svasdssvasds

ข้อดีคือสู้กันด้วยนโยบาย แต่ข้อเสีย “หาเงินจากไหนมาทำ”

ข้อดีคือสู้กันด้วยนโยบาย แต่ข้อเสีย “หาเงินจากไหนมาทำ”

เหลืออีกแค่ 3 สัปดาห์ การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปีจะมีขึ้นเสียที หลังจากมีผู้คนจำนวนไม่น้อย ยังไม่ยอมเชื่อ และถามกระทั่งถึงขณะนี้ว่า จะมีการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 จริงหรือไม่

แต่ถึงเวลานี้ มองดูปัจจัยรอบด้าน ยังไม่เห็นมีสัญญาณใดๆ จะมีความหมายว่าจะล้มเลือกตั้งอย่างที่พยายามโหมกระพือ

เลือกตั้งส.ส.ครั้งนี้คึกคักแค่ไหน ดูได้จากมีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครส.ส.เขตมากถึง 81 พรรค จำนวน 11,181 คน แบบบัญชีรายชื่อ มีส่ง 77 พรรค

จำนวน 2,917 คน และบัญชีนายกรัฐมนตรี มีส่ง 46 พรรค รวม 71 รายชื่อ

 

แม้ส่วนหนึ่ง จะไม่ได้รับการประกาศรายชื่อจากกกต. แต่สะท้อนได้ว่า ทั้งพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคที่สนใจลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ มีสูงกว่าทุกครั้งจนเป็นประวัติการณ์

รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักวิเคราะห์ข่าวการเมือง ให้ทัศนะว่า นอกจากเลือกตั้งส.ส.ครั้งนี้ จะมีการตื่นตัวมากแล้ว ยังเห็นว่า การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ต่างมุ่งเน้นนำเสนอนโยบายเป็นจุดขาย ไม่ใช่การตอบโต้เป็นศึกวิวาทะเป็นหลักเหมือนกับในอดีต

เท่ากับแต่ละพรรคการเมือง ต้องนำแนวนโยบายที่เห็นว่าโดนใจผู้คนที่สุด มานำเสนอ เพื่อให้เตะตา และกระตุ้นให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และเลือกพรรคของตนเองเป็นสำคัญ

จึงเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่ประชาชนจะได้รับการดูแลใส่ใจจากนักการเมืองไม่ใช่ตั้งแต่แรกเกิดแต่เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดากระทั่งคลอดการเลี้ยงดูในวัยเด็กวัยรุ่นวัยทำงานพร้อมสวัสดิการอีกมากมายกระทั่งเสียชีวิตไม่มีช่วงเวลาไหนที่จะถูกละเลยจากนักการเมืองในรูปแบบของนโยบายที่นำเสนอ

พรรคพลังประชารัฐ มีนโยบาย “มารดาประชารัฐ” ดูแลสนับสนุนเด็กรวมกว่าคนละ 1.8 แสนบาท พรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบาย “คลอดปั๊บรับแสน” ดูแลมีค่าเลี้ยงดูจนถึงอายุ 8 ขวบ พรรคเพื่อไทย มีนโยบายดูแลส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดาถึงอายุ 8 ขวบ เรียนฟรี 15 ปี ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ มีนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี เดือนละ 1,200 บาทต่อเดือน เงินสนับสนุนเยาวชน 18-22 ปี เดือนละ 2,200 บาท เป็นต้น

ขณะที่นโยบายด้านชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบวิชาชีพ ราคาพืชผลลการเกษตร แต่ละพรรคล้วนแล้วแต่ประกาศเป็นจุดขาย พรรคละอย่างน้อยนับสิบนโยบาย อาทิ พลังประชารัฐ มีนโยบาย “เกี่ยวปุ๊บรวยปั๊บรับ 7 หมื่น” สำหรับชาวนาที่มีพื้นที่ทำนาไม่เกิน 20 ไร่

พรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายช่วยเหลือค่าใช้จ่ายชาวนาเกวียนละ 5,000 บาท ไม่เกิน 15 เกวียน มีรายได้ 75,000 บาท  พรรคประชาธิปัตย์ ชูนโยบายประกันราคาข้าวเกวียนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท พรรคภูมิใจไทย ชูนโยบายแบ่งปันกำไรข้าวและพืชผลการเกษตร โดยชาวนาจะได้ถึง 75%

เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆตัวอย่าง ที่พรรคการเมืองนำไปใช้ทั้งบนเวทีปราศรัยและป้ายโฆษณาหาเสียง หลายเรื่องทับซ้อนกันจนเกิดลักษณะการเกทับบลัพแหลก สู้กันด้วยวงเงิน จนกลายเป็นว่า พรรคไหนจะให้ได้มากกว่า

จึงนำไปสู่เสียงร้องเตือนของนักวิชาการและคนทำงานที่เกี่ยวกับภาคประชาชนจำนวนไม่น้อย อาทิ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ตั้งข้อสังเกตุถึงผลเสียของการใช้นโยบายประชานิยม โดยมุ่งหวังจะได้คะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งเป็นสำคัญ แทนที่จะทำให้ประชาชนกระตือรือร้นขวนขวาย และสามารถเดินหน้าต่อไปได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง ดังสุภาษิตจีนที่ว่า “สอนให้เขาจับปลาดีกว่าจับปลาให้เขา”

นพ.สุภัทรนั้น ถึงขั้นโพสต์เฟสบุ๊ก ตั้งคำถามถึงนโยบายมารดาประชารัฐ ของพรรคพลังประชารัฐ โดยอิงจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 เด็กเกิดประมาณ 7 แสนคน จะต้องใช้งบสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท แม้จะยุบสภาไปแล้ว แต่ภาระการดูแล ยังจะตามหลอกหลอนงบประมาณรัฐ ตามพันธะสัญญาที่รัฐให้ไว้ไปถึงอีก 6 ปีเป็นอย่างน้อย

สรุปแล้ว ข้อดีคือการหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมือง แข่งขันชูธงด้วยนโยบายอย่างเด่นชัด แต่ข้อเสีย คือเงินงบประมาณสำหรับใช้ในนโยบายนั้นๆจะเอามาจากไหน และจะเป็นภาระให้กับใครในอนาคต

เพราะในพ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2560 มาตรา 57 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า นโยบายที่พรรคการเมืองประกาศและนำไปใช้ในการหาเสียง ต้องมีจัดทำส่งให้กกต.รับทราบ ถึงต้นทุน วงเงินที่จะใช้  ที่มาของเงินงบประมาณความคุ้มค่าตลอดจนผลกระทบของนโยบายดังกล่าว

หลังจากช่วงที่ผ่านๆมา พรรคการเมืองมักสรรหาโครงการในลักษณะประชานิยม เสมือนลดแลกแจกแถม หวังได้รับเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายเมื่อประกาศเป็นนโยบายรัฐบาล กลับนำเงินงบประมาณไปถลุงโดยไม่สนใจว่าจะส่งผลอะไรตามมา อย่างเช่นโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติหลายแสนล้านบาท

เป็นการ “ดัดหลัง” นักการเมือง ให้ระมัดระวังเรื่องเงินที่จะใช้ ไม่ใช่คิดแบบ “เอามัน”อย่างเดียว

หากละเลยไม่ทำตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ ให้กกต.ปรับพรรคการเมืองนั้นไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละ  10,000 บาท ตามมาตรา 121 จนกว่าดำเนินการครบถ้วนตามที่กฏหมายระบุ

โดยสรุป ข้อดีคือพรรคการเมืองประชันขันแข่งด้วยนโยบายมากขึ้น แต่ข้อเสีย คือเป็นนโยบายประชานิยมเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ได้ตระหนักถึงที่มาของเงินดำเนินการ และผลกระทบจากนโยบายนั้นๆ

ประชาชนไม่รู้จะยิ้ม หัวเราะ หรือร้องไห้ดี

related