svasdssvasds

กรมประมง ชี้ ราคาหมึกฉุดตัว เป็นไปตามกลไกตลาด

กรมประมง ชี้ ราคาหมึกฉุดตัว เป็นไปตามกลไกตลาด

กรมประมง เตรียมนัดประชุมหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสัปดาห์หน้า หลังชาวประมงร้องรัฐแก้ปัญหาราคาหมึกตกต่ำ

จากกรณีที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวชาวประมงเรียกร้องขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาหมึกตกต่ำ เนื่องจากไทยมีการนำเข้าหมึกจากเมียนมาร์ โดยระบุถึงปัญหาว่าเกิดจากการที่ประเทศไทยเปิดให้มีการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำแบบเสรีจากประเทศเพื่อนบ้าน และขอให้กรมประมงแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่เกี่ยวกับการนำเข้าสัตว์น้ำให้ชัดเจน รวมถึงขอให้กรมประมงตอบข้อร้องเรียนดังกล่าว นั้น

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยข้อเท็จจริงจากกรณีดังกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นสมาชิกของอาเซียน ภายใต้มาตรการและข้อตกลงทางการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ส่งผลให้ภาษีนำเข้าสำหรับสัตว์น้ำเป็น “ศูนย์” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ซึ่งถือเป็นการเปิดเสรีทางการค้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้ภาครัฐไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมปริมาณการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำและราคาได้ และประเทศไทยได้มีการนำเข้าสัตว์น้ำเข้ามาเพื่อการบริโภคอย่างต่อเนื่อง

โดยในปีนี้พบว่าปริมาณการนำเข้าสัตว์น้ำประเภทแช่เย็นแช่แข็งเพื่อการบริโภคมีปริมาณ “ลดลง” เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

แต่อย่างไรก็ตาม การนำเข้าหมึกจากประเทศสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์กลับพบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 11 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 4 โดยเป็นผลมาจากช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผลผลิตหมึกที่จับได้ในประเทศมีมากเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ปริมาณหมึกในภาพรวมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ราคาในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 ฉุดตัวลงร้อยละ 3.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด

ส่วนประเด็นการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เพื่อให้การนำเข้าสัตว์น้ำมีความชัดเจนนั้น ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการกำหนดมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures) เพื่อตรวจสอบสารตกค้างและสารปนเปื้อนของสินค้าสัตว์น้ำที่นำเข้าอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว อีกทั้ง ยังมีมาตรการในการควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำให้ปราศจากทำประมงที่

ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งเป็นไปตามกฎระเบียบ IUU เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสัตว์น้ำให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค สามารถแปรรูปเพื่อการส่งออกได้ในตลาดโลก

ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ กรมประมงยังได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้เพื่อลดความยุ่งยากในการจัดทำเอกสารต่าง ๆ เช่น การดำเนินการออกหนังสือกำกับการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ (Marine Catch Purchasing Document : MCPD) เพื่อให้การสืบค้นแหล่งที่มาของสัตว์น้ำมั่นใจได้ว่าไม่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี กรมประมงได้นัดประชุมหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสัปดาห์หน้า เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกันต่อไป

related