svasdssvasds

กสทช.ประกาศนโยบายปี62 ดึงย่าน 700MHz ประมูล เยียวยาทีวีดิจิตัล

กสทช.ประกาศนโยบายปี62 ดึงย่าน 700MHz ประมูล เยียวยาทีวีดิจิตัล

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)  เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ได้ประกาศนโนบายการดำเนินงานปี 2562 โดยกำหนด 5 เป้าหมายประกอบด้วย คือ

กสทช.ประกาศนโยบายปี62 ดึงย่าน 700MHz ประมูล เยียวยาทีวีดิจิตัล

1.นโยบายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 5 G

1.1.ทบทวนการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่  ด้วยการ Set Zero โทรคมนาคม เพื่อสะท้อนความต้องการคลื่นความถี่ที่สมเหตุสมผล  เหมาะสมกับอุตสาหกรรมโทรคมฯและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

1.2.ทบทวนเงื่อนไขและระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ (Term of payment) ของคลื่นที่ประมูลไปแล้วและที่จะนำมาประมูลใหม่เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนสำหรับภาคเอกชนในการพัฒนาระบบโครงข่ายและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

1.3.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ ที่จะใช้งานคลื่นความถี่ 5G ใหม่เพิ่มเติมให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5G โดยแบ่งวิธีการอนุญาตเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ใบอนุญาตที่ใช้งานครอบคลุมการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ (Nation Wide) และใบอนุญาตแบบที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่กำหนด (Specific Area) เช่น ในเขตพื้นที่ภาคการผลิตและอุตสาหกรรม เช่น อีอีซี  เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5G

1.4.กำหนดหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมกัน (Multiband)  เช่น คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz กับ 2.6 GHz , ย่าน 3.5 GHz กับ 26 GHz หรือ 1800 MHz กับ 28 GHz เป็นต้น

1.5.ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดลอง ทดสอบ 5G ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ คาดว่าจะเป็นย่านสยามสแควร์ เพื่อทดสอบในปี 2562-2563 หวังสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในการที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีดังกล่าว

กสทช.ประกาศนโยบายปี62 ดึงย่าน 700MHz ประมูล เยียวยาทีวีดิจิตัล

นายฐากร กล่าวอีกว่าในปี 2562 ได้กำหนดนโยบายเรียกคืนคลื่นความถี่ฯ ตามประกาศซึ่งได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการตามประกาศดังกล่าว และจะตั้งคณะทำงานดำเนินการตามประกาศดังกล่าวตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 โดยมีเป้าหมายในการเรียกคืนคือคลื่นความถี่ย่าน 2.6 GHz  ของ อสมท  เป็นลำดับแรก พร้อมกำหนดมาตรการเยียวยาคลื่นฯดังกล่าว คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน  และกำหนดการประมูลคลื่นฯ ในเดือน กุมภาพันธ์ 2562

ปัจจุบันคลื่นฯ ย่าน 2.6 GHz   อสมท ถือครองอยู่จำนวน 140 MHz  กรมประชาสัมพันธ์ 40 MHz และบางส่วนที่อยู่ที่ กสทช. รวมคลื่นฯ ในย่านนี้อยู่ที่ 190 MHz  ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ พิจารณาเรียกคืนคลื่นฯ และเยียวยา จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะเรียกคืนคลื่นฯ ย่าน 2.6 GHz จาก อสมท เป็นจำนวนกี่เมกะเฮิร์ตซ รวมทั้งการเยียวยา

2.แก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลระยะยาว

2.1.เร่งปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ซึ่งเป็นกิจการในย่านทีวีอนาล็อกและทีวีดิจิทัล เพื่อนำไปใช้ประกอบกิจการโทรคมนาคมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงคลื่นความถี่ดังกล่าวคือช่องทีวีดิจิทัล และผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (Mux)

2.2.สนับสนุนการดำเนินการของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ตามประกาศ Must Carry ด้วยการจ่ายค่าเช่าส่งสัญญาณดาวเทียมจนถึงปี 2565  ขยายเวลาจาก ม.44 เดิมที่กำหนดให้สนับสนุนถึงปี 2562

2.3.สนับสนุนค่าใช้จ่าย Mux  สัดส่วน  50% ของค่าเช่าโครงข่ายจนถึงปี 2565 จากเดิม ม.44 กำหนดไว้ถึงปี 2562

2.4.สนับสนุนให้มีการสำรวจความนิยม (Rating) ช่องทีวีดิจิทัล ที่ออกอากาศผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อสามารถนำเอาข้อมูลการสำรวจความนิยมรายการดังกล่าวไปใช้อ้างอิงเพื่อหารายได้

กสทช.ประกาศนโยบายปี62 ดึงย่าน 700MHz ประมูล เยียวยาทีวีดิจิตัล

นายฐากร กล่าวว่านโยบายปรับปรุงการใช้งานคลื่นฯ 700 MHz  ซึ่งเป็นคลื่นฯ ที่ใช้ในกิจการบรอดแคสติ้ง ทั้งทีวีอนาล็อกและทีวีดิจิทัล  โดยเป็นการนำคลื่นฯ 700 MHz  ที่จะหมดสัมปทานในปี 2563 นำมาประมูลล่วงหน้าในปี 2562  เพื่อเตรียมใช้งานในปี 2563

ทั้งนี้ กสทช. จะนำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นฯ 700 MHz ไปใช้เยียวยาทีวีดิจิทัล  โดยหลักเกณฑ์ที่ผ่านการพิจารณาแล้วคือ ค่าใช้จ่ายตามประกาศ มัสต์ แคร์รี่ และค่าเช่ามักซ์ ถึงปี 2565 ส่วนค่าใช้จ่ายการสำรวจเรตติ้ง ใช้งบประมาณจากกองทุน กทปส.

สิ่งที่ กสทช. กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มเติม คือ การนำเงินประมูลคลื่นฯ 700 MHz  มาสนับสนุนการจ่ายเงินประมูลทีวีดิจิทัลงวดที่เหลืออีก 30% ของเงินประมูลทั้งหมด หรือกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่มีข้อสรุป เพราะต้องรอให้เกิดการประมูลคลื่นฯ 700 MHz  เสร็จสิ้นก่อน

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาเยียวยา ผู้ประกอบการโครงข่าย (Mux) กองทัพบก (ททบ.5)  ซึ่งได้รับใบอนุญาต 2 โครงข่าย แต่เนื่องจากหลังประมูลทีวีดิจิทัล มีทีวีดิจิทัลเลิกประกอบกิจการ ทำให้โครงข่ายมีผู้เช่าลดลง ดังนั้น กสทช. จึงพิจารณาให้ ททบ.5 คืนใบอนุญาต 1 โครงข่าย จะใช้เงินที่ได้จากการประมูลคลื่นฯ 700 MHz เยียวยากรณีดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันกิจการโทรทัศน์ทั้งระบบอนาล็อกและทีวีดิจิทัล ใช้คลื่นความถี่ฯ ย่าน 510-740 MHz  ทั้งนี้จะมีการ Refarming คลื่นฯ ทีวีดิจิทัลใหม่ โดยย้ายไปอยู่ในย่าน 470-694 MHz  จากนั้นจะนำคลื่นฯ ย่าน 695-740 MHz ไปประมูลสำหรับกิจการโทรคมฯ

นายฐากร กล่าวว่า กสทช. ต้องพิจารณานโยบายด้านโทรคมฯ และแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล ไปพร้อมกัน เพราะการดึงคลื่นฯ 700 MHz  มาประมูลเพื่อนำเงินไปเยียวยาทีวีดิจิทัล จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบการฝั่งโทรคมฯ สามารถดำเนินการและอยู่รอดได้เช่นกัน

ขณะที่การช่วยเหลือทีวีดิจิทัล ตามมาตรการที่กำหนดไว้ถึงปี 2565  เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ระยะยาว  เพื่อให้ผู้ประกอบการยังอยู่รอดได้ และไม่ต้องปลดพนักงาน ซึ่งการปลดพนักงาน 1 คน หมายถึงครอบครัวที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย  และหาก กสทช. เข้ามาแก้ปัญหาล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้

ที่ผ่านมา ทีวีดิจิทัล ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการประมูลในปี 2557  อีกทั้งทีวีดิจิทัล ได้ประมูลใบอนุญาตด้วยราคาสูง ขณะที่รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานนับตั้งแต่เริ่มออกอากาศในปี 2557 แต่สื่อทีวียังมีความสำคัญกับสังคมไทย ดังนั้น กสทช. จึงต้องกำหนดนโยบายช่วยเหลือระยะยาว

3.จัดทำแผนและหลักเกณฑ์การอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม  

เพื่อรองรับมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 2560 ที่บัญญัติไว้ว่ารัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.. …. ที่จะกำหนดให้ กสทช. เป็นผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลเกี่ยวกับวงโคจรดาวเทียมทั้งหมด

4.ทำ 191 เป็นหมายเลขฉุกเฉินแห่งชาติ

ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช.นำเลขหมายโทรศัพท์ 191 มาใช้เป็นเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติหมายเลขเดียว  (National Single Emergency Number) ในกรณีที่เกิดเหตุขึ้น เจ้าหน้าที่จะสามารถทราบตำแหน่งที่ตั้ง และสถานการณ์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเชื่อมต่อกับกล้อง CCTV ที่ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศ ทำให้สามารถระงับและจัดการกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันเหตุการณ์ ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5.สนับสนุนและร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ

อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอี ในการดำเนินการระงับการเผยแพร่เนื้อหาบนสื่อออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย

related