svasdssvasds

เปิดใจ "ดีดีบินไทย" ขอโทษดราม่าที่นั่ง "เฟิร์สคลาส" [ คลิป ]

เปิดใจ "ดีดีบินไทย" ขอโทษดราม่าที่นั่ง "เฟิร์สคลาส" [ คลิป ]

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย เปิดใจ ขอโทษต่อเหตุการณ์เที่ยวบินทีจี 971 เส้นทางซูริก-กรุงเทพฯ ต่อกรณีปัญหาที่นั่งคณะนักบิน ในเที่ยวบินซูริก จนล่าช้ากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ ขอโทษต่อเหตุการณ์เที่ยวบินทีจี 971 เส้นทางซูริก-กรุงเทพฯ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ล่าช้ากว่ากำหนด 2 ชั่วโมงครึ่ง เนื่องจากมีปัญหาที่นั่งเฟิร์สคลาสของคณะนักบิน จนกระทบผู้โดยสาร 2 ท่าน โดยยืนยันว่า ทางผู้บริหารการบินไทย จนถึงระดับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องนี้

ทั้งนี้ กัปตันโสภณ พิฆเนศวร หรือกัปตันอู ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคงองค์กร ของสายการบินนกแอร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ทำไมต้องมี dead head? (นักบินที่เดินทางในเที่ยวบิน แต่ไม่ได้ได้ทำหน้าที่ระหว่างไฟลท์) ปกตินักบินจะบินเครื่องบินได้เฉพาะแบบ เช่น คนที่บิน B777 ก็บินได้เฉพาะ B777 แม้ว่าจะเคยบิน B747 มาก่อน อยู่ๆ วันนี้จะบิน B747 เลยไม่ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา ไม่ให้เกิดความสับสนและเกิดข้อบกพร่องด้านคุณภาพการบิน

 

โดยการทำงานของนักบิน จะมีการกำหนดระยะเวลาทำงานสูงสุดที่สามารถทำได้ต่อวัน ประมาณ 11-13 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เริ่มต้นทำงาน และปกติเที่ยวบินที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปตามเมืองต่างๆ ในยุโรปนั้น จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมงขึ้นไป ดังนั้นเมื่อไปถึง นักบินจึงบินกลับมาเลยไม่ได้ ต้องนอนพักผ่อนที่ปลายทาง ก่อนจะทำการบินกลับ ส่วนเครื่องบิน จะเดินทางรับผู้โดยสารกลับมาเลย ในวันเดียวกันนั้น โดยใช้นักบินอีกชุด ที่ไปถึงก่อนหน้าแล้ว 1 วัน เบื้องต้นขอยกตัวอย่างเช่น หากวันที่ 1 เครื่องบิน B777 บินไปที่สนามบิน A นักบินจะนอนค้างคืน เพื่อพักผ่อน ก่อนจะบินกลับ แต่หากวันที่ 2 จำเป็นต้องใช้เครื่องบิน B747 นักบินคนดังกล่าว จะถูกกำหนดให้เดินทางกลับเป็น dead head บนเที่ยวบินขากลับนั้น

สำหรับเครื่องบิน B747-400 นั้น มีที่นอนให้นักบินอยู่ 2 ที่ แม้เป็นห้องเล็กๆ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า พักผ่อนได้สบายกว่าเก้าอี้นั่งผู้โดยสาร เพราะเป็นเตียงนอนราบ แต่ไม่มีอุปกรณ์ให้ความบันเทิงใดๆ เหมือน A380 หรือเครื่องบินรุ่นหลังๆ ขณะที่บางสถานการณ์ เช่น การรอ ควรมีสถานที่พักผ่อนที่เหมาะสม ที่สามารถนอนราบได้ 180 องศา โดยเรื่อง suitable rest facility นี้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการด้านความเหนื่อยล้า และที่นั่ง first class จัดเป็น suitable rest facility หรือสถานที่พักผ่อนที่เหมาะสม แต่ที่นั่ง business class เป็นเพียง adequate rest facility หรือสถานที่พักผ่อนที่เพียงพอเท่านั้น

ส่วนเรื่องของ duty period (ช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่) และ flight duty period ของนักบินนั้น เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากนักบินมีข้อจำกัด ที่ถูกกำหนดชั่วโมงสูงสุดในแต่ละเรื่องกำกับเอาไว้ เช่น ภายในทุกๆ 7 วัน ต่อเนื่องกัน 1.ลูกเรือจะมีชั่วโมงบินได้ไม่เกิน 34 ชั่วโมง 2.ครูการบินจะมีช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่การบินได้ไม่เกิน 40 ชั่วโมง 3.ศิษย์การบินจะมีช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่การบินได้ไม่เกิน 30 ชั่วโมง

ภายใน 28 วัน ต่อเนื่องกัน 1.ลูกเรือจะมีชั่วโมงบินได้ไม่เกิน 110 ชั่วโมง 2.ครูการบินจะมีช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เกิน 150 ชั่วโมง 3.ครูการบินจะมีช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่การบินได้ไม่เกิน 120 ชั่วโมง และมีชั่วโมงบินได้ไม่เกิน 90 ชั่วโมง เพราะด้วยความที่ flight duty period นั้น ถูกจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่สูงสุดเอาไว้ แม้ว่าจะเป็น dead head ก็จำเป็นต้องควบคุมเรื่องของ duty period ในกรณีจำเป็นที่ต้องใช้นักบินนั้นๆ

related