svasdssvasds

เปิดปมปัจจัย "เลื่อนวันเลือกตั้ง" ความระแวงที่บางขั้วยังไม่ไว้วางใจ

เปิดปมปัจจัย "เลื่อนวันเลือกตั้ง" ความระแวงที่บางขั้วยังไม่ไว้วางใจ

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

อย่าได้แปลกใจ หากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จากเดิมจะเป็นวันเลือกตั้ง ส.ส. แต่ไปๆมาๆ จะกลายเป็นเพียง วัน“เดทไลน์”เตรียมพร้อมเลือกตั้งของกกต.

หลังจาก ทั้ง ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาล จะหยิบยกกรณีพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ยังไม่พร้อมเลือกตั้งขึ้นมากล่าวอ้าง และโยนเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต. ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. ก็ขานรับทันควัน อ้างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ อาจเป็นเพียงวันเตรียมความพร้อมของ กกต. และเป็นเพียงตุ๊กตาของ กกต.เท่านั้น

เรื่องวันเลือกตั้ง จึงกลายเป็นประเด็นร้อนอีกหน ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเลื่อนมาแล้ว 3-4 หน กรณี 24 กุมภาพันธ์ 2562 นั้น มีบางคนฟันธงก่อนหน้านี้แล้วว่า ไม่ใช่วันหย่อนบัตรเลือก ส.ส. โดยไปจับใจความจากคำพูดของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งไปร่วมประชุมผู้นำเอเซีย-ยุโรป ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ได้พูดกับผู้นำเนเธอร์แลนด์ และนอรเวย์ ระหว่างการหารือทวีภาคี ว่า รัฐบาลไทยจะเลือกตั้งได้ในเดือน กุมภาพันธ์ และอย่างช้าไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2562

หมายถึงยังเผื่อเวลาไว้จนถึงเดือนพฤษภาคม 2562 โดยยึดตามเงื่อนเวลาในรัฐธรรมนูญปี 60 แบบเต็มที่ คือจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ซึ่งฉบับสุดท้าย คือ พ.รป.เลือกตั้ง ส.ส. จะครบกำหนด 90 วันนับจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561

ประกอบกับร่าง พ.ร.ฎ.เลือก ส.ว. ซึ่งผ่านที่ประชุมครม.เมื่อ 11 ตุลาคม 2561 ได้มีการกำหนดปฏิทินขั้นตอนกำเนินการเลือก ส.ว.ไว้ค่อนข้างละเอียด รวมทั้ง เงื่อนเวลาที่ คสช.จะต้องใช้ในการพิจารณาคัดเลือก ส.ว.ทั้ง 3 กลุ่ม คือ 6 คนโดยตำแหน่ง 194 คนผ่านคณะกรรมการสรรหาที่ คสช.ตั้งขึ้น และ 200 คนจาก กกต. อย่างเร็วที่สุด จะตกราวต้นเดือนมีนาคม ช้าสุดต้นเดือนเมษายน 2562 เท่ากับส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

เมื่อ “ตุ๊ดตู่” จตุพร พรหมพันธ์ ประธาน นปช.ออกมาเปิดประเด็นเรื่องนี้ จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากวงนอกพอสมควร เนื่องจากบางกลุ่มยังหวาดระแวง และคนทั่วไปต่างคาดหวังจะได้เห็นการเลือกตั้งเร็วๆ ขณะที่ระดับผู้นำในรัฐบาล ได้ตอกย้ำกำหนดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มาหลายครั้ง เนื่องจากเคยต้องรับมืออย่างยากลำบากกับกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ที่รวมตัวชุมนุมแบบค้างคืนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาแล้ว เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2561 ท่ามกลางการไลฟ์สดของสื่อหลายสำนัก และสำนักข่าวต่างประเทศ เกาะติดรายงานความเคลื่อนไหวตลอด ครั้งนั้น กว่าเรื่องจะยุติก็เล่นเอาเหนื่อยไปตามๆกัน แม้ผู้ร่วมชุมนุมจะมีไม่มาก

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯที่ทำหน้าที่แทนนายกฯ “บิ๊กตู่” ที่บินไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 33 ที่ประเทศสิงคโปร์ จะออกโรงยืนยันไม่มีเลื่อน แต่ไม่วายโยนกลอง เป็นเรื่องของ กกต. ไม่เกี่ยวกับ คสช.

หมายถึงหากมีการขยับวันเลือกตั้ง ส.ส.จริง ก็เป็นเรื่องของ กกต. ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลหรือ คสช.

ซึ่งในทางปฏิบัติ ก็เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กกต.อยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่า กกต.จะกล้าตัดสินใจโดยลำพังแค่ไหน หรือต้องหารือกับรัฐบาลและ คสช.เสียก่อน

ปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่การเลื่อนวันเลือกตั้ง ณ ขณะนี้ ความจริงมีอยู่ไม่มาก แต่หนึ่งในจำนวนนั้น คือความไม่พร้อมของพรรคการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ทั้งเรื่องการหาสมาชิกพรรคในจังหวัดที่เตรียมส่งผู้สมัคร ส.ส. และส่วนหนึ่งต้องจ่ายค่าบำรุงพรรคตามคำสั่งที่ 13/2561 กำหนด  / ทุนประเดิมพรรค 1 ล้านบาท/ การเปิดสาขาพรรค และที่สำคัญ การคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งต้องมีคุณสมบัติ ดี เด่น ดัง และฐานเสียงแน่น หากหวังจะได้ ส.ส.ตามเป้าที่กำหนดไว้เบื้องต้น 25 คน เพื่อสามารถส่งบัญชีรายชื่อผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ไว้ และหากหวังสร้างความชอบธรรมและสง่างามในการเป็นพรรคแกนนำประสานกับพรรคอื่นเพื่อจัดตั้งรัฐบาล อย่างน้อยควรต้อง 60-70 คนขึ้นไป

ต่างจากพรรคการเมืองเก่าที่ตั้งมาก่อนหน้านี้ ซึ่งพร้อมลงสนามแข่งขันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย หรือชาติไทยพัฒนา

กรณีนี้ เชื่อว่า จะเป็นหนึ่งในเรื่องที่จะมีการหารือร่วมกันระหว่าง กกต.กับพรรคการเมือง วันที่ 22 พฤศจิกายนนี้

การอ้างถึงพรรคการเมืองใหม่ ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต.กว่า 30 พรรคจึงเป็นข้ออ้างสำคัญ หากจะให้การเลื่อนตั้งขยับออกไป แม้นว่า กกต.จะแจกแจงแล้วว่า เหลือพรรคการเมืองเพียง 12 พรรคเท่านั้น ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตของ กกต. จากเดิมที่เคยมีมากถึงกว่า 100 กลุ่ม ที่แสดงเจตจำนงจะจัดตั้งพรรคการเมือง แต่สุดท้ายน่าจะเปลี่ยนใจ

ประเด็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ที่ยังไม่แล้วเสร็จ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกตั้งข้อสังเกตุว่า อาจเป็นข้ออ้างของการขยับวันเลือกตั้ง เนื่องจากในหลายจังหวัด โดยเฉพาะ 23 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.เปลี่ยนไปจากเดิม ยังแบ่งเขตไม่ลงตัว มิหนำซ้ำ บางจังหวัด มีรูปแบบการแบ่งเขตมากกว่า 3 แบบที่กำหนดไว้ ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่องความพยายามแบ่งเขตใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้สมัครของพรรคการเมืองในขั้วสนับสนุนรัฐบาล และมีหลายพรรคขยับร้องเรียนกรณีนี้ ทั้งกับ กกต.จังหวัด และ กกต.กลาง

ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่นการชุมนุมทางการเมือง หรือความวุ่นวายจากเรื่องใดๆ เมื่อประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบันที่สงบเงียบ ไม่มีการก่อหวอด หรือตรวจค้นพบอาวุธสงครามเพื่อหวังสร้างความปั่นป่วนเหมือนในอดีตแล้ว เชื่อว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้น หรือเป็นอุปสรรคถึงขั้นต้องเลื่อนการเลือกตั้ง

สำคัญที่สุด คือรัฐบาลและ คสช. ยังมีอำนาจ ม.44 ตามมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที หากมีสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น แต่ก็เป็นอำนาจที่ขั้วตรงข้าม หวาดระแวงเกรงผู้มีอำนาจจะถูกนำไปใช้เพื่อเอื้อประโยชน์กับตัวเองเช่นกัน ในสถานการณ์ที่ตนเองอาจตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ โดยเฉพาะ การเลื่อนวันเลือกตั้ง.

related