svasdssvasds

สุดช้ำ ชาวพัทลุงกู้เงิน ถูกบังคับทำประกันสุดท้ายตายฟรี(คลิป)

เกษตรกรชาวพัทลุง ร้องสื่อหลังกู้เงินธนาคาร บังคับลูกหนี้ทำประกันชีวิต แต่ไม่ยอมแจงรายละเอียด สุดท้ายตาย กลับไม่ได้เงิน แถมถูกบอกล้างกรมธรรม์ หาว่าปิดบังเรื่องป่วยเรื้อรัง

นางสุภาภรณ์ แหละหมัน อายุ 50 ปี ชาว ต.ตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง พร้อมเพื่อนบ้านที่เป็นกลุ่มลูกค้าธนาคารชื่อดังแห่งหนึ่ง รวมตัวร้องเรียนต่อทีมข่าว กรณีธนาคารบังคับให้ลูกค้าที่กู้เงินจากธนาคาร ต้องทำประกันชีวิต 1 ฉบับ ต่อ 1 สัญญาเงินกู้ โดยในการทำประกันชีวิต เจ้าหน้าที่ธนาคารชี้แจงเพียงว่า หากผู้กู้เสียชีวิตก็จะสามารถหักลบกลบหนี้ที่มีกับทางธนาคารไม่ให้เป็นภาระกับผู้อื่น แถมยังมีเงินเหลือให้กับทายาทอีกด้วย ในแต่ละรายจะต้องจ่ายเงินค่าประกันชีวิตอยู่ที่ 900-1,400 บาทต่อประกัน 1 ฉบับ

 

นางสุภาภรณ์ กล่าวว่า ในข้อกำหนดของทางธนาคาร ชาวบ้านทุกคนที่เป็นลูกหนี้เงินกู้ต่างก็ให้ความร่วมมือในการทำประกันชีวิตกับทางธนาคาร เพื่อหวังว่าหากต้องเสียชีวิตลงก่อนหน้าที่จะผ่อนชำระเงินกู้กับธนาคารแล้วเสร็จ จะได้ไม่เป็นภาระกับลูกหลาน และคนในครอบครัว แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะล่าสุด เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา นางสาวมะลิหยะ แหละหมัน อายุ 56 ปี พี่สาวของเธอเสียชีวิต แพทย์ระบุในใบมรณบัตรสาเหตุการตายเพราะปอดติดเชื้อ แต่กลับไม่ได้เงินประกันชีวิตจากบริษัทที่รับทำประกัน

 

ก่อนที่วันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทางบริษัทประกันภัยได้มีหนังสือแจ้งบอกล้างกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองสินเชื่อในโครงการสินเชื่อสบายใจ หลังจากที่ นายธนรัตน์ แหละหมัน ซึ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์ ตามที่ระบุในสัญญาประกันทำเรื่องเรียกร้องขอสินไหม มรณกรรม โดยทางบริษัทชี้แจงในหนังสือว่า จากการตรวจสอบพบว่าสุขภาพของผู้เอาประกันไม่อยู่ในเกณฑ์การรับประกันของบริษัท เนื่องจากผู้เอาประกันสุขภาพไม่สมบูรณ์ มีประวัติเป็นโรคไตวายเรื้อรัง แต่ไม่ได้เปิดเผยความจริงนี้อันเป็นสาระสำคัญต่อการพิจารณารับประกันภัยให้กับบริษัทได้ทราบ เป็นเหตุให้สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865

 

นางสุภาภรณ์ ยังกล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า ในการทำประกันชีวิตของทางธนาคารเปรียบเสมือนการบังคับทำ และไม่ได้ชี้แจงในรายละเอียดปลีกย่อยให้กับประชาชนได้รับทราบ แค่เอาเอกสารมาให้เซ็นแล้วหักเงินค่าทำประกันไป จะให้ประชาชนมานั่งอ่านเอกสารทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่ธนาคารนำมาให้ เป็นไปไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่าลูกค้าของธนาคารดังกล่าวเป็นกลุ่มเกษตรกร บางคนอ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ เหมือนกรณีของนางสาวมะลิหยะ พี่สาวที่เสียชีวิตลง ก็ไม่ได้ทราบมาก่อนว่าหากมีประวัติป่วยเป็นโรคจะไม่ได้รับเงินค่าชดเชย และเชื่อว่าสมาชิกที่กู้เงินและถูกธนาคารบังคับทำประกันอีกหลายคนก็คงไม่ทราบในกรณีนี้ เพราะในขณะทำก็ไม่ได้มีการตรวจสุขภาพ และไม่ได้มีการแจ้งลงลึกในรายละเอียดของเงื่อนไขประกันชีวิต หากพี่สาวไม่ตาย ก็คงไม่ทราบว่าไม่สามารถเบิกเงินได้

 

เช่นเดียวกัน นางพัชรี ขุนจันทร์ บอกว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้นำเอกสารจำนวนหลายใบมาให้เซ็น พร้อมอธิบายแค่เพียงว่า หากเสียชีวิตลงจะได้ใช้เงินประกันในการชำระหนี้ ไม่ต้องเป็นภาระกับผู้ที่อยู่ข้างหลัง และแถมยังมีเงินเหลือให้กับลูกๆ อีกด้วย เธอและเพื่อนๆ ไม่มีใครทราบว่าหากมีโรคประจำตัวจะไม่ได้รับเงินชดเชย เสมือนการหลอกลวงให้ทำประกันชีวิต

 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางกลุ่มชาวบ้านได้เรียกร้องให้ทางธนาคารได้รับผิดชอบให้ช่วยเหลือครอบครัวของนางสาวมะลิหยะ และขอให้ใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นกรณีตัวอย่าง หากประสงค์จะให้ลูกค้าธนาคารฯ ทำประกันชีวิตกับบริษัทที่เข้าร่วมกับทางธนาคาร ขอให้มีการทำความเข้าใจชี้แจงในรายละเอียดทุกประเด็นให้ชาวบ้านที่ทำประกันภัยได้เข้าใจ ไม่ใช่อธิบายแค่ส่วนหนึ่ง แล้วบังคับทำเพื่อประโยชน์ของทางธนาคารและบริษัทประกัน อย่างที่ผ่านมา

related