svasdssvasds

ตำรวจจ่อยกญี่ปุ่นต้นแบบ เตรียมเสนอบทลงโทษจราจรให้หนักขึ้น

ตำรวจจ่อยกญี่ปุ่นต้นแบบ เตรียมเสนอบทลงโทษจราจรให้หนักขึ้น

คณะทำงานแก้ไขปัญหาการจราจร พิจารณาจัดการกับผู้กระทำผิดซ้ำ หวังยกญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 พล.ต.ท.รอย อิงคไพโรจน์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผู้ช่วยผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการใบสั่งจราจร กรณีผู้กระทำผิดซ้ำ ตามโครงการพัฒนาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ในระยะที่ 4 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ได้สนับสนุนให้กองบัญชาการศึกษา สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกระทำผิดกฎจราจรโดยใช้ระบบ ptm หรือ police ticket management มาใช้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระบบนี้จะรวบรวมข้อมูลการกระทำความผิดต่างๆไว้และนำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการลดอุบัติเหตุ จากการวิเคราะห์ข้อมูลในเบื้องต้นพบว่า ในปี 2561 พบมีการกระทำผิดกฎจราจรและออกใบสั่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 3ล้าน2แสน กว่าครั้ง คิดเป็น 39 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยอดรวมของปี 2560 มีการออกใบสั่ง 8 ล้าน 4 แสนกว่าครั้ง แต่ในปี 2561 มีการออกใบสั่ง 11 ล้าน 7 แสนกว่าครั้ง จากการศึกษายังพบอีกว่า มีคนไทยที่มีใบสั่งซ้อนสูงสุด 144 ใบใน 1 ปี ซึ่งรถคันดังกล่าวเป็นรถขนส่งของภาคเอกชน ที่วิ่งขนส่งของทั่วประเทศแต่ถูกกล้องตรวจจับการกระทำความผิดอัตโนมัติ ในข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และรถบรรทุกไม่ขับชิดขอบทางด้านซ้าย และมีผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับโดนจับซ้ำรวมกว่า 1,507 ราย ภายในรอบ 4 ปี

ทางด้าน พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผบช.ศ. ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาการจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากผลวิจัยดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่าปัญหาใบสั่งซ้ำซ้อนเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายเดิมไม่สามารถบังคับใช้ได้กับทุกคน และไม่ทำให้เกิดความหวาดกลัวในการลงโทษ จนกระทำผิดซ้ำ ทั้งนี้เชื่อว่าหลังพระราชบัญญัติจราจรทางบกฉบับใหม่ บังคับใช้จะสามารถนำระบบตัดแต้มมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ผู้ขับขี่เกิดความระมัดระวังในการขับรถไม่ให้ผิดกฎจราจร จนเกิดใบสั่งซ้ำซ้อนแบบที่ผ่านมา ในอดีตการใช้ระบบการตัดแต้มไม่สามารถใช้งานได้จริง เนื่องจากใบขับขี่เป็นแบบกระดาษและฐานข้อมูลของตำรวจและกรมการขนส่งทางบกไม่ได้เชื่อมโยงถึงกัน แต่กฎหมายใหม่บังคับให้ 2 หน่วยงานต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูล ทำให้ระบบการตัดแต้มมีประสิทธิภาพและสามารถใช้งานได้จริง

พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณาแนวทางการชำระใบสั่งที่ซ้ำซ้อนหลายใบในแบบเหมาจ่ายหรือลดราคา ในเรื่องดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถพิจารณาปรับลดเองได้ ต้องนำเรื่องเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐบาลพิจารณา ส่วนข้อมูลการศึกษาที่พบว่ามีคนเมาแล้วขับซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากตัวผู้ขับขี่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนเกิดจากกฎหมายมีบทลงโทษที่ไม่รุนแรง ทำให้ผู้ขับขี่ไม่เกรงกลัวกฎหมายและฝ่าฝืน ซึ่งในที่ประชุมอยู่ระหว่างการพิจารณานำปัญหาดังกล่าวหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขบทลงโทษในข้อหาเมาแล้วขับให้หนักขึ้น เหมือนอย่างในประเทศญี่ปุ่นที่มีการลงโทษผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่นั่งมาด้วย ในข้อหาสนับสนุนให้กระทำความผิด ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

related