svasdssvasds

ทันตแพทยสภา ยันไม่ใช้ "โคเคน" รักษาฟันนานแล้ว

ทันตแพทยสภา ยันไม่ใช้ "โคเคน" รักษาฟันนานแล้ว

นายกทันตแพทยสภา ยันเสียงแข็งไม่มีการใช้ โคเคน รักษาฟันนานแล้วเหตุออกฤทธิ์สั้น มียาสมัยใหม่ที่ดีกว่า พร้อมให้ข้อมูลตำรวจเพื่อความกระจ่างในขั้นตอนการรักษา

พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี นายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงกรณีการตรวจพบสาร โคเคน ในเลือดของ นายบอส หรือ วรยุทธ อยู่วิทยา โดยอ้างว่าสารดังกล่าว เกิดจาก การรักษาฟัน ทำให้ตำรวจไม่สั่งฟ้องคดี ยาเสพติด ว่า ปัจจุบันไม่มีทันตแพทย์ใช้สาร โคเคน จากพืชโคคา ในการทำฟันแล้ว เนื่องจากประสิทธิภาพในการให้ความชาที่ไม่นาน ประกอบกับมีผลข้างเคียงกับสุขภาพของผู้ป่วย ทำให้มีความดันโลหิตสูง จนมีผลต่อการทำงานของหัวใจ จึงหันไปใช้สารสังเคราะห์ชนิดอื่นที่ให้ฤทธิ์การชา ได้แก่ ลิโดเคน ,เมพิวาเคน ,อะทิเคน ที่ให้การชาดีกว่าแต่มีผลข้างเคียงน้อยกับผู้ป่วย ทำให้ทันตแพทย์เลือกใช้สารนี้จนกระทั่งโคเคนไม่ถูกนำมาใช้และหายไปจากวงการทันตกรรม

ส่วนเรื่องที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องฤทธิ์ของโคเคนจะอยู่ในร่างกายคน หากมีการใช้เพื่อรักษาฟันจริง นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ตามปกติแล้วการใช้สารโคเคนในอดีตเพื่อให้ความชาในการรักษาฟันจะไม่ใช้ในปริมาณมาก แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า จะอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน เนื่องจากใช้ในปริมาณน้อยมากและใช้เฉพาะจุด

ทั้งนี้ตัวยาชาสารสังเคราะห์เลียนแบบ มีใช้ 2 แบบคือการป้าย เยื่อบุ และ การฉีดเฉพาะจุดจะออกฤทธิ์ไม่นาน ประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนจะมีสารตกค้างอยู่ในร่างกายหรือไม่นั้น ก็ เหมือนกับสารสังเคราะห์ชนิดอื่น ที่มีการตกค้างได้บ้าง แต่ไม่ได้อยู่นานตลอดวัน เช่น น้ำยาบ้วนปาก ที่มีการผสมแอลกอฮอล์ หากบ้วนแล้ว เป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ ก็จะพบปริมาณแอลกอฮอล์ตกค้างได้

ส่วนประเด็นตำรวจ ระบุว่าข้อมูลของทันตแพทย์ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยว่าทันตแพทย์รายใดเป็นผู้รักษาขณะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก และโดยปกติทันตแพทย์จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย ยกเว้นเป็นคดีความตำรวจมีสิทธิในการเรียกข้อมูลมาประกอบการพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่ทั้งนี้ ทางทันตแพทยสภา พร้อมให้ข้อมูล และอยากขอข้อมูลจากตำรวจเพื่อช่วยตรวจสอบทันตแพทย์ที่ให้การรักษานายบอส อยู่วิทยา ว่า มีการรักษา ด้วยโคเคนจริงหรือไม่

ขณะที่การใช้โคเคน ในประเทศไทย นายกทันตแพทยสภากล่าวว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ.ยาเสพติด มีการอนุญาตให้ใช้สารเสพติดบางชนิด ในทางการแพทย์ได้ เช่น มอร์ฟีน,โคเคน แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม ของแพทย์และกฎหมาย เพราะมีกลุ่มคนบางกลุ่ม ลักลอบใช้เป็นยาเสพติด ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม

related