลำพู บึงกาฬ และหนองคาย

แต่จะทำสำเร็จหรือไม่ ต้องติดตาม

related