svasdssvasds

กกต.เคาะแล้ว 24 มีนาคม 62 นับถอยหลังสู่เลือกตั้งของจริง

กกต.เคาะแล้ว 24 มีนาคม 62 นับถอยหลังสู่เลือกตั้งของจริง

เป็นไปตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาล ฟันธงไว้ วันเลือกตั้งที่เหมาะสมที่สุด คือ 24 มีนาคม 2562

ขยับออกไปจากโรดแมปเดิม อาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 หลังแจ้งกกต.ให้ระมัดระวังไม่ให้เกิดการทับซ้อน กับปฏิทินงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งไม่เฉพาะเพียงแค่วันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 เท่านั้น ยังมีพิธีและขั้นตอนอื่นๆ ประมาณ 15 วันทั้งก่อนและหลังพระราชพิธี ตามประเพณีไทยโบราณ

การขยับออกไปอีก 1 เดือนครั้งนี้ กกต.จะตกเป็นเป้ากระสุนตกแค่ไหน ต้องรอดูท่าทีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเคยยื่นคำขาดถึงรัฐบาลและกกต.มาแล้ว

แต่ที่แน่ๆ คือการเลือกตั้งส.ส.จะมีขึ้นแน่ๆ ไม่มีล้มเลือกตั้ง หรือเลื่อนออกไปแบบไม่มีกำหนด อย่างที่เคยมีความพยายามโหมกระพือมาแล้วก่อนหน้านี้

ขณะที่พรรคการเมืองและนักการเมือง สามารถขยับขับเคลื่อนได้เต็มที่หลังจากต้องทนอึดอัดขยับอะไรไม่ใคร่จะได้มายาวนาน โดยเฉพาะการหาเสียงเลือกตั้ง ที่จะเริ่มทำแบบ 100 เปอร์เซ็นต์เต็มได้ตั้งแต่ผ่านพ้นเวลาเที่ยงคืน เข้าสู่วันใหม่ 24 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

รวมทั้งจัดเตรียมดำเนินการอื่นๆ ตามไทม์ไลน์ที่กกต.กำหนดออกมา ตั้งแต่ยื่นสมัครส.ส. 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 และยื่นเสนอรายชื่อบุคคลที่พรรคเห็นว่าเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อ

จากนั้นกกต.ต้องประกาศรายชื่อผู้สมัครเลือกตั้งทั้งส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ ก่อนเข้าสู่ช่วงเวลาการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ทั้งนอกราชอาณาจักร วันเลือกตั้งล่วงหน้า กระทั่งถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

ตามด้วยขั้นตอนการนับคะแนนเสียงผู้สมัครส.ส.แต่ละเขตเลือกตั้ง ขั้นตอนรับการร้องเรียนเรื่องทุจริตเลือกตั้ง กระทั่งพิจารณาประกาศผลเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนส.ส.ทั้งสภาฯ 500 คน ภายในเวลาไม่เกิน 60 วันนับจากวันเลือกตั้ง

จากนั้นจะเป็นขั้นตอนพระราชพิธีเปิดรัฐสภานัดแรก ขั้นตอนเลือกประธานวุฒิ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง ก่อนจะนัดวันประชุม 2 สภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อ 3 คนของพรรคการเมืองที่มีส.ส.ไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของส.ส.ทั้งสภาฯ

หากไม่สำเร็จ ก็ต้องเข้าสู่การยื่นญัตติเพื่อเสนองดเว้นการใช้ข้อบังคับเลือกนายกฯจาก 3 รายชื่อพรรค ไปเป็นการเสนอชื่อนายกฯคนนอกต่อไป

สุดท้ายเป็นเรื่องรายชื่อครม.ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอเพื่อทรงโปรดเกล้าฯ ก่อนเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงจะสามารถเข้าบริหารประเทศได้อย่างเป็นทางการ

แต่ระหว่างนี้ เรื่องร้อนที่พรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองเก่า ที่จัดตั้งตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2550 ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 4 เรื่องตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2560 กำหนด โดยเฉพาะเรื่องตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจังหวัดตามจำนวนที่กำหนด

หลังจากกกต.ออกมาเปิดข้อมูลสำคัญ คือมีเพียงพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวเท่านั้นที่ดำเนินการแล้วเสร็จ และสามารถส่งผู้สมัครส.ส.ได้

แต่ทั้งนี้ไม่รวมพรรคการเมืองเกิดใหม่ ตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2560 ที่หลายพรรคน่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จึงน่าจะส่งผู้สมัครส.ส.ได้

ถือเป็นเรื่องสำคัญที่กระตุกเตือนพรรคการเมืองต่างๆที่กระหายจะเข้าสู่เวทีเลือกตั้ง และเรียกร้องรัฐบาลและคสช.ปลดล็อคมาตลอด

หากมาตกม้าตายด้วยเรื่องตื้นๆ คงไม่คุ้ม และดูไม่จืดแน่นอน

related