svasdssvasds

ขาดจิตสำนึกต่อสังคม "ศาล" สั่งกักขัง 1 เดือน “หนุ่มแมสเซ็นเจอร์” จยย.ทางเท้าชนนร. [คลิป]

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.8112/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลแขวง 2 (รัชดา) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายภูวดล ศรีสำโรง อายุ 23 ปีเศษ อาชีพรับ-ส่งเอกสาร (แมสเซ็นเจอร์) ที่ขี่รถจักรยานยนต์ชนเด็กนักเรียนหญิง โรงเรียนบดินทรเดชา 3 บนทางเท้าได้รับบาดเจ็บ เป็นจำเลย  ในความผิดฐานผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายและจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 , ขับขี่รถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน , ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุสมควร , ขับขี่โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 32 , 43 (4)(7)(8) , 157 , 160 รวม 4 ข้อหา

โดย "ศาล" พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว จึงพิพากษาว่า "จำเลย" มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 , พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4)(7)(8) , 157 , 160 วรรคสาม ซึ่งการกระทำของจำเลย เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 160 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุก 2 เดือน โดยจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 เดือน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังเป็นเวลา 1 เดือน (กักขังในสถานที่กักขัง ซึ่งไม่ใช่เรือนจำ)

โดยเมื่อ "ศาล" พิเคราะห์รายงานสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว เห็นว่า "ทางเท้า" ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 4 (11) คือพื้นที่ ที่ทำไว้สำหรับให้คนเดิน ซึ่งอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างของทาง หรือส่วนที่อยู่ชิดขอบทาง ใช้เป็นที่สำหรับคนเดิน โดยกฎหมายดังกล่าวห้ามขับรถบริเวณทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของคนเดินเท้า ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การจราจรบนท้องถนนในเขต กทม. ทุกเขตมีความหนาแน่นติดขัดต้องใช้เวลาในการเดินทาง

ดังนั้นการที่ "จำเลย" ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วบนทางเท้าเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้ใช้ทางเท้า จนเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้เสียหายซึ่งเดินบนทางเท้าได้รับอันตรายแก่กาย อันเป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎหมายที่มีไว้คุ้มครองผู้ใช้ทางเท้า และยังเป็นการขาดจิตสำนึกต่อสังคมส่วนรวม อีกทั้งจำเลยเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันกับคดีนี้มาก่อน แต่ไม่ถูกจับดำเนินคดีอาญาพฤติการณ์แห่งคดี จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งแม้ "จำเลย" จะมีภาระต้องเลี้ยงดูแลครอบครัว และบริษัทประกันภัยรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยขี่ ได้ชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้ผู้เสียหาย และจำเลยได้กล่าวคำขอโทษผู้เสียหายกับบิดาของผู้เสียหายแล้ว พร้อมแสดงความรับผิดชอบจนเป็นที่พอใจของผู้เสียหายกับบิดาโดยไม่ประสงค์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยอีกก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลย ส่วนรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น ถือเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง ศาลจึงมีคำสั่งให้ริบไว้ด้วยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 (1)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลมีคำพิพากษาแล้ว "นายภูวดล" จำเลย ก็ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ เพื่อขอปล่อยชั่วคราว ระหว่างจะอุทธรณ์คดีนี้ ซึ่งขณะนี้คำร้องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

related