svasdssvasds

พาณิชย์ ชี้แจง โรงสีข้าวปิดกิจการ-หยุดรับซื้อข้าวใน จ.พิจิตร

พาณิชย์ ชี้แจง โรงสีข้าวปิดกิจการ-หยุดรับซื้อข้าวใน จ.พิจิตร

อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณี โรงสีในพื้นที่จังหวัดพิจิตร กำลังประสบภาวะวิกฤติ เนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากการที่สถาบันการเงินขณะที่รัฐบาลมีแนวทาง ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีช่องทางจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสม

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวว่า โรงสีในพื้นที่จังหวัดพิจิตร กำลังประสบภาวะวิกฤติ เนื่องจากโรงสีที่เคยรับซื้อข้าวจากชาวนาเริ่มหยุดรับซื้อข้าวจากเกษตรกรและทยอยปิดกิจการ กระทรวงพาณิชย์ ขอชี้แจงว่าจังหวัดพิจิตรมีผู้ประกอบการ ค้าข้าวจำนวน 98 ราย ได้แก่ ประเภทสีข้าวจำนวน 37 ราย กำลังการผลิตรวม 12,647 ตัน/วัน และประเภทท่าข้าวจำนวน 61 ราย

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงสีข้าว ที่สามารถดำเนินกิจการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรตลอดทั้งปีจำนวน 10 ราย ส่วนมากเป็นโรงสีขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก มีกำลังการผลิตรวมที่สามารถรองรับผลผลิตจากเกษตรกรในจังหวัดปริมาณ 952,156 ตัน/ปี เมื่อพิจารณาเทียบกับกำลังการผลิตของโรงสีภายในจังหวัด ถือว่ามีเกินปริมาณข้าวในพื้นที่ โดยสามารถรองรับผลผลิต สีแปรสภาพข้าวเปลือกในพื้นที่ได้หมดในระยะเวลาเพียง 75 วัน จึงเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง ในส่วนโรงสีข้าวจำนวน 27 รายที่เหลือ ส่วนมากจะรับซื้อข้าวเปลือกชั่วคราว ในช่วงที่ผลผลิตข้าวเปลือกนาปีออกสู่ตลาดมากตั้งแต่เดือนตุลาคม - เดือนมกราคม เนื่องจากมีปริมาณข้าวเปลือกมากเพียงพอที่จะสามารถดำเนินกิจการได้โดยไม่ขาดทุน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโรงสีข้าวขนาดเล็กและขนาดกลางที่หยุดรับซื้อข้าวจากเกษตรกรและทยอยปิดกิจการ เพราะไม่มีศักยภาพในการแข่งขัน เนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากการที่สถาบันการเงินได้จำกัดวงเงินสินเชื่อ และต้องใช้หลักประกันที่สูงในการขอสินเชื่อของธุรกิจประเภทโรงสี ประกอบกับไม่มีคำสั่งซื้อข้าวสารจากผู้ส่งออกข้าว ทำให้ไม่สามารถรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการโรงสีจากจังหวัดใกล้เคียงเข้ามารับซื้อในพื้นที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูง

ดังนั้น การปิดกิจการของโรงสีอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลจากโรงสีเสียโอกาสในการนำผลผลิตไปขายได้ในราคาที่เหมาะสม รัฐบาลมีแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีช่องทางในการจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสม ได้แก่ การจัดตลาดนัดข้าวเปลือก โดยเชื่อมโยงโรงสีในจังหวัดและนอกพื้นที่เข้ามาแข่งขันรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรโดยตรง เกษตรกรมีช่องทางเลือกและมีอำนาจต่อรองในการขายมากขึ้น รวมถึงได้รับความเป็นธรรมทางด้านราคา การชั่งน้ำหนักและการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้รัฐบาลได้มีโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวให้สามารถรับซื้อข้าวเปลือกในช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากจากเกษตรกร โดยไม่ต้องเร่งระบายผลผลิตอีกด้วย

related