svasdssvasds

ขาใหญ่ ในตลาดหุ้น : วิบากกรรมรายย่อยIFEC 1 ปี ยังไร้ทางออก

ขาใหญ่ ในตลาดหุ้น : วิบากกรรมรายย่อยIFEC 1 ปี ยังไร้ทางออก

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

1509950682625 ผ่านเวลาล่วงเลยมาเกือบ 1 ปี สำหรับวิกฤติที่เกิดขึ้นกับ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC) ที่ยังคง “ไร้ทางออก”

แม้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)มีคำสั่งในวันที่ 5 กันยายน 2560 กล่าวโทษ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ IFEC ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) กรณีกระทำโดยทุจริตโดยแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น เป็นผลให้นายวิชัย พ้นสภาพจากการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารของ IFEC ทันที!!!!

สาเหตุของข้อกล่าวหาเนื่องจากเมื่อเดือนธันวาคม 2559 IFEC มีกรรมการบริษัทน้อยกว่าจำนวนองค์ประชุมที่กฎหมายกำหนด นายวิชัย ในฐานะประธานกรรมการของบริษัทจึงได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อเลือกกรรมการทดแทนกรรมการที่ว่าง

วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ IFEC วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ IFEC

โดยในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/60 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 และการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 นายวิชัย ในฐานะประธานกรรมการและประธานที่ประชุม 2 ครั้ง ได้ดำเนินการให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการบริษัท ทดแทนตำแหน่งที่ว่างโดยใช้วิธีการลงคะแนนเสียงแบบสะสม (Cumulative Voting) ทั้งที่รู้ว่าข้อบังคับของบริษัทมิได้กำหนดให้สามารถกระทำได้

ขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการที่ได้มาจากการเลือกด้วยวิธีการลงคะแนนเสียงดังกล่าว เนื่องจากไม่เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท และเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 70 แห่งพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535

การกระทำของนายวิชัยดังกล่าวเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ตามมาตรา 89/7 และมาตรา 281/2 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

แต่ปรากฏว่า บอร์ด IFEC ชุดของนายวิชัย ยังคงสู้สุดฤทธิ์ ขณะที่ผู้คุ้มกฎอย่างก.ล.ต. หรือ กระทรวงพาณิชย์ ก็ยังไม่มีใครออกมาฟันธง หรือชี้ประเด็นให้เห็นชัดๆว่า จริงๆ แล้วบอร์ด IFEC เหลืออยู่กี่คนกันแน่ ที่อ้างตัวเป็นกรรมการ แต่งตั้งกันเป็นกรรมการ และกรรมการตรวจสอบ ถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่

ขาใหญ่ ในตลาดหุ้น : วิบากกรรมรายย่อยIFEC 1 ปี ยังไร้ทางออก

ย้อนกลับไปก่อนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 ก่อนการประชุมเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ แทนชุดเก่าที่ลาออก บอร์ด IFEC เหลือเพียงนายวิชัย และ ศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ เพียงเท่านั้น เมื่อการประชุมเลือกตั้งกรรมการในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ และในวันที่ 2 พฤษภาคมมิชอบด้วยกฎหมายและขัดข้อบังคับของบริษัทเสียแล้ว นั่นหมายความว่า ที่อ้างตัวว่าเป็นกรรมการ ถือว่า “ไม่ชอบ” กันทั้งคณะ เพราะกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่รับจดทะเบียนบอร์ดใหม่

แต่วันที่ 9 ตุลาคม 2560 บอร์ดชุดนี้กลับแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ว่ามติคณะกรรมการบริษัทที่แต่งตั้งกรรมการทดแทนกรรมการที่ออกจากตำแหน่งในทุกครั้งเป็นการดำเนินการตามมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 เป็นมติที่ใช้ได้อยู่และชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนกรณีนายทะเบียนบริษัทมหาชนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทตามมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2560 นั้น บอร์ดชุดนี้ชี้แจงว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงกระบวนการและขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อรองรับสิทธิของนิติบุคคลสถานภาพของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่นั้น จึงต้องเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นหลัก มิใช่อยู่ที่การรับจดทะเบียน

ฉะนั้นตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวก็ต้องถือว่ายังใช้ได้อยู่ ซึ่งข้อเท็จ จริงในกรณีนี้ ได้มีผู้ถือหุ้นร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 แล้ว แต่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล

ถือเป็นการ “ตบหน้า” ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และกระทรวงพาณิชย์ อย่างแรง... เพราะบอร์ด IFEC ยืนยันทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ทุกอย่างไปจบกันในชั้นศาล

ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นกู้ IFEC ตั้งทีมขึ้นตรวจสอบ โดยเฉพาะโปรเจ็กต์โรงไฟฟ้าในกัมพูชา มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ที่เริ่มโชยกลิ่น เตรียมหอบหลักฐานไปให้ก.ล.ต.เร็วๆนี้ ด้วยความคาดหวังอย่างสูงว่า ก.ล.ต.จะ “ลงดาบ” บอร์ด และคืนอำนาจผู้ถือหุ้นเลือกบอร์ดชุดใหม่ที่เป็นไปตามกรอบของกฎหมายและข้อบังคับ นำพา IFEC กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง ไม่ใช่นับถอยหลังถูกเพิกถอนเฉกเช่นทุกวันนี้

คอลัมน์ : จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

related