svasdssvasds

ถอดรหัสปมกระตุ้นปชช.แก้รัฐธรรมนูญ กลยุทธ์หาเสียงเลือกตั้งของคนแดนไกล

ถอดรหัสปมกระตุ้นปชช.แก้รัฐธรรมนูญ  กลยุทธ์หาเสียงเลือกตั้งของคนแดนไกล

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ทั้งที่รู้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ไม่ใช่เรี่องง่าย มิหนำซ้ำ เพิ่งประกาศใช้ได้เพียงประมาณหนึ่งปีครึ่งเท่านั้น ยังไม่ได้ผ่านเลือกตั้งตามกติกาและระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม”แม้แต่ครั้งเดียว แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ดี ต้องแก้ไข

เหตุใด ทักษิณ ชินวัตร จึงออกมาเรียกร้องผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ให้ประชาชนคนไทย พร้อมอกพร้อมใจกันแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้

"วันนี้ คสช.จำต้องปลดล็อกให้ ไม่ใช่เพราะเขามีความกรุณาต่อเรา แต่เป็นการเอาสิทธิขั้นพื้นฐานของเรา ที่เขาช่วงชิงจากเราไปเกือบ 5 ปี คืนกลับมาให้บางส่วนต่างหาก” เป็นส่วนหนึ่งในข้อความทางเฟซบุ๊คของนายทักษิณ

ก่อนจะสรุปย้ำว่า "รัฐธรรมนูญนี้ ตั้งใจควบคุมและจำกัดสิทธิของประชาชนตามมาตรฐานสากล เราจึงต้องร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับถ่วงความเจริญของประเทศฉบับนี้ โดยเริ่มต้นก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ด้วยความรัก ความสามัคคีของคนไทยที่หัวใจเป็นไท จุดมุ่งหมายที่วางไว้ คงไม่ไกลเกินมือของพวกเรา”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 นอกจากถูกออกแบบให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ที่เป็นปัญหาหยั่งรากฝังลึกในประเทศไทยมายาวนานแล้ว นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ยังออกแบบป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขได้โดยง่าย เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆที่แล้วมา เนื่องจากตระหนักดีว่า นักการเมืองมักจะเสนอ และขอแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที เมื่อเห็นว่า ไม่ได้เอื้อประโยชน์ หรือเป็นอุปสรรคสำคัญ สำหรับคนเองและพวกพ้องสำหรับช่องทางการแสวงหา หรือไม่สามารถอยู่บนอำนาจอย่างมั่นคงยั่งยืน

ถ้าไปดูจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่า มีการเขียน “บล็อค” ไว้อย่างแน่นหนา ตั้งแต่มาตรา 255 ที่ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทํามิได้

มาตรา 256 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะกระทําได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ โดยต้องเสนอเป็นญัตติที่มาจากคณะรัฐมนตรี หรือส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนส.ส.ที่มีอยู่ทั้งหมด

หรือโดยส.ส. และส.ว. จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จํานวนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคนตามกฎหมาย ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภา พิจารณาเป็น 3 วาระ

ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการต้องใช้วิธีขานชื่อ และลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา ในจํานวนนี้ ต้องมีส.ว. เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ในวาระที่ 2 ให้พิจารณาเรียงลําดับมาตรา การออกเสียงในวาระนี้ ต้องใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ในกรณีประชาชนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดให้ส.ส.ที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย

เมื่อพิจารณาวาระ 2 เสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้ก่อน 15 วัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้ว จึงให้รัฐสภาพิจารณาในวาระ 3 ต่อไป

การออกเสียงในวาระ 3 ต้องใช้วิธีขานชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย ทั้งนี้ ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา

นอกจากนี้ ในจํานวนดังกล่าว ต้องมีส.ส.จากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมีส.ว. เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา

นั่นหมายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจจากทั้ง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 (หรือประมาณ 84 คนจากทั้งหมด 250 คนในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก) และพรรคฝ่ายค้านก็ต้องยินยอมเห็นชอบให้มีการแก้ไขด้วย

เมื่อลงมติเห็นชอบในวาระ 3 แล้ว ให้รอไว้ก่อน 15 วัน จึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย

ไม่เพียงเท่านั้น กรณีแก้ไขเพิ่มเติม เป็นการแก้ไขในหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 ว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระ ไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้

ก่อนจะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ให้จัดให้มีการทำประชามติ ตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หากผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม จึงค่อยนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

นอกจากนี้ ก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ส.ส. หรือส.ว. หรือสมาชิก 2 สภารวมกัน จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือ 2 สภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก หรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณี ว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขนี้ ขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่อง ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีเวลาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับเรื่อง โดยระหว่างรอการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกฯจะนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย จะทำมิได้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 จึงแทบเป็นไปไม่ได้ ถือเป็นเรื่องที่นักการเมืองต่างทราบกันดี การประกาศจะแก้รัฐธรรมนูญ “ฉบับถ่วงความเจริญ” ที่นายทักษิณกล่าวอ้างถึง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า น่าจะมีนัยอื่นเคลือบแฝงอยู่ โดยเฉพาะการขอความร่วมมือจากประชาชน

ที่เด่นชัดที่สุด คงหนีไม่พ้นความหมายขอคะแนนเสียงจากประชาชนในการเลือกตั้งส.ส.ที่จะมีขึ้น ให้กับพรรคการเมืองขั้วเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรที่แตกตัวหรือมีแนวทางที่สอดคล้องกับพรรคเพื่อไทย เพราะทราบดีว่า การเลือกตั้งหนนี้ ไม่ “ไม่ง่าย”เหมือน 4 ครั้งที่ผ่านมา ที่อาศัยการชูนโยบาย “ประชานิยม” จนได้รับเลือกอย่างถล่มทลาย

ในสถานการณ์การแข่งขันที่จะเข้มข้นขึ้น ภายใต้กติกาการเลือกตั้งแบบใหม่ โดยเฉพาะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ต้องหยิบยกเรื่องที่ผู้คนส่วนใหญ่จะเห็นคล้อยตามมาใช้เป็น “จุดขาย”

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่นายธนากร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จุดพลุขึ้นก่อนใครเพื่อนเป็นครั้งแรก โดยหยิบยกมาตรา 279 ซึ่งเป็นเรื่องรับรองคำสั่งและประกาศของคสช.ที่ออกมาใช้บังคับ นอกจากจะมีพรรคการเมืองหลายพรรคขานรับแล้ว ยังปรากฏมีเสียงตอบรับจากประชาชนในช่วงเวลานั้น กระทั่งกลายเป็นกระแส

การดึงเรื่องที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน ในช่วงที่ “หมดมุก” และเข็นข้ออ้างอื่นไม่ขึ้น จึงตามมาในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง

ด้วยยังมั่นใจในฐานเสียงสนับสนุน “ป๊อปปูล่าร์ โหวต”จากชัยชนะเลือกตั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา นอกเหนือจากชัยชนะของผู้สมัครส.ส.เขต

เลือกตั้งปี 2544 พรรคไทยรักไทย ได้คะแนน “ป๊อปปูลาร์โหวต” หรือลงคะแนนเลือกพรรค 11.6 ล้านเสียง หรือ 40.6 % จากผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ เลือกตั้งปี 2548 ขยับขึ้นเป็น 14 ล้านเสียง หรือ 56.4 % ของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

ปี 2550 ที่มีการแบ่งเป็น 8 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศสำหรับส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชาชนได้ 12.3 ล้านเสียง หรือ 41 % ของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งประเทศ และล่าสุดปี 2554 ได้คะแนนป๊อปปูล่าร์ โหวต 15.7 ล้านเสียง หรือ 48.4 %ของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ

ฐานคะแนนเสียงเหล่านี้ต่างหาก ที่เป็นเป้าหมายสำคัญ ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง หากยังคุมอยู่ได้ ก็มองเห็นชัยชนะรำไรรออยู่เบื้องหน้าแล้ว

related