svasdssvasds

เพิ่มงบหาเสียงจาก 1.5 เป็น 2 ล้าน แค่เริ่มต้นก็สะท้อนความเหลื่อมล้ำ เปิดข้อมูลใช้จริงเลือกตั้งปี 2554

เพิ่มงบหาเสียงจาก 1.5 เป็น 2 ล้าน แค่เริ่มต้นก็สะท้อนความเหลื่อมล้ำ เปิดข้อมูลใช้จริงเลือกตั้งปี 2554

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

การเตรียมออกระเบียบกกต. ว่าด้วยค่าใช้จ่ายการหาเสียงเลือกตั้ง สำหรับผู้สมัครส.ส.เขตได้คนละ 2 ล้านบาท ขณะที่พรรคสามารถใช้งบประมาณสำหรับหาเสียงเลืกตั้งได้ ไม่เกิน 70 ล้านบาท เป็นประเด็นที่มีความเห็นหลากหลาย

เนื่องจากเดิมทีในการเลือกตั้ง ปี 2554 ผู้สมัครส.ส.เขต มีข้อจำกัดงบประมาณหาเสียงไว้คนละไม่เกิน 1.5 ล้านบาท แม้นว่าบางพรรคการเมืองจะยื่นข้อเสนองบใช้จ่ายเป็นคนละ 2 ล้านบาท แต่กกต.สมัยนั้น ทั้งนายอภิชาติ สุขัคคานนท์ ประธานกกต.และนางสดศรี สัตยธรรม ยืนยันว่าเหมาะสมแล้ว

ขณะที่งบหาเสียงของพรรคการเมืองครั้งนี้ กกต.คิดบนฐานผู้สมัคร 50 คนต่อ 10 ล้านบาท ทำให้พรรคที่สามารถส่งผู้สมัครได้ครบทั้ง 350 คน 350 เขต สามารถใช้งบประมาณได้สูงถึง 70 ล้านบาท

ฝ่ายที่เห็นด้วย จะอ้างถึงค่าใช้จ่ายในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ทั้งการจัดพิมพ์โปสเตอร์หาเสียง ทำแผ่นป้าย ดาวน์รถจักรยานยนต์ให้กับหัวคะแนน ค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันและอาหารการกิน ที่พักอาศัย และอื่นๆ ที่ต้องสูงขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป

แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หยิบยกเหตุผลการเพิ่มงบของผู้สมัครจาก 1.5 ล้านบาทเป็น 2 ล้านบาท ยิ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์และก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในตัวผู้สมัคร ระหว่างผู้สมัครพรรคใหญ่ ซึ่งน่าจะไม่มีปัญหาเรื่องงบ 2 ล้าน กับผู้สมัครพรรคเล็ก ที่โอกาสหางบสะสมได้หลักแสนบาทก็เก่งแล้ว ไม่ต้องไปพูดถึงเงินล้าน หรือ 2 ล้านบาท

และหากย้อนกลับไปดูข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สรุปและประเมินตัวเลขการใช้เงินหาเสียงจริงในการเลือกตั้งปี 2554 จะพบว่า ผู้สมัครส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้ง ใช้งบจริงคนละประมาณ 60 - 100 ล้านบาท ส่วนผู้สมัครส.ส.ที่สอบตก ใช้จ่ายจริงคนละ 10 - 30 ล้านบาท

เท่ากับตัวเลขช่องห่างของจริง ระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคใหญ่ กับพรรคเล็ก มีมากกว่ากันตั้งแต่ 10 เท่า กระทั่งถึง 100 เท่า การเคาะตัวเลข 2 ล้านบาท จึงน่าจะเป็นเพียงตัวเลขพิธีการเท่านั้น

ยังไม่นับงบประมาณที่พรรคการเมืองจะใช้จริง ในการหาเสียงเลือกตั้ง ท่ามกลางการแข่งขันที่จะดุเด็ดและเข้มข้นตามกติกา และกฏระเบียบใหม่ เพื่อหวังชัยชนะ และที่สำคัญ การมองข้ามไปถึงชนะเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เงินทุนที่ใช้ในบางพรรคการเมืองที่มีโอกาส อาจถึงขั้น “อันลิมิต” หรือไร้ขอบเขตได้

นักวิชาการอย่าง รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า และเป็นประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. แสดงทัศนะว่า งบใช้จ่ายในการหาเสียงความจริงควรที่จะลดลงเหลือเพียง 1 ล้านบาทด้วยซ้ำ เพื่อความเป็นธรรมกับผู้สมัคร และจะสะท้อนถึงความตั้งใจของผู้สมัครที่ต้องทำหน้าที่หาเสียงภายใต้งบประมาณที่จำกัด ขณะที่กกต.ก็ให้ความช่วยเหลือในการจัดพิมพ์บัตรหาเสียงส่วนหนึ่งให้กับผู้สมัครส.ส.อยู่แล้ว

งบส่วนหนึ่ง กกต.ควรที่จะนำไปใช้ในการรณรงค์ ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมทั้งกติกาใหม่ให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงอีกอย่างหนึ่งของกกต. จะก่อให้เกิดมรรคผลมากกว่า

เสียงปี่กลองการเมืองที่เริ่มดังขึ้น รองรับโรดแม็ปการเลือกตั้งนั้น แค่เริ่มต้น ก็ใช้เงินทุนตัดสินหรือเป็นปัจจัยสำคัญแล้ว จะยังคาดหวังผลอะไรได้จากการเลือกตั้ง ช่วยตอบกันที

related