svasdssvasds

ทางออกนอกตำรา : ผลงานชิ้นโบแดง ขึ้นค่าแรงแซงเงินเฟ้อ

ทางออกนอกตำรา : ผลงานชิ้นโบแดง ขึ้นค่าแรงแซงเงินเฟ้อ

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

พลิกความคาดหมายของนายจ้างและลูกจ้างอย่างมาก สำหรับมติของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ที่มีมติไปเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2561 ให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นตํ่าทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีอัตราค่าจ้างขั้นตํ่า 7 ระดับ ตั้งแต่ 308-330 บาท อัตราการปรับเพิ่มตํ่าสุดที่ 5 บาท สูงสุดที่ 22 บาท โดยจะเสนอ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 ที่บอกว่าเหนือความคาดหมายนั้น เพราะก่อนหน้านี้แค่มีข่าวว่าจะปรับขึ้นแค่ 5-15 บาท บรรดาผู้ประกอบการที่รวมตัวกันในนาม หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ต่างก็พร้อมใจกันต่อต้านและยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา 5 ข้อ ตอนนั้นทุกคนคิดว่า น่าจะปรับขึ้นแค่บางจังหวัด และอัตราน่าจะยืนอยู่แค่ 2-10 บาท แม้แต่ สมบัติ น้อยหว้า ประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย ก็คาดคิดว่าไม่น่าขึ้นมากถึง 15 บาท แต่เมื่อมติการประชุมที่ถกกันยาวนาน 8 ชั่วโมงดึกดื่นค่อนคืนได้ผลสรุปออกมานายจ้างพากันหายใจไม่ทั่วท้อง จากการพ่ายโหวตในคณะกรรมการไตรภาคีแบบย่อยยับหมดรูป เนื่องจากอัตราที่ปรับตั้งแต่ 5-22 บาทนั้น ต้องบอกว่า “เซอร์ไพรส์” และเป็นการขึ้นค่าแรงที่แซงอัตราเงินเฟ้อไปอย่างไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว ถ้าพิจารณาเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 ที่ยืนในระดับ 0.66% ขณะที่ในปี 2561 มีการประเมินกันว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีจะยืนอยู่ที่ระดับ 1.1% แต่เชื่อหรือไม่ว่า อัตราการขึ้นค่าแรงรอบนี้ ค่าเฉลี่ยโดยรวมขึ้นเงินให้ลูกจ้างสูงลิ่วในระดับ 3.25% ถือเป็นระดับที่สูงเอามากๆสำหรับการขึ้นค่าแรงที่พิจารณากันในประวัติศาสตร์ไตรภาคีปกติ ยกเว้นนโยบายค่าแรง 300 บาท ที่ฝ่ายการเมืองหาเสียงไว้ เฉพาะแรงงานในเขตพื้นที่ ตราด ลพบุรี สุพรรณบุรี หนองคาย อุบลราชธานี ที่ขยับจาก 305 บาท เป็น 320 บาท นั้นขึ้นทีเดียว 4.9% พื้นที่กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ที่ปรับจาก 310 บาท เป็น 325 บาทนั้น แรงงานได้รับการขึ้นค่าแรงถึง 4.83% ยิ่งแรงงานในเขตพื้นที่ ฉะเชิงเทรา ค่าแรงขึ้นไปสูงลิ่ว 17-22 บาท จาก 308 บาท เป็น 325 บาท ขึ้นไป 6.45% พื้นที่ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง ที่ปรับจาก 310 บาท เป็น 330 บาท ค่าจ้างขึ้นไป 7.14% ค่าแรงที่ปรับขึ้นรอบนี้จึงแสลงใจนายจ้างเอามากๆ และถือว่าเป็นการปรับขึ้นที่มากกว่าพนักงานบริษัทเอกชนที่นายจ้างได้ปรับขึ้นเงินเดือนให้ในปี 2560-2561 เฉลี่ยแค่ 2-3% ไปหลายแสนบริษัทเลยทีเดียว บรรดาแรงงานในประเทศไทยที่มีอยู่ 37.7 ล้านคน เป็นกลุ่มแรงงานภาคการผลิต 14.79 ล้านคน แรงงานภาคบริการ 10.88 ล้านคน แรงงานภาคเกษตร 12 ล้านคน ไม่เฮลั่นสนั่นทุ่ง สำหรับชัยชนะในการโหวตของคณะกรรมการไตรภาคีในเรื่องค่าจ้างครั้งนี้ก็เกินไปแล้วละครับพี่น้องเอ้ย เพราะในปี 2559-2560 ค่าจ้างขั้นตํ่าถูกปรับเพิ่มขึ้นแค่ 2% แต่ผลตอบแทนที่รัฐบาลนายกฯลุงตู่ประกาศว่าจะมอบค่าแรงเป็นของขวัญรอบนี้ขึ้นพรวดพราด 3.25-7.14% นั้น ช่างเป็นนํ้ามันหล่อลื่นทางการเงินให้ชนชั้นกรรมาชนให้ชุ่มฉํ่าในดวงใจเสียยิ่งกว่าอะไรดี ผมเชื่อว่าหลังจากนี้ไปบรรดานายจ้างจะต้องออกมาตรการมากระทุ้งรัฐบาลในเรื่องสิทธิประโยชน์จากการควักจ่ายเงินค่าจ้างเพิ่มขึ้น จนทำให้ต้นทุนกำไรลดลงแน่ๆ แต่จะสมมาตรปรารถนามากน้อยแค่ไหน ไม่รู้... เพราะต้นทุนที่เพิ่มในระดับ 3.25-7.14% นั้น ทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มภาคบริการที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงมากสุด อาทิเช่น กลุ่มการก่อสร้าง การขายส่งและการขายปลีก, การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์, โรงแรมและบริการด้านอาหาร ส่วนภาคอุตสาห- กรรม คือ ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม, การฟอกและตกแต่งหนังฟอก, เครื่องจักรสำนักงานโลหะขั้นมูลฐาน ฯลฯ ดังนั้นเขาจึงต้องการการเยียวยาเพิ่ม เพราะมาตรการเยียวยาที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ของค่าจ้างแรงงานนั้นเชื่อว่า ไม่น่าจะพอเยียวยาในสายตานายจ้างแน่นอน ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร อานิสงส์ของการขึ้นค่าแรงรอบนี้ ที่รัฐบาลจับมือกับลูกจ้างออกแรงผลักดันออกมา ผมเชื่อว่าจะลากไปยังกำลังซื้อในระดับฐานราก ที่เดิมนั้นคนรากหญ้าบอกว่า เงินในกระเป๋าโตไม่เท่าจีดีพี แต่ตอนนี้ชนะจีดีพีไปหลุดลุ่ย จะสร้างกำลังซื้อของคนไทยที่กระจายตัวออกไปในวงกว้าง เงินที่เพิ่มขึ้น 5-22 บาท ต่อเดือนอาจดูน้อยด้อยค่าในสายตาคนอื่น แต่เมื่อนำมามัดรวมกันจะทรงพลังในระบบการเงินไม่น้อย ผมเห็นต่างกับอีไอซี ที่ประเมินว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าอาจไม่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของครัวเรือนถ้าการจ้างงานยังซบเซา ผมเชื่อว่า ค่าจ้างขั้นตํ่าที่ปรับเพิ่มขึ้นในรอบนี้ตั้งแต่ 3.25% 4.26% และ 7.14% จะทำให้แนวโน้มกำลังซื้อของคนในระดับฐานรากที่หาเช้ากินคํ่าดีขึ้น และมีรอบการหมุนที่ดีขึ้นจากที่ซบเซาอย่างมากในปีก่อนหน้า เพียงแต่จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ รู้จักกิน รู้จักใช้ รู้จักออม เท่านั้นแหละครับ ....................... คอลัมน์: ทางออกนอกตำรา /หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ ฉบับ 3333 ระหว่างวันที่ 21-24 ม.ค.2560  
related