svasdssvasds

ขนส่งทางบก ยัน! ยังไม่ปรับเพิ่มอัตราค่าแท็กซี่

ขนส่งทางบก ยัน! ยังไม่ปรับเพิ่มอัตราค่าแท็กซี่

กรมการขนส่งทางบก เปิดเผย ขณะนี้ยังไม่มีการปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสารแท็กซี่ อยู่ระหว่างพิจารณาผลการศึกษาจากทีดีอาร์ไอ และจัดทำสรุปนำเสนอกระทรวงคมนาคม ย้ำติดตามประเมินคุณภาพการให้บริการ

กรมการขนส่งทางบก จตุจักร นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะโฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการพัฒนาคุณภาพการให้บริการรถแท็กซี่ ควบคู่กับการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนและค่าครองชีพ เพื่อให้ผู้ขับรถแท็กซี่สามารถประกอบอาชีพได้

โดยเมื่อปี 2557 กรมการขนส่งทางบกกำหนดแนวทางการปรับอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (รถแท็กซี่) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยให้ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ของอัตราค่าจ้างเดิม แต่กำหนดการปรับเป็น 2 ระยะ สำหรับระยะที่ 1 ให้ปรับค่าโดยสารไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2557 ในอัตราร้อยละ 8 ส่วนการปรับค่าโดยสารระยะที่ 2

กรมการขนส่งทางบกได้ติดตามประเมินผลพบว่า คะแนนความพึงพอใจผ่านแอปพลิเคชัน DLT Check in น้อยกว่า 70 % นอกจากนั้น ปริมาณข้อร้องเรียนผ่านศูนย์ 1584 เกี่ยวกับการปฏิเสธผู้โดยสารและการไม่ใช้มาตรค่าโดยสารไม่ลดลง จึงระงับการปรับอัตราค่าโดยสารไว้จนกว่าปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการให้บริการให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน และจากสถิติการร้องเรียนรถแท็กซี่ผ่านสายด่วน 1584 ในปีงบประมาณ 2561 (1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561) มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 48,223 เรื่อง สูงกว่าปีที่ผ่านมา (ปี 2559 มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 43,804 เรื่อง, ปี 2560 มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 43,254 เรื่อง) โดยเรื่องร้องเรียน 5 อันดับแรก คือ ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร, แสดงกิริยาไม่สุภาพ, ขับรถประมาทหวาดเสียว, ไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร และไม่ส่งผู้โดยสารตามที่ตกลง ทำให้การปรับอัตราค่าโดยสารต้องนำประเด็นการร้องเรียนจากประชาชนมาประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกตระหนักถึงความจำเป็นเพื่อให้การพัฒนาคุณภาพการให้บริการแท็กซี่อย่างยั่งยืน จึงได้จ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษาปัญหาความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการแท็กซี่ รวมทั้งโครงสร้างต้นทุนการประกอบการและอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ซึ่งได้ส่งมอบผลการศึกษาแล้ว ขณะนี้ กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างพิจารณาผล และจัดทำสรุปนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาต่อไป

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะโฆษกกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การพัฒนามาตรฐานแท็กซี่และแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของแท็กซี่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินโครงการ Taxi OK และ Taxi VIP ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการแท็กซี่ทั้งระบบ ทั้งนี้ สำหรับรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยตลอดการเดินทาง ประกอบด้วย

-การติดตั้งระบบ GPS Tracking ติดตามพิกัดตำแหน่งรถ

-ระบบยืนยันตัวตนผู้ขับรถ

-กล้องบันทึกภาพในรถแบบ Snap Shot

-ปุ่มฉุกเฉินเพื่อแจ้งเหตุร้องเรียน

นอกจากนี้ ยังเพิ่มช่องทางให้แก่ผู้โดยสารในการเข้าถึงรถแท็กซี่ได้ง่ายขึ้นด้วยแอปพลิเคชัน Taxi OK ซึ่งประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการประเมินผลการให้บริการได้

ดังนั้น หากแท็กซี่ต้องการยกระดับการให้บริการของตนเองก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพื่อสร้างความพึงพอใจและความมั่นใจในการให้บริการแก่ผู้โดยสาร และยังเพิ่มรายได้ เพิ่มช่องทางในการรับผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชัน Taxi OK โดยไม่ต้องหักส่วนแบ่งให้กับผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ส่วนรถแท็กซี่ที่ยังคงเหลืออายุการใช้งานก็สามารถเข้าร่วมโครงการในภาคสมัครใจ โดยติดตั้ง GPS Tracking พร้อมอุปกรณ์แสดงตัวผู้ขับรถ เข้าเป็นสมาชิกในศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้สามารถรับงานผ่านแอปพลิเคชันได้ และจะได้รับสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์โครงการ Taxi OK สำหรับติดที่กระจกหน้ารถ ปัจจุบัน มี Taxi OK แล้ว จำนวนกว่า 13,000 คัน ทั่วประเทศ

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะโฆษกกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกรณีรถแท็กซี่ป้ายดำผิดกฎหมายที่ลักลอบให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้รถแท็กซี่ในระบบได้รับผลกระทบและก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน จนอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหน่วยทหาร ได้มีการเรียกผู้ประกอบการให้บริการรถยนต์ส่วนบุคคลผ่านแอปพลิเคชัน มาชี้แจงเพื่อให้หยุดการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ในการรับจ้างซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย และจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นจริงจัง โดยจัดผู้ตรวจการลงพื้นที่ปฏิบัติการตรวจสอบและจับกุมอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หากพบเห็นการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ในการรับจ้างดำเนินการการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย มาตรการพักใช้/เพิกถอนใบอนุญาตขับรถ รวมทั้งขอความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายกับสหกรณ์รถแท็กซี่ต่างๆ เพื่อให้มีการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

related