svasdssvasds

ศาลปกครองสูงสุด ระงับคำสั่งปลด 89 ข้าราชการกรมการปกครองออกจากราชการ

ศาลปกครองสูงสุด ระงับคำสั่งปลด 89 ข้าราชการกรมการปกครองออกจากราชการ

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งคุ้มครอง 89 ข้าราชการกรมการปกครอง ที่ถูกกล่าวหา ทุจริตสอบเข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ชี้คำสั่งลงโทษน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จากกรณีที่ นายคิม ปรีเปรม กับพวกรวม ๘๙ คน ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการพลเรือน ผู้ฟ้องคดี กับ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ รวม 6 ราย หลังมีคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 89 ราย ออกจากราชการกรณีทุจริตสอบเข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ

โดย ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้อำนาจแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ในการไต่สวนกรณีที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ ดังนั้น หากการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกร้องเรียนได้กระทำความผิดวินัยฐานอื่น อันมิใช่ฐานทุจริตต่อหน้าที่เช่นในคดีนี้ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชี้มูลว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กรณีดังกล่าว จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ (อธิบดีกรมการปกครอง) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ (อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) และผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๖ (อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) จะต้องถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ แล้วพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีกได้

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ จึงต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดีที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนตามขั้นตอนของกฎหมาย แล้วออกคำสั่งลงโทษตามฐานความผิดที่ได้ดำเนินการสอบสวนใหม่ต่อไป ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ มีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามข้อพิพาทนี้ โดยไม่ได้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยก่อนออกคำสั่ง คำสั่งลงโทษดังกล่าวจึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่าคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ ผู้ฟ้องคดีมิได้รับราชการ ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีหมดโอกาส ในการเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษหรือตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้น หรือหากได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวย่อมไม่อาจกลับเข้ารับราชการได้ ดังนั้น หากให้คำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป ย่อมเป็นกรณีที่ยากจะเยียวยาแก้ไขความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ในภายหลัง

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะระหว่างการให้ผู้ฟ้องคดี ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลไปก่อน ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการที่จะได้บุคลากรกลับมาปฏิบัติหน้าที่ อันจะเป็นผลให้มีกำลังคนหรือบุคลากรเพิ่มขึ้นในการบริหารราชการแผ่นดินหรือการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ ก่อให้เกิดความรวดเร็วและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมี คำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

related