svasdssvasds

ครั้งแรกลงมติ ก.ต.ศาลไทยพ้นตำแหน่ง "ชำนาญ" ต้องยุติหน้าที่

ครั้งแรกลงมติ ก.ต.ศาลไทยพ้นตำแหน่ง "ชำนาญ" ต้องยุติหน้าที่

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ที่ห้องประชุมใหญ่ อาคารศาลอาญา ชั้น 12 ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.00 น.เศษ "สำนักงานศาลยุติธรรม" ได้ดำเนินการตรวจนับคะแนนบัตรลงมติถอด-ไม่ถอดถอน "นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์" ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ให้พ้นจากการปฏิบัติหน้า กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิชั้นฎีกา ที่มีการส่งบัตรให้กับผู้พิพากษาทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ทั่วประเทศ

หลังจาก นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 , นายพงษ์ศักดิ์ ตระกูลศิลป์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ,น.ส.มณี สุขผล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นตัวแทนคณะผู้รวบรวมรายชื่อผู้พิพากษาทั้งในศาลชั้นต้น และศาลสูง รวม 1,735 คนเสนอสำนักงานศาลยุติธรรม ด้วยข้อกล่าวหาว่า "นายชำนาญ" ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย คุณธรรมและจริยธรรม หรือการกระทำที่น่าสงสัยว่ากระทำผิดวินัย มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ก.ต. ในกรณีที่อ้างถึงการก้าวก่ายแทรกแซงผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขณะสืบพยานในบัลลังก์คดีมรดกครอบครัวภรรยาที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา และการแสดงกิริยาไม่เคารพกระบวนพิจารณาของศาล ทั้งแสดงตนเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าข่มขู่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น

ครั้งแรกลงมติ ก.ต.ศาลไทยพ้นตำแหน่ง "ชำนาญ" ต้องยุติหน้าที่

โดย "นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล" โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ (26 ต.ค.) สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ดำเนินการตรวจนับคะแนนลงมติตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 43 โดยเริ่มนับคะแนนเวลา 09.24 น. และสิ้นสุดการนับคะแนนเวลา 11.11 น. ซึ่ง "คณะอนุกรรมการตรวจนับคะแนนลงมติเพื่อถอดถอนกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ" ได้รับบัตรลงคะแนนกลับมาจากผู้พิพากษาทั่วไปที่ได้รับบัตรไปลงคะแนน จำนวน 3,548 ใบ จากบัตรลงคะแนนที่ส่งไปทั้งหมด 4,635 ใบ โดยผลปรากฏว่า ผู้พิพากษาใช้สิทธิลงคะแนน ดังนี้ เห็นชอบ ให้ถอดถอน "นายชำนาญ" ออกจากการเป็น ก.ต.ชั้นฎีกา รวมทั้งสิ้น 3,165 คะแนน ซึ่งจำนวนคะแนนเสียงที่ลงมติเห็นชอบให้ถอดถอนนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของข้าราชการตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยกึ่งหนึ่งเท่ากับ 2,318 คะแนน และส่วนที่ไม่เห็นชอบการถอดถอน มีจำนวน 193 คะแนน ขณะที่การลงคะแนนนั้น มีจำนวนบัตรเสียทั้งสิ้น 190 ใบ จ

จากผลการลงคะแนนดังกล่าว "นายชำนาญ" ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง ก.ต.ชั้นฎีกา ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 42 นับตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันที่นับคะแนนเสร็จสิ้น ตามระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ว่าด้วยการเข้าชื่อและการลงมติเพื่อถอดถอนกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ. 2544 ข้อ 17 เมื่อถามว่า ในส่วนของการเป็นผู้พิพากษาซึ่งปัจุจุบัน นายชำนาญ ดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกานั้น ยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไปหรือไม่

"นายสุริยัณห์" โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า การนับคะแนนลงมติวันนี้ เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจาก "นายชำนาญ" ถูกยื่นถอดถอนให้พ้นจากการได่รับเลือกเป็น ก.ต.ชั้นฎีกาเท่านั้น กรณีจึงเป็นคนละส่วนกันกับการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ดังนั้นนายชำนาญ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกาต่อไป

เมื่อถามว่าในส่วนที่ ที่ประชุม ก.ต.ชุดใหญ่ (15 คน) เคยมีมติวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้น "นายชำนาญ" ในการรักษาวินัยผู้พิพากษา ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 68 กรณีคู่ความในคดีร้องเรียน และ ก.ต.ได้รับทราบการรายงานข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากฝ่ายผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ในช่วงการพิจารณาความเหมาะสมวาระโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการตุลาการทั่วประเทศว่าส่อจะทำการขัดต่อประมวลจริยธรรม แทรกแซงการทำหน้าที่หรือไม่ มีความคืบหน้าอย่างไร "นายสุริยัณห์" โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว ก็กำลังดำเนินการอยู่ตามขั้นตอน ที่ ก.ต.มีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการตรวจนับคะแนนบัตรลงมติวันนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมได้เปิดให้สื่อมวลชนซึ่งลงทะเบียนร่วมสังเกตการณ์ดูขั้นตอนการตรวจนับคะแนนที่เป็นไปอย่างโปร่งใสยุติธรรมด้วย โดยในส่วนของคณะผู้แทนผู้พิพากษาที่รวบรวมรายชื่อเสนอถอดถอนครั้งนี้ ก็มีนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 2 (ภาคตะวันออก) มาร่วมติดตามสังเกตุการณ์การนับคะแนนด้วย ขณะที่การเสนอถอดถอน ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิระดับชั้นฎีกาครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาตร์ที่ได้ดำเนินการภายหลังจากที่มีระเบียบออกกำหนดไว้ปฏิบัติเมื่อปี 2544 ที่ผ่านมา

ครั้งแรกลงมติ ก.ต.ศาลไทยพ้นตำแหน่ง "ชำนาญ" ต้องยุติหน้าที่

ทั้งนี้ สำหรับนายชำนาญนั้น ปัจจุบันอายุ 64 ปี ยังคงดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีศาลล้มละลายในศาลฎีกา ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งผู้พิพากษานี้ถึงอายุราชการ 65 ปี โดยการโยกย้ายล่าสุดนายชำนาญ ต้องพลาดการขึ้นตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา อาวุโสลำดับที่ 1 เนื่องจากติดปัญหาชั้นพิจารณาความเหมาะสมการดำรงตำแหน่งจากกรณีที่ถูกร้องเรียนกรณีดังกล่าว ขณะที่จากการถูกยื่นถอดถอนพ้นจาก ก.ต.ชั้นฎีกานั้น "นายชำนาญ" ก็ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายแจ้งความดำเนินคดีคณะผู้รวบรวมรายชื่อและผู้พิพากษาเผยแพร่ข้อมูลที่นำมาสู่มาการถอดถอนแล้ว 6 รายในข้อหาฐานหมิ่นประมาท , หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 , นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 และยังแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มผู้พิพากษาที่แชร์ข้อความการเสนอยื่นถอดถอน อีก 12 คน ในข้อหาหมิ่นประมาทฯ เช่นกัน ขณะที่นายสืบพงษ์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ถูกแจ้งดำเนินคดีเพิ่มอีก 1 ข้อหาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย

related