svasdssvasds

กสทช. เตรียมเปิดเวทีประชาพิจารณ์คืนคลื่นทีวีดิจิทัล ปลายก.พ.นี้

กสทช. เตรียมเปิดเวทีประชาพิจารณ์คืนคลื่นทีวีดิจิทัล ปลายก.พ.นี้

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการกสทช.วาระพิเศษในวันนี้ (15 ม.ค. 2562) มีมติเห็นชอบให้นำร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 MHz นำมาประมูลและนำเงินรายได้ไปชดเชยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล คาดว่าจะสามารถเปิดเวทีประชาพิจารณ์ได้ภายในสิ้นเดือน ก.พ. เพื่อเร่งกระบวนการประกาศเชิญชวนประมูลให้เกิดขึ้นภายในเดือนเมษายน และประมูลไม่เกินเดือนพฤษภาคม โดยจะมีการประกาศขึ้นเว็บไซต์กสทช. ภายในวันที่ 18 ม.ค.

ทั้งนี้ประเด็นของมติที่ประชุมที่ได้มีการนำไปรับฟังความคิดเห็นคือ เรื่องความชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการเยียวยาว่า อยู่ในอำนาจของ กสทช. ในการดำเนินการได้ครบถ้วนหรือไม่, การกำหนดจำนวนใบอนุญาตของคลื่นความถี่ ที่นำมาประมูล รวมถึงขนาดใบอนุญาต แถบคลื่นความถี่ที่จะนำประมูล ราคาเริ่มต้น การให้บริการที่ครอบคลุมในพื้นที่ต่างๆ และระยะเวลาการดำเนินการของใบอนุญาตมี, ให้มีการนำประเด็นเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาดังกล่าว ส่งให้อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายพิจารณาคู่ขนานกันไปด้วย และให้ทางสำนักงาน กสทช. รวบรวมผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมายกร่างเป็นประกาศ กสทช. เกี่ยวกับเรื่องหลักเกณฑ์การเยียวยาวและการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ต่อไป

“ในการประชุมมีการถกเถียงกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมายว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดสามารถทำได้หรือไม่ และควรแยกร่างประกาศการประมูลฯ กับการเยียวยา ออกจากกัน แต่หากไม่รีบสรุป อาจจะถูกผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมองว่ากสทช. ไม่จริงใจในการแก้ปัญหา จึงเสนอให้นำไปรับฟังความคิดเห็นก่อน หากผลการรับฟังความคิดเห็น มีความเห็นว่าควรแยกก็ค่อยนำมาแยกเพื่อจะได้ไม่เสียเวลาในการทำประชาพิจารณ์ร่างประกาศ 2 ฉบับ”

ในส่วนของราคาการประมูลนั้น ขั้นต้นยังไม่มีราคาตั้งต้น จากนี้ต้องนำไปรับฟังความเห็นก่อน ระหว่างนี้ก็จะมีการเร่งรัดต่อคณะกรรมการ หากยังไม่มีการกำหนดราคาเริ่มต้น หลังจากรับฟังความเห็น ถ้าทุกคนไม่เห็นด้วยสำนักงานก็จะนำร่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราคาประมูลส่งเข้าไปด้วยเพื่อความรวดเร็ว โดยร่างดังกล่าวระบุว่า อายุใบอนุญาต 20 ปี จ่ายเงิน 10 ปี จำนวน 9 งวด ปีแรกจ่าย 20% และเว้นการชำระในปีที่ 2 หลังจากนั้นชำระงวดที่เหลือ 10% จนครบ ซึ่งขณะนี้ทีวีดิจิตอลได้มีการชำระมาแล้วกว่า 60% โดยยังเหลือกว่า 30% หรือประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อปีการประมูลคลื่น 700 MHz แล้วหากรายได้จากการประมูลครอบคลุม ผู้ประกอบการก็จะไม่ต้องจ่ายส่วนที่เหลือ

เบื้องต้นจำนวนคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลคือ 35 MHz จำนวน 7 ใบอนุญาต ที่ได้มีการนำไปรับฟังความคิดเห็นฯ ซึ่งการประเมินราคาจะมีการประกาศในภายหลัง ภายใต้การดำเนินการของคณะอนุกรรมการโทรคมนาคม ซึ่งหลักการสำคัญ คือ การนำเงินที่ได้จากการประมูลมาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและประชาชน

related